จับตามองผลกระทบแรงงานไทย หลังไต้หวันยกระดับเตือนภัย รับมือจีนซ้อมรบ

เพโลซี ไต้หวัน
แฟ้มภาพ AP Photo/Andy Wong

ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างไต้หวันและจีน จะส่งผลอย่างไรต่อห่วงโซ่อุปทาน และการจ้างงาน

วันที่ 3 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากกรณีนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา เดินทางถึงกรุงไทเป ไต้หวัน เมื่อคืนวันที่ 2 สิงหาคม 2565 เพื่อเข้าพบกับประธานาธิบดีไต้หวัน ไช่ อิงเหวิน ซึ่งนับเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนแรกของสหรัฐ ที่เดินทางเยือนไต้หวันนับตั้งแต่ปี 2540 และถือเป็นการฝ่าฝืนนโยบายจีนเดียว (One China Policy) ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนใช้ยื่นต่อนานาประเทศที่ประสงค์จะสานความสัมพันธ์กับจีน ว่าต้องยอมรับและมีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับจีนเท่านั้น และให้ยึดถือว่าจีนมีเพียงหนึ่งเดียวในโลก เพราะไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนของจีน

การเยือนไต้หวันครั้งนี้สร้างความไม่พอใจอย่างมากต่อจีน ส่งผลให้กระทรวงการต่างประเทศของจีนออกแถลงการณ์เมื่อเวลา 23.00 น. (ตามเวลากรุงปักกิ่ง) ของวันที่ 2 สิงหาคม 2565 ประณามการกระทำของนางเพโลซี ว่าเป็นการทำลายความมั่นคงของอธิปไตยจีน และส่งสัญญาณตอบโต้ทางเศรษฐกิจและทางทหาร

ทั้งนี้ สำนักข่าวซินหัวอ้างอิงข่าวจากกองทัพปลดแอกประชาชนจีนเผยว่า กองทัพจีนจะใช้กระสุนจริงทำการซ้อมรบทั้งในน่านน้ำและน่านฟ้ารอบเกาะไต้หวัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม ถึง 7 สิงหาคม 2565 ขณะเดียวกัน ไต้หวันก็ประกาศยกระดับเตือนภัย รวมทั้งเตรียมรับมือการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงของจีน ซึ่งประเด็นนี้สร้างความกังวลในหลายด้าน ทั้งด้านความปลอดภัยและด้านเศรษฐกิจในไต้หวันไม่น้อย

แรงงานไทยในไต้หวัน

ที่ผ่านมาไต้หวันประสบภาวะขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ซึ่งเป็นผลมาจากประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตไปยังจีน และประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหานี้ รัฐบาลไต้หวันจึงอนุญาตให้นายจ้างนำเข้าแรงงานต่างชาติได้ตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา โดยมีกรมพัฒนากำลังแรงงาน กระทรวงแรงงานไต้หวัน (Workforce Development Agency, Ministry of Labor) เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลนโยบายและการบริหารแรงงานต่างชาติ

ไต้หวันเป็นดินแดนที่คนไทยเลือกเดินทางไปทำงานสูงสุดเป็นอันดับแรก รองลงมาเป็นประเทศอิสราเอล ญี่ปุ่น ลาว และสาธารณรัฐเกาหลีตามลำดับ เพราะไต้หวันให้ค่าจ้างสูง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดือนละ 25,250 เหรียญไต้หวัน (30,526 บาท) ส่วนใหญ่ไปทำงานด้านงานก่อสร้าง การผลิต และเกษตรกรรม

จากข้อมูลสถิติ (ณ เดือนมิถุนายน 2565) ของกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน ระบุว่า มีจํานวนแรงงานไทยที่ยังทํางานอยู่ในไต้หวัน 48,462 คน

ความสัมพันธ์ด้านแรงงานของไต้หวันกับไทยค่อนข้างไปได้ดี โดยกระทรวงแรงงานไต้หวันมีโครงการยกระดับแรงงานต่างชาติที่ทำงานครบ 6 ปี ให้เป็นแรงงานกึ่งฝีมือ และสามารถทำงานในไต้หวันต่อไปได้โดยไม่ถูกจำกัดระยะเวลาทำงาน 12 ปี (ภาคการผลิต) หรือ 14 ปี (ภาคสวัสดิการสังคม) เพื่อแก้ไขภาวะขาดแคลนแรงงานกึ่งฝีมือของผู้ประกอบการไต้หวัน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา

และให้ค่าจ้างในอัตราที่สูง โดยแรงงานกึ่งฝีมือในภาคการผลิตได้ค่าจ้างประจำ รวมเบี้ยขยัน และเงินรางวัล แต่ไม่รวมค่าล่วงเวลา ไม่ต่ำกว่า 33,000 เหรียญไต้หวันต่อเดือน (39,883 บาท) หรือรายได้รวมตลอดทั้งปีรวมค่าล่วงเวลา ไม่ต่ำกว่า 500,000 เหรียญไต้หวัน (60,429 บาท)

เป็นที่น่าจับตามองว่า ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างไต้หวันและจีน จะส่งผลอย่างไรต่อบริษัทต่าง ๆ ที่อาจต้องเผชิญอุปสรรคจากปัญหาห่วงโซ่อุปทาน และจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานหรือไม่