สุชาติ MOU แรงงานไทย-ซาอุ ส่งออก “ช่างเชื่อม-ช่างไม้-ภาคบริการ”

สุชาติ ชมกลิ่น
สุชาติ ชมกลิ่น

รมว.แรงงานเตรียมบินซาอุฯ เซ็นเอ็มโอยูส่งออกแรงงานไทย คาดอีก 3 เดือนทยอยส่งแบบจีทูจี เน้นตำแหน่งช่างเชื่อม-ช่างไม้-งานภาคบริการ อัพเดตการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวเริ่มคลี่คลาย

วางนโยบายบ้านราคาถูกเพื่อผู้ประกันตน ม.33 สร้างธนาคาร-โรงพยาบาลประกันสังคม เดินหน้าแก้ไขกฎหมายด้านประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ

สานสัมพันธ์แรงงานกับซาอุฯ

ในอดีตราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียเป็นตลาดแรงงานใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในโซนตะวันออกกลาง โดยมีแรงงานไทยไปทำงานถึง 300,000 คน ทั้งยังส่งรายได้กลับเข้ามาประเทศกว่า 9,000 ล้านบาท แต่หลังจากปี 2533 เป็นต้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียได้รับผลกระทบจากกรณีการเสียชีวิตของนักการทูตซาอุฯ และการหายตัวไปของนักธุรกิจชาวซาอุฯในไทย ทำให้ซาอุฯหยุดเปิดวีซ่าแรงงานไทยอย่างเป็นทางการ เหลือจำนวนแรงงานไทยที่ทำงานอย่างถูกกฎหมายเพียง 1,345 คน

เมื่อไม่นานนี้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ “นายสุชาติ ชมกลิ่น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพร้อมคณะ เดินทางไปยังกรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เพื่อปรับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ราชอาณาจักร และมีโอกาสเข้าพบ “นายอะห์หมัด บิน สุไลมาน อัลรอยิฮี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาสังคม เพื่อเจรจาความร่วมมือด้านแรงงาน จึงเกิดความเห็นพ้องร่วมกันในการเร่งรัดจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ซาอุฯ อีกครั้ง

นับเป็นเป็นโอกาสสำหรับแรงงานฝีมือและกึ่งฝีมือของไทย เพราะซาอุฯกำลังพัฒนาประเทศภายใต้วิสัยทัศน์ “ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ. 2030″ (Saudi Vision 2030) จึงมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนามากมาย ทั้งภาคบริการ โรงแรม สุขภาพ เทคโนโลยี และก่อสร้าง ทำให้ต้องการแรงงานจากหลายประเทศรวมกว่า 8 ล้านคน

ช่างเชื่อม ช่างไม้ไปซาอุฯ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้กระทรวงแรงงานร่างข้อตกลงเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมีการเห็นชอบแล้ว อีกประมาณสัปดาห์ที่ 2 หรือ 3 ของเดือนมีนาคม 2565 ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาสังคมซาอุฯจะเดินทางมาพบตนที่ไทยเพื่อตรวจข้อตกลง และเยี่ยมชมศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน

หลังจากนั้นตนจะเดินทางไปซาอุดีอาระเบียเพื่อเซ็น MOU และคาดว่าอีก 3 เดือนหลังจากเซ็นแล้วจะเริ่มทยอยส่งแรงงานไปซาอุฯได้ โดยเฟสแรกจะเป็นลักษณะรัฐต่อรัฐ (Government to Government: G2G) ซึ่งจะเป็นแรงงานกึ่งทักษะ เช่น ช่างเชื่อม, ช่างก่อสร้าง, ช่างไม้, ช่างปูน, ช่างเหล็ก และเชฟทำอาหาร เพราะค่าแรงจะดีกว่าแรงงานไร้ทักษะ

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมการจัดหางาน (กกจ.) เปิดให้คนไทยแจ้งความประสงค์ไปทำงานซาอุฯ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศที่ toea.doe.go.th โดยข้อมูลจนถึงวันที่ 4 มีนาคม 2565 มีผู้ลงทะเบียนให้ความสนใจทั้งหมด 904 คน

คาดว่าหลังจากซาอุฯมีการตกลงเรื่องเงื่อนไขการดูแลลูกจ้างไทย เช่น ดูแลเรื่องที่พัก, อาหาร, สวัสดิการต่าง ๆ ชัดเจน และมีการเซ็น MOU ร่วมกันระหว่างรัฐบาล 2 ประเทศแล้ว จะมีแรงงานมาลงทะเบียนในระบบเพิ่มขึ้น รวมทั้งกระทรวงแรงงานยังเปิดโอกาสให้บริษัทจัดหางาน (ภาคเอกชน) มาร่วมเป็นผู้จัดส่งแรงงานในเฟสต่อ ๆ ไปด้วย

สำหรับอัตราเงินเดือนค่าจ้างในซาอุฯ ถ้าเป็นแรงงานทักษะไร้ฝีมือจะได้ไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับการไปทำงานตาม MOU ในประเทศฟินแลนด์, สวีเดน, อิสราเอล หรือไต้หวัน อีกทั้งแรงงานไทยมีคู่เปรียบเทียบจากแรงงานอินเดีย, บังกลาเทศ, ศรีลังกา, ฟิลิปปินส์ที่ค่าแรงถูกกว่า 30%

ดังนั้น ค่าแรงเฉลี่ยสำหรับแรงงานไทยไร้ทักษะจะอยู่ที่ 17,000-20,000 บาทต่อเดือน ส่วนแรงงานกึ่งทักษะ 25,500-76,500 บาทต่อเดือน และแรงงานทักษะสูงประมาณ 127,500 บาทต่อเดือน โดยแรงงานไทยที่ซาอุฯต้องการได้แก่ วิศวกร, ช่างไฟฟ้า, ช่างก่อสร้าง, ช่างซ่อมเครื่องยนต์, พนักงานขับรถขนาดใหญ่, พ่อครัวอาหารไทย และอาหารเอเชีย เป็นต้น

แก้แรงงานต่างด้าวขาดแคลน

นายสุชาติกล่าวว่า ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าว

ไทยมีปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (เมียนมา, กัมพูชา และลาว) นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 เพราะมีการยกเลิกนำเข้าแรงงานตาม MOU ดังนั้น ทางกระทรวงแรงงานจึงดำเนินการแก้ปัญหาในหลายรูปแบบแต่หลังจากสถานการณ์ดีขึ้น

โดยกระทรวงแรงงานได้ยื่นขอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ห้มีการผ่อนปรน จนทำให้มติ ครม.วันที่ 29 ธันวาคม 2563, 13 กรกฎาคม 2564 และ 28 กันยายน 2564 ตามลำดับ โดยเป็นการเห็นชอบผ่อนปรนให้แรงงานเถื่อนทำเอกสารให้ถูกต้อง เพื่อจะได้เป็นแรงงานถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ตอนนี้มีแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นในระบบกว่า 8 แสนคน

“หลังจากไทยเปิดประเทศ และมีการเซ็น MOU เพื่อนำเข้าแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ตอนนี้ทางกระทรวงยื่นขอจำนวนแรงงานจากเมียนมาไปแล้ว 9 หมื่นคน, กัมพูชา 3 หมื่นกว่าคน และลาว 9 พันคน และล่าสุดทยอยเข้ามากักตัวในไทยแล้วคือ กัมพูชากว่า 700 คน แต่เมียนมายังมีปัญหาที่ประเทศต้นทาง เพราะสถานการณ์ภายในประเทศยังไม่สงบ จึงใช้เวลาในการส่งรายชื่อแรงงานมา แต่คาดว่าภายใน 3 สัปดาห์น่าจะได้ ส่วนลาวขั้นตอนต่าง ๆ น่าจะจบภายในเดือนนี้ และเริ่มจะมากักตัวได้”

วางยุทธศาสตร์สร้างหลักประกัน

นายสุชาติกล่าวว่า ต้องการสร้างหลักประกันให้แรงงานเกิดความมั่นใจมากขึ้น โดยมีโครงการที่กำลังศึกษา และพร้อมที่จะสรุปเร็ว ๆ นี้คือ

1) ปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ “3 ข้อ” ได้แก่ “ขอเลือก” ให้สิทธิเลือกรับเงินแบบบำนาญหรือบำเหน็จ, “ขอกู้” นำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ยถูก และ “ขอคืน” เพื่อให้ผู้ประกันตนนำเงินชราภาพออกมาใช้ก่อน

2) พ.ร.บ.แรงงานนอกระบบ เพื่อการออกแบบกองทุนให้เป็นที่พึ่งของแรงงานนอกระบบกว่า 20 ล้านคน ซึ่งตอนนี้ผ่าน ครม.แล้ว เหลือแค่ออกแบบเรื่องกฎหมาย และระเบียบและนำเข้าสภา

3) โรงพยาบาลประกันสังคม เพื่อให้แรงงานได้รับการดูแลที่ดีขึ้น และจะสร้างสถาบันการแพทย์ที่ให้ทุนเรียนแพทย์ และพยาบาลแก่ลูกหลานผู้ประกันตนด้วย

4) ธนาคารแรงงาน เพื่อให้แรงงานมีหลักประกันที่ง่ายกว่าไปกู้ธนาคาร ด้วยการปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยสร้างสภาพคล่อง


และ 5) บ้านราคาถูก เพื่อช่วยคนทำงานมีที่อยู่เป็นของตนเอง เช่น โครงการคอนโดฯ 8 ชั้น คิดราคาเพียง 12,000 บาทต่อ ตร.ม. เพื่อให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ผ่อนในอัตราเดือนละ 3,500-4,000 บาท