ส่องทิศทางบุหรี่ไฟฟ้านานาประเทศ ผลเสียต่อสังคม หรือตัวช่วยเลิกบุหรี่?

ภาพ: Reuters/Mike Segar

หลายประเทศทั่วโลกต่างหาทางเลือกทดแทนการสูบบุหรี่ให้กับประชาชนเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นและนำไปสู่การเลิกสูบบุหรี่

วันที่ 4 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์แบบให้ความร้อนหรือไอคอสถูกสั่งห้ามนำเข้าและจำหน่ายในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2557 การใช้บุหรี่ไฟฟ้าจึงเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่หลายปีที่ผ่านมามีการถกเถียงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เหล่านี้มากขึ้น ทั้งจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ พยายามผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย จนเกิดกระแสสังคมทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยฝ่ายที่เห็นด้วยให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถูกกฎหมายในหลายประเทศ และผู้สูบบุหรี่ควรมีสิทธิใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดอันตรายได้ ไม่ใช่การบังคับให้ต้องเลิกสูบบุหรี่เพียงอย่างเดียว

ขณะที่ฝ่ายเห็นต่าง ซึ่งประกอบด้วยสมาพันธ์แพทย์ต่าง ๆ และเครือข่ายรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ ระบุว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังอันตรายเพราะมีสารพิษต่าง ๆ จำนวนมาก และยังเพิ่งมีการใช้ไม่นาน จึงยังไม่ควรให้เป็นสินค้าที่ถูกกฎหมายในประเทศไทย

ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ระบุว่า มีเพียง 32 ประเทศที่แบนบุหรี่ไฟฟ้า อีก 84 ประเทศที่ยังไม่มีนโยบายหรือแนวทางใด ๆ ในการควบคุมผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ ขณะที่อีก 79 ประเทศมีมาตรการควบคุมในรูปแบบที่ต่างกัน เช่น ห้ามการโฆษณา ห้ามการขายในเด็กที่อายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด

การถกเถียงกันเรื่องนี้ทำให้หลายคนสนใจทำความเข้าใจถึงสาเหตุความอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าในหลายช่องทางยังคงมีความสับสน โดยข้อมูลส่วนมากจะเป็นเรื่องของความอันตราย และความกังวลเกี่ยวกับความนิยมใช้ที่เพิ่มมากขึ้นในกลุ่มเยาวชน แต่ขณะที่หน่วยงานด้านสุขภาพภาพของต่างประเทศหลายแห่ง เช่น องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคยุโรป ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ประเทศอังกฤษ ต่างระบุว่าการเปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทนการสูบบุหรี่ทำให้ร่างกายได้รับสารพิษและสารก่อมะเร็งลดลง

อัตราสูบบุหรี่เยาวชนไทยลดลง

ศ.เกียรติคุณ ดร. นพ.สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา เคยเชียนไว้ในธรรมศาสตร์เวชสาร เมษายน-มิถุนายน 2563 ว่า ควันบุหรี่มีสารเคมีกว่า 6,000 ชนิดและกว่า 100 ชนิดที่น่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ การที่ต้องรับสารอันตรายเหล่านั้น (ไม่ใช่นิโคติน) ทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ อย่างโรคถุงลมโป่งพอง และมะเร็งปอด

การที่บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีการเผาไหม้ทำให้มีสารอันตรายน้อยกว่าและไม่มีทาร์ จึงมีความเป็นไปได้อย่างสูงที่บุหรี่ไฟฟ้าจะช่วยลดผลกระทบต่อผู้สูบบุหรี่ที่เปลี่ยนมาใช้ในแง่ที่ลดสารพิษและสารก่อมะเร็งที่เข้าสู่ร่างกาย

ด้าน จอรัลด์ มาร์โกลีส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ผลสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร 2564 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า อัตราการสูบบุหรี่ของเยาวชนอายุระหว่าง 15-19 ปีในไทย ลดลงจาก 9.7% ในปี 2560 เหลือ 6.2% ในปี 2564

“อย่างไรก็ตาม การสูบบุหรี่ในกลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่สังคมยังมีความกังวล ซึ่งบริษัทเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่าเด็กและเยาวชนไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีนิโคตินทุกประเภท และเราสนับสนุนมาตรการควบคุมของภาครัฐที่จะช่วยยืนยันว่าผู้ที่สามารถซื้อผลิตภัณฑ์ยาสูบและนิโคตินได้ คือ ผู้สูบบุหรี่ที่เป็นผู้ใหญ่เท่านั้น ซึ่งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาเพื่อปกป้องเยาวชนในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบได้”

อังกฤษใช้บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่

ด้านสมาคมแพทย์แห่งประเทศอังกฤษยืนยันว่า มีข้อสรุปที่ตรงกันเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากถึงการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่ และมีรายงานว่าผู้สูบบุหรี่จำนวนมากใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อลดการสูบบุหรี่ ซึ่งเห็นได้ถึงประโยชน์ที่ชัดเจนว่าช่วยลดอันตรายจากโรคที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ได้

ดร.จูน เรน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกรมควบคุมผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ ประกาศว่า มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าบุหรี่ไฟฟ้านันมีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ยาสูบธรรมดา และผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถช่วยให้ผู้คนเลิกสูบบุหรี่ได้ การวิจัยพบว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้สารทดแทนนิโคตินในการเลิกบุหรี่ด้วย แม้ว่าการศึกษาอื่นจะพบว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าอาจทำให้ผู้คนมีแนวโน้มที่จะกลับไปใช้ยาสูบอีก

ข้อมูลล่าสุดจากมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ประเทศอังกฤษ Action on Smoking and Health (ASH) เผยว่า 64.6% หรือประมาณ 2.4 ล้านคนของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าคือผู้ที่เลิกบุหรี่ได้ และเปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทน และสัดส่วนนี้กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ขณะที่ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อนยังคงอยู่ที่อัตราต่ำ เพียง 4.9% หรือประมาณ 2 แสนคนเท่านั้น การณรงค์ให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเครื่องมือเลิกบุหรี่ ทำให้ในปี 2563 ผู้สูบบุหรี่ในประเทศอังกฤษนิยมใช้บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ถึงกว่า 27.2% มากกว่าการใช้ผลิตภัณฑ์นิโคตินทดแทน NRT ที่มีผู้ใช้เพียง 15.5%

เช่นเดียวกับราชวิทยาลัยแพทย์แห่งประเทศออสเตรเลียที่เห็นด้วยว่า บุหรี่ไฟฟ้าอาจช่วยในการเลิกบุหรี่สำหรับคนที่เลิกบุหรี่ไม่ได้ หรือไม่เต็มใจเลิก

ความท้าทายของภาครัฐ

มหาวิทยาลัยวอเตอร์ลูในประเทศแคนาดาจะเข้าร่วมการศึกษาเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเวลา 5 ปี เพื่อพิจารณาผลกระทบของกฎระเบียบในสหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

เจฟฟรีย์ ฟง ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและสาธารณสุข ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าและความสัมพันธ์ระหว่างบุหรี่ไฟฟ้ากับบุหรี่ธรรมดาผ่านโครงการประเมินนโยบายการควบคุมยาสูบระหว่างประเทศ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลหลายประเทศกำลังพยายามค้นหาอยู่ตอนนี้คือ วิธีการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาสูบทางเลือกแบบใหม่

“บุหรี่ไฟฟ้านั้นมีอันตรายน้อยกว่ามาก จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับความเป็นไปได้ที่บุหรี่ไฟฟ้าจะกลายเป็นประโยชน์ หากผู้สูบบุหรี่สามารถเปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้ แต่ความท้าทายสำหรับรัฐบาลคือ การพยายามควบคุมผลิตภัณฑ์เหล่านี้ และสร้างความสมดุลระหว่างการสนับสนุนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า กับเยาวชนที่อาจจะติดนิโคตินผ่านผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า”

ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของผู้สูบบุหรี่ที่เปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ไร้ควัน (smoke-free products) อยู่ที่ประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี มูลค่านี้ได้ถูกนำเสนอในรายงานของแผนกเทคโนโลยี การปรับกระบวนการทำงานเข้าสู่ระบบดิจิทัล และเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขสาธารณรัฐเบลารุส

ตามรายงานจากกลุ่มจำลองประชากรทั้งหมดค้นพบว่า ผู้สูบบุหรี่ตามวัยที่ถูกต้องตามกฎหมายของแต่ละกลุ่มอายุและเพศต้องการเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ไร้ควัน ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนในกลุ่มอายุ 25-29 ปีลดลง

นอกจากนี้ Prime Press ได้ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ไร้ควันเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการสูบบุหรี่ เนื่องจากทำให้ผู้ใช้ได้รับสารประกอบที่เป็นอันตรายในระดับที่ต่ำกว่ามาก รายงานนี้พิสูจน์ให้เห็นถึงความจำเป็นในนโยบายการลดอันตรายจากยาสูบด้วยการสนับสนุนผู้สูบบุหรี่ที่ต้องการเปลี่ยนไปใช้ทางเลือกอื่นที่มีอันตรายน้อยกว่าที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์

จีนปลดล็อคผลิตบุหรี่ไฟฟ้า

พระราชบัญญัติผูกขาดการผลิตยาสูบแห่งรัฐของจีนได้มีการแก้ไขกฎหมายธุรกิจผูกขาดของยาสูบ เพื่อการควบคุมสินค้าประเภทบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าที่เคยจัดอยู่ในกลุ่มพื้นที่สีเทาได้รับการควบคุมภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ

บริษัทที่จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศจีนจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานระดับประเทศเพื่อให้สามารถขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานด้านยาสูบและดำเนินธุรกิจอย่างถูกกฎหมาย การตัดสินใจนี้มีผลอย่างมากต่อแนวทางการลดอันตรายจากยาสูบทั่วโลก เพราะประเทศจีนเป็นตลาดยาสูบที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในโลกด้วย

ก่อนหน้านี้จีนได้เพิ่มข้อจำกัดเกี่ยวกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งทำให้ผู้สังเกตการณ์บางกลุ่มกังวลว่ากฎหมายใหม่นี้จะเป็นการทำลายอุตสาหกรรมบุหรี่ไฟฟ้า แต่ปัจจุบันตลาดบุหรี่ไฟฟ้าเป็นตลาดที่ถูกกฎหมายในประเทศจีน

สหรัฐเข้มงวดการตลาด

เมื่อปลายปี 2564 องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา (US FDA) เพิ่งอนุญาตให้บุหรี่ไฟฟ้าของ บริษัท อาร์เจ เรย์โนลด์ส โทบัคโค ขายได้ หลังจากชั่งน้ำหนักความเสี่ยงจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนกับศักยภาพในการช่วยผู้สูบบุหรี่ให้เลิกบุหรี่ได้

แต่การจำหน่ายต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดทางการตลาดที่เข้มงวด เช่น ข้อจำกัดด้านการโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัล วิทยุและโทรทัศน์ เพื่อลดโอกาสที่เยาวชนจะมองเห็นโฆษณา และบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ต้องส่งรายงานติดตามผลการวางตลาดอย่างสม่ำเสมอต่อ FDA

ทศววรษที่ผ่านมามีบุหรี่ไฟฟ้าขายอย่างผิดกฎหมายแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา มีผู้ผลิตหลายรายที่ส่งเอกสารขออนุมัติ PMTA (Premarket Tobacco Product Applications) และรอคอยที่จะได้รับการอนุญาตให้ขายอย่างถูกกฎหมายมายาวนาน แต่การใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นในกลุ่มเยาวชนสร้างความกังวลเป็นอย่างมาก ยูเอส เอฟดีเอจึงจำเป็นต้องตรวจสอบหลักฐานอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งพิจารณาข้อดี ข้อเสีย ระหว่างศักยภาพของบุหรี่ไฟฟ้าและการปกป้องเยาวชน

โดยในที่สุดตกลงว่าประโยชน์ของบุหรี่ไฟฟ้าในการช่วยให้ผู้สูบที่เป็นผู้ใหญ่เลิกบุหรี่มีมากกว่าความเสี่ยงที่กลุ่มเยาวชนจะหันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้ บุหรี่ไฟฟ้าที่ได้รับอนุญาตให้ขายได้ครั้งนี้เป็นรสชาติใบยาสูบธรรมดา ซึ่งไม่ใช่รสชาติที่มีการปรุงแต่งซึ่งอาจเป็นที่ดึงดูดเยาวชน อย่างไรก็ตาม การอนุญาตของยูเอสเอฟดีเอครั้งนี้ มีเสียงต่อต้านจากสมาคมโรคปอด สหรัฐอเมริกา ซึ่งให้เหตุผลว่าบุหรี่ไฟฟ้าอาจเป็นอันตรายต่อเยาวชน

มิตช์ เซลเลอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบของ FDA เปิดเผยว่า ข้อมูลจากทางผู้ผลิตชี้ให้เห็นว่าผู้สูบบุหรี่ที่เปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้ารสชาติใบยาสูบ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนไปใช้แบบถาวร หรือใช้ทดแทนการสูบบุหรี่ให้ได้มากที่สุด จะช่วยให้ร่างกายได้รับสารพิษอันตรายลดลง

“การอนุญาตนี้อาจถูกถอดถอนได้ หากมีหลักฐานภายหลังว่าเยาวชนหรือผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาใช้ผลิตภัณฑ์นี้มากขึ้น ซึ่งหมายความว่าบริษัท อาร์เจ เรย์โนลด์ส โทบัคโค ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เคร่งครัด ซึ่งรวมถึงการห้ามโฆษณาทางสื่อโซเชียลและโทรทัศน์”

นิวซีแลนด์ตั้งเป้า Smokefree 2025

ดร.อายชา เวอร์รอล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขของนิวซีแลนด์ ได้ประกาศถึงแผนการครั้งประวัติศาสตร์ ที่จะเพิ่มอายุขั้นต่ำในการซื้อบุหรี่ขึ้นทุกปี เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่ปลอดบุหรี่ และยังมีการประกาศควบคู่ไปกับมาตรการอื่น ๆ เพื่อทำให้ประชาชนไม่สามารถหาซื้อหรือเข้าถึงบุหรี่ได้ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะทำให้นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่ปลอดบุหรี่ใน 4 ปีข้างหน้า

โดยมาตรการอื่น ๆ ได้แก่ การลดปริมาณนิโคตินในผลิตภัณฑ์ยาสูบอย่างถูกกฎหมายให้อยู่ในระดับที่ต่ำมาก การลดจำนวนร้านค้าที่สามารถขายบุหรี่ได้อย่างถูกกฎหมาย และเพิ่มเงินสนับสนุนสำหรับบริการผู้ติดบุหรี่ อย่างไรก็ตาม กฎหมายใหม่นี้จะไม่จำกัดการขายบุหรี่ไฟฟ้า

ปัจจุบันนิวซีแลนด์ห้ามคนที่เกิดหลังปี 2551 ซื้อบุหรี่หรือผลิตภัณฑ์ยาสูบไปจนตลอดชีวิต โดยทำคู่ขนานไปกับ 2 มาตรการ คือ 1. การควบคุมผลิตภัณฑ์ไร้ควันและสร้างความแตกต่างจากบุหรี่แบบเผาไหม้เพื่อสนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่เลิกบุหรี่ หรือเปลี่ยนไปใช้ทางเลือกที่เป็นอันตรายน้อยกว่า 2. การเข้มงวดกับบุหรี่ซิกาแรตที่มีการเผาไหม้เพื่อค่อย ๆ ให้หมดไป โดยนิวซีแลนด์ตั้งเป้าหมาย Smokefree 2025 เพื่อลดอัตราการสูบบุหรี่ในประเทศให้เหลือต่ำกว่า 5% ภายใน 2025 (พ.ศ 2568)

เมื่อบุหรี่ไฟฟ้าสามารถใช้ทดแทนการสูบบุหรี่ได้และเป็นอันตรายน้อยกว่า จึงไม่น่าแปลกใจว่าผู้บริโภคต่างเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น แม้จะเป็นสินค้าที่ถูกแบนอยู่ แต่คาดการณ์ว่าน่าจะมีการใช้กันอยู่หลายแสนคนในประเทศไทย ทำให้มีการแอบซื้อขายกันตามช่องทางออนไลน์ กลายเป็นความกังวลถึงการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเยาวชนแบบไร้การตรวจสอบ

ถึงตรงนี้คงต้องยอมรับกันแล้วว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายน้อยกว่าสูบบุหรี่ แต่การจะเป็นเครื่องมือช่วยเลิกบุหรี่ได้จริงหรือไม่ หรือจะยิ่งทำให้คนหันไปเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าแทนนั้น ยังเป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันต่อไป