ตลาดยิ่งเจริญ 67 ปี ธรรมวัฒนะ ถึงยุคเปลี่ยนผ่าน

อริย ธรรมวัฒนะ-กัญจนิดา ตันติสุนทร
อริย ธรรมวัฒนะ-กัญจนิดา ตันติสุนทร

ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสเสมอ หลังตระกูล “ธรรมวัฒนะ” มีการผลัดใบให้ 2 พี่น้อง “ดร.ณฤมล ธรรมวัฒนะ” และ “น.ส.คณึงนิตย์ ธรรมวัฒนะ” เข้าบริหารจัดการ “ตลาดยิ่งเจริญ” ตลาดสดขนาดใหญ่ ย่านสะพานใหม่ ดอนเมือง ตั้งแต่ปี 2558

ตลาดในตำนาน วันนี้มีอายุครบ 67 ปีแล้ว และกำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 68 ภายใต้การบริหารของทายาทรุ่นที่ 3 ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้อง นั่นคือ “นายอริย ธรรมวัฒนะ” บุตรชาย นายห้างทอง ธรรมวัฒนะ ที่เสียชีวิต และ “นางกัญจนิดา ตันติสุนทร” บุตรสาวของนางณฤมล

“ทุกวันนี้มีความสุขมากขึ้น เมื่อคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยบริหารจัดการธุรกิจของครอบครัวให้ยิ่งเจริญสมกับชื่อที่ตั้งไว้” ดร.ณฤมล ธรรมวัฒนะ ประธานกรรมการบริหาร ตลาดยิ่งเจริญ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ”

ซึ่งถือเป็นยุคเปลี่ยนผ่านและเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยเฉพาะ “ทำเล” และสภาพแวดล้อม เพราะมีรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย “หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต” วิ่งพาดผ่าน

ที่สำคัญ ยังมีจุดจอดสถานี “สะพานใหม่” อยู่หน้าตลาดพอดี ทำให้เกิด “มูลค่าเพิ่ม” ในเรื่องของราคาที่ดินที่ตกตารางวาละ 2-2.5 แสนบาท และเทรนด์การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบ “คอนโดมิเนียม” ที่ผุดเป็นดอกเห็ดสองข้างทางรถไฟฟ้า เช่นเดียวกับทำเลสุขุมวิท และพหลโยธินตอนต้น

ทำให้ภาพในอดีตที่เคยเป็นตลาดไกลปืนเที่ยง สมัยเป็นทุ่งนา อยู่ในเวิ้งฐานทัพอากาศ มาวันนี้เปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง

ตลาดยิ่งเจริญมีพื้นที่รวม 31 ไร่ เป็นที่ดินติดถนนพหลโยธินยาวตลอดแนวประมาณ 380-400 เมตร ที่จอดรถ 700 คัน แผงร้านค้าประจำ 1,500 แผง และแผงรายวันอีก 200 แผง ค่าเช่ารายวันมีตั้งแต่ 50-360 บาท ส่วนแผงเช่าประจำราคาตารางเมตรละ 500-4,000 บาท แล้วแต่โซน ทำเล และประเภทสินค้า

ปัจจุบันตลาดมีการพัฒนาต่อเนื่องเป็นร้านค้าหลายรูปแบบ เน้นบริการครบวงจร ซึ่งค้าขายกันตลอด 24 ชั่วโมง เป็นตลาดที่มีความคึกคักตลอดวัน ทั้งตลาดเช้า-ตลาดเย็น และตลาดกลางคืน มีทราฟฟิกรถเข้าออก คนเข้าออกไม่ต่ำกว่า 20,000 คนต่อวัน ยิ่งช่วงหน้าเทศกาล วันตรุษ วันสารท เพิ่มเป็น 30,000-35,000 คน เงินสะพัดต่อวันสูงมาก

เราเป็นตลาดค้าส่งกึ่งค้าปลีก ของมาจากเกษตรกรและตลาดค้าส่งแล้วมาทำการตัดแต่ง ช่วงเช้ามืดจะเป็นตลาด B to B ประเภทธุรกิจที่ซื้อไปจำหน่ายต่อหรือประกอบกิจการ อีก 30% เป็นลูกค้ากลุ่มค้าปลีกที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยตามบ้านเรือนและเข้ามาสันทนาการ รับประทานอาหารต่าง ๆ จุดแข็งตลาดนี้คือ สด ครบ จบในที่เดียว

“นโยบายเรา Y Together Y ย่อมาจาก ยิ่งเจริญ คือ ร่วมไปด้วยกัน เราสนใจองค์รวม ทั้งชุมชน สิ่งแวดล้อม และการศึกษา เราผลักดันให้เป็น green market ถ้าเป็นไปได้อยากเป็น zero waste” นางกัญจนิดากล่าว

แม้รู้ว่ายาก แต่ต้องพยายาม โดยคัดแยกขยะเปียกทำเป็นน้ำยาชีวภาพเอามาล้างตลาด และบำบัดน้ำเสีย เน้นพัฒนาคลองในพื้นที่ให้กลับมาใสสะอาดอีกครั้ง ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ที่บริษัทตั้งใจทำ และต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน

อย่างไรก็ตาม เรายังเน้นธุรกิจหลักคือให้เช่าพื้นที่ตลาดสด โดยแบ่งเป็นโซนตลาดนัด โซนโรงเรียนการเรือน สอนทำอาหาร และ food court ยิ่งเจริญฟู้ดพลาซ่า

อาหาร หัวใจสำคัญ

ล่าสุดบริษัทกำลังพัฒนาโครงการใหม่เป็นกึ่ง mix-use ศูนย์รวมของคนรุ่นใหม่ เพราะอยากดึงคนนิวเจนมาเดินตลาดสด เป็น common area เป็น green area มีร้านค้าที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่มากขึ้น และเป็นพื้นที่ที่เดินเชื่อมต่อกับตลาดสดได้สะดวก ปลอดภัย เช่น คุณพ่อคุณแม่มาตลาดสด คุณลูกก็มาช็อป นั่งเล่นที่ตัวอาคารนี้ที่เรียกว่า Y Square คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566

หลัก ๆ เราเน้นเรื่องอาหาร หัวใจสำคัญของตลาดยิ่งเจริญ คือ “แหล่งอาหารของคนกรุงเทพฯ” มีอาหารราคาถูก มี food court 24 ชั่วโมง

เราจะต่อยอดจากตรงนี้ โดยเพิ่มร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารญี่ปุ่น อาหารเกาหลี อาหารไทยสไตล์ฟิวชั่น ตอบโจทย์คนวัยทำงาน

“บวกกับตอนนี้ คอนโดฯขึ้นเยอะมาก ทำเลย่านนี้เลยกลายเป็นคนรุ่นใหม่มาอาศัยอยู่มากขึ้นโดยปริยาย เราจึงอยากพัฒนาโครงการให้เป็น third place ของคนสะพานใหม่”

ขณะเดียวกันมีกลุ่มทุนใหม่ ๆ เริ่มเข้ามาปักหมุดลงทุนในย่านนี้แล้ว เช่น โรงแรมสลีฟเคส ของกลุ่มดีลเลอร์ รถมิตซูบิชิ ฯลฯ รวมถึงกลุ่มค้าปลีกโลตัส บิ๊กซี และโรงพยาบาลเซ็นทรัลเยนเนอรัล ศูนย์ทันตกรรมเซ็นทรัล เพราะเขตนี้มีประชากรตามทะเบียนมากถึง 5 แสนคน

นายอริยกล่าวว่า โครงการใหม่จะเป็นอาคาร 4 ชั้น เป็นเชิงพาณิชย์ 3 ชั้น พื้นที่ก่อสร้างรวม 17,000 ตารางเมตร ถือว่าเป็นอาคารค่อนข้างใหญ่ เราอยากสร้างเรื่องราวใหม่ ๆ กลุ่มอาหารใหม่ ๆ ให้กลมกลืนไปกับพื้นที่แถวนี้ เพื่อให้เป็น “แลนด์มาร์ก” ของทำเลสะพานใหม่

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจที่กำลังโฟกัสและให้ความสำคัญ คือ “ส่งสด ดอทคอม” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการจำหน่ายสินค้าและวัตถุดิบออนไลน์ โดยเป็นตัวกลางนำสินค้าในตลาดสด ไม่เฉพาะในตลาดยิ่งเจริญอย่างเดียว อนาคตจะขยายสเกลไปยังตลาดอื่น ๆ อีก เพื่อนำมาซื้อขายบนออนไลน์

พร้อมกับสร้างอาชีพใหม่ “ช็อปเปอร์” คนคัดสรรวัตถุดิบคุณภาพส่งให้กับผู้บริโภค โดยซื้อจากตลาดแล้วนำไปจัดส่ง ต่อไปพ่อค้าแม่ค้าต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของโลกใหม่ที่คนซื้อไม่ได้มา แล้วเป็นสังคมไร้เงินสด

ลูกค้าจะเป็นกลุ่มฐานใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ธุรกิจออนไลน์ในไทยโตไวมาก 20-30% แต่ความยากของเราคือ สินค้ามีน้ำหนัก มีอายุที่สั้น และราคาไม่สูง เราจึงต้องบริหารจัดการให้ได้

จากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจทั้งในประเทศ และทั่วโลก ผู้บริหารทั้งสองต่างยอมรับว่า “มีผลกระทบแน่ แต่โชคดีที่เราทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร คนต้องกินต้องใช้”

แต่ในแง่ค่าครองชีพ กำลังซื้อโดยรวมถดถอยลง กลุ่มผู้ค้าก็มีรายได้ลดลง สมัยที่โควิดระบาดหนัก บริษัทได้ลดค่าเช่าให้ผู้เช่าแผงตามสถานการณ์ 50-70%

“ธุรกิจเรามีเจ็บบ้าง แต่ก็น้อยกว่าธุรกิจภาคบริการ โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมจะเจอหนักมาก”

“ผมมองว่า ปัจจัยสงคราม สินค้าเกษตรเราจะโดนน้อย ไม่เหมือนกับโรงงานที่เป็นภาคผลิตขนาดใหญ่ ๆ แต่กลายเป็นว่า เราเจอเรื่องต้นทุนแพง ทั้งเชื้อเพลิง พลังงาน แก๊ส น้ำมัน เราจึงต้องปรับตัวรับมือให้ทัน”

รวมถึงการปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ผู้ค้าต้องปรับราคาสินค้าบ้างบางตัว ขณะที่วิกฤตโควิดก็ยังอยู่ ใครก็ประมาทไม่ได้ เฉพาะโควิดตัวเดียว โลกก็เปลี่ยนแปลงไปเกือบหมดสิ้น