เทศกาลไหว้พระจันทร์ 2567 วันไหน มีที่มาอย่างไร ทำไมต้องไหว้

ขนมไหว้พระจันทร์

ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับ “เทศกาลไหว้พระจันทร์” เทศกาลใหญ่รองจากตรุษจีนตามประเพณีของชาวจีนแทบทุกถิ่นฐาน ทำไมต้องไหว้พระจันทร์ และการไหว้พระจันทร์มีที่มาจากอะไร

เทศกาลไหว้พระจันทร์จะจัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปีตามปฏิทินจีน ตรงกับช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ 17 กันยายน 2567 โดยเทศกาลไหว้พระจันทร์ในภาษาจีน เรียกว่า “จงชิวเจี๋ย” หมายถึง “กึ่งกลางฤดูใบไม้ร่วง” หรือ “ครึ่งหนึ่งของฤดูใบไม้ร่วง”

สาเหตุที่เทศกาลไหว้พระจันทร์อยู่ในฤดูใบไม้ร่วงนั้น เป็นเพราะท้องฟ้าแจ่มใส มีเมฆน้อย เห็นพระจันทร์ดวงกลมโตได้ชัดเจน ทั้งนี้ เทศกาลไหว้พระจันทร์ยังมีอีกหลายชื่อเรียก อาทิ เทศกาลพระจันทร์ เทศกาลเดือนแปด เทศกาลชุมนุมพร้อมหน้า เทศกาลชมจันทร์ เทศกาลตามจันทร์ เทศกาลเล่นพระจันทร์ เป็นต้น

ตำนานฉางเอ๋อร์

สำหรับที่มาของเทศกาลไหว้พระจันทร์นั้น มีด้วยกันหลายตำนาน แต่ที่ถูกเล่ากันมากที่สุด คือ “ตำนานฉางเอ๋อร์เหินสู่ดวงจันทร์” โดยเล่ากันว่า ในยุคบรรพกาลมีดวงอาทิตย์ขึ้นพร้อมกัน 10 ดวง ทำให้เดือดร้อนชาวโลกเป็นอย่างมาก “ราชาโฮ่วอี้” จึงใช้ธนูยิงพระอาทิตย์ดับไป 9 ดวง ทำให้โลกสงบสุขและเย็นลง เหล่ามนุษย์ก็ใช้ชีวิตได้ตามปกติ โฮ่วอี้จึงได้รับการสรรเสริญ

จากนั้นมีผู้วิเศษได้มอบยาอายุวัฒนะ 2 เม็ด ให้แก่โฮ่วอี้ แต่โฮ่วอี้ไม่ประสงค์รับยานั้น จึงฝากยาไว้กับชายานามว่า “ฉางเอ๋อร์” ต่อมาชายจิตใจชั่วร้ายชื่อ “เฝิงเหมิง” รู้เข้า จึงฉวยโอกาสที่โฮ่วอี้ไม่อยู่บุกชิงยาจากฉางเอ๋อร์ เธอจึงกินยา 2 เม็ดนั้นเสียเอง ทำให้ตัวเองนั้นล่องลอยสู่ท้องฟ้าและไปสถิตอยู่ในดวงจันทร์

โดยวันนั้นตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ กลางเดือน 8 พอดี โฮ่วอี้จึงจัดเครื่องเซ่นบูชาพระจันทร์ เพื่อรำลึกถึงฉางเอ๋อร์ และประชาชนต่างซาบซึ้งในความดีของนาง จึงจัดพิธีเซ่นไหว้ขึ้นทุกปี จนกลายเป็นเทศกาลไหว้พระจันทร์

Advertisment

สำหรับเทศกาลไหว้พระจันทร์ในเมืองไทยนั้นเป็นที่นิยมและแพร่หลายกันอย่างมากในหมู่ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวจีนอพยพในเมืองไทย แต่เดิมนั้นการไหว้พระจันทร์ในไทยมักไหว้ 3 เวลา คือ เช้า ไหว้เจ้าที่ประจำบ้าน ช่วงสายถึงเที่ยง ไหว้บรรพบุรุษ และกลางคืน ไหว้พระจันทร์

แต่ปัจจุบันการไหว้พระจันทร์ในเมืองไทยอาจซบเซาลงไปบ้าง เนื่องจากลูกหลานชาวจีนต่างมีวิถีชีวิตและค่านิยมเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม การไหว้พระจันทร์จึงทำให้รวบรัดมากขึ้น อาจเหลือเพียงไหว้พระจันทร์ในตอนค่ำเท่านั้น

Advertisment

ขนมไหว้พระจันทร์

ตำนานต่อต้านมองโกล

สำหรับขนมไหว้พระจันทร์ ภาษาจีนเรียกว่า “เย่ว์ปิ่ง” ซึ่ง “เย่” หมายถึง พระจันทร์ และ “ปิ่ง” หมายถึงของกินทรงแบนเป็นวงกลมรีหรือเป็นเหลี่ยม ที่ปิ้ง ย่าง เผา อบ โดยขนมไหว้พระจันทร์ที่แพร่หลายในเมืองไทยเป็นแบบจีนกวางตุ้ง มีลักษณะหนาเปลือกนิ่ม

ทั้งนี้ มีตำนานที่เกี่ยวข้องและมักเล่ากันว่าเป็นที่มาของขนมไหว้พระ คือ ในสมัยราชวงศ์หยวน ที่ปกครองโดยชาวมองโกล ซึ่งผู้นำต่อต้านมองโกลหวังรวบรวมกำลังชาวจีนขึ้นสู้ราชวงศ์

จึงคิดอุบายด้วยการเขียนข้อความนัดหมายใส่กระดาษและซ่อนไว้ในขนมไหว้พระจันทร์ ก่อนแจกจ่ายในหมู่ชาวจีน โดยมีข้อความระบุว่า หลังกินขนมไหว้พระจันทร์แล้ว ให้ทุกครอบครัวคว้าอาวุธขึ้นต่อสู้ชาวมองโกล จนกระทั่งสามารถโค่นล้มราชวงศ์หยวนได้สำเร็จ

ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม, ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)