โค้งสุดท้าย พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ทางออกที่เหมาะสมในมิติด้านสังคม สุขภาพ และเศรษฐกิจ

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ในปี 2558-2573 คือ การมุ่งเน้นการพัฒนา โดยไม่ละทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ประชากรกลุ่มเปราะบาง คนยากจน และแรงงานข้ามชาติ จึงจะต้องมีส่วนร่วม และได้รับประโยชน์จากการพัฒนาที่จะเกิดขึ้น ทุกประเทศทั่วโลกจึงมีภารกิจที่จะต้องร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมาย

พระราชกำหนดบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 2560 ได้กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของนายจ้าง แรงงานข้ามชาติ และผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงาน รวมถึงการคุ้มครองเยียวยาความเสียหาย

“พร้อมบุญ พานิชภักดิ์” เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย ได้กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะการกำหนดความผิดและอัตราโทษที่รุนแรง อาจส่งผลกระทบต่อนายจ้าง ผู้ประกอบการภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และแรงงานข้ามชาติ ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และสาธารณสุข การเปิดพื้นที่ ให้ความรู้ และอภิปราย พระราชกำหนดฯ ดังกล่าว ย่อมนำไปสู่การมีส่วนร่วมด้านการพัฒนาตามเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ

ยุทธศาสตร์บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวปี 2560 – 2564 ตามมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 25 ตุลาคม 2559 มีการกำหนดยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ ยุทธศาสตร์การจัดระบบแรงงานและยุทธศาสตร์บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่มีประสิทธิภาพ เพื่อปรับเปลี่ยนสถานะจากแรงงานหลบหนีเข้าเมือง ให้เป็นแรงงานที่เข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมายอันจะสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ

นอกจากนี้ พระราชกำหนดบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 2560 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 เพื่อสร้างความมั่นคงด้านแรงงาน เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของนายจ้าง แรงงานข้ามชาติ และผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดความผิดและอัตราโทษที่รุนแรง จึงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และแรงงานข้ามชาติ จากการเลิกจ้างแรงงานฯ หรือบางส่วนเดินทางกลับประเทศ แม้ต่อมามีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 33/2560 เรื่องมาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เพื่อผ่อนผันการบังคับใช้กฎหมาย เปิดโอกาสให้นายจ้างและแรงงานฯ ดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไข

“พร้อมบุญ” กล่าวอีกว่า ในทางปฏิบัติพบสภาพปัญหาและอุปสรรค คือ ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน ณ วันที่ 18 ธันวาคม 2560 พบว่ามีแรงงานฯที่ต้องรับการตรวจสัญชาติจำนวนทั้งสิ้น 1,999,240 คน ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561 จำแนกเป็นแรงงานฯเมียนมา 1,223,645 คน แรงงานฯกัมพูชา 616,282 คน และแรงงานฯลาว 159,313 คน

ขณะนี้ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติแล้วจำนวน 1,041,043 คน แรงงานฯเมียนมาคงเหลือ 366,050 คน แรงงานฯกัมพูชาคงเหลือ 450,859 คน และแรงงานฯลาวคงเหลือ 141,288 คน ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานประเทศต้นทางดำเนินการตรวจสัญชาติล่าช้ากว่ากำหนด และอาจเป็นไปได้ว่ามีแรงงานข้ามชาติที่เป็นแรงงานนอกระบบในภาคประมง ภาคเกษตรส่วนหนึ่งที่เข้าไม่ถึงนโยบายการตรวจสัญชาติ

ประการที่สอง สถานพยาบาลบางพื้นที่มีการเลิกจ้างพนักงานสาธารณสุขต่างด้าวที่ทำหน้าที่ส่งเสริมควบคุมโรคและติดตามผู้ป่วย แม้จะมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 ให้สามารถจัดจ้างแรงงานฯ ในตำแหน่งผู้ประสานงานด้านภาษากัมพูชาลาวหรือเมียนมา ทว่ายังขาดระเบียบกระทรวงสาธารณสุขรองรับจัดจ้างแรงงานฯในตำแหน่งดังกล่าว ประกอบกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติแต่ละพื้นที่ตีความเนื้อหาในประกาศแตกต่างกัน จนส่งผลกระทบต่อหน่วยงานรัฐและองค์กรเอกชนที่ประสงค์จ้างแรงงานให้ถูกต้อง จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าพระราชกำหนดฯส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และระบบสาธารณสุขอีกด้วย

ทั้งนี้ “มูลนิธิรักษ์ไทย” ร่วมกับองค์กรภาคี ภายใต้การดำเนินงานโครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ด้วยชุดบริการ RRTTR (โครงการ STAR) โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนโลกด้านเอดส์ วัณโรคและมาลาเรีย จัดเสวนาเรื่อง “โค้งสุดท้ายสู่พระราชกำหนดบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว: ทางออกที่เหมาะสมในมิติด้านสังคม สุขภาพและเศรษฐกิจ” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเสวนามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์บริหารจัดการแรงงานต่างด้าว 2560-2564 และพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 2560 และรับฟังข้อคิดเห็นต่อแนวทางบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่เป็นธรรมและเหมาะสม ในแง่สังคม สุขภาวะ และเศรษฐกิจ และข้อเสนอแนะที่หลากหลายจากหน่วยงานภาครัฐ นายจ้าง ผู้ประกอบการ ภาคประชาสังคม ผู้แทนแรงงานข้ามชาติ เพื่อนำไปสู่การพัฒนากฎหมายลำดับรองและระเบียบปฏิบัติที่เหมาะสมยิ่งขึ้น