วีรพร นิติประภา กับนิยายซีไรต์เล่มล่าสุด ส่งความรู้สึกลูกพ่อแม่ไม่รัก สะท้อนสังคมเหลื่อมล้ำต่ำ-สูง

นักอ่าน คอวรรณกรรม รู้จักและประทับใจผลงานของวีรพร นิติประภา เมื่อ 4-5 ปีก่อน จากนวนิยาย ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ผลงานนวนิยายเรื่องแรกของเธอ ซึ่งครองใจคนอ่านอยู่ก่อนแล้วประมาณหนึ่งก่อนที่นวนิยายเล่มนั้นจะคว้ารางวัลซีไรต์ ประเภทนวนิยายในปี 2558 มาปีนี้ นักเขียนหญิงวัย 56 สร้างความฮือฮาในวงการวรรณกรรมอีกครั้งด้วยการคว้ารางวัลซีไรต์ ประเภทนวนิยายอีกหนึ่งสมัย จากผลงานเล่มที่สอง พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ

บ้าไปแล้ว ! เชื่อว่าหลายคนอุทานออกมาแน่ ๆ หลังจากทราบผลรางวัลซีไรต์ 2561

วีรพร นิติประภา คว้ารางวัลซีไรต์ประเภทนวนิยายติดต่อกัน 2 สมัย และเธอเป็นนักเขียนดับเบิลซีไรต์คนที่ 3 ของประเทศไทย ต่อจาก ชาติ กอบจิตติ (นวนิยาย 2) และ วินทร์ เลียววารินทร์ (นวนิยาย 1 เรื่องสั้น 1) ถ้าแบ่งชาย-หญิง เธอคือคนแรกของฝ่ายหญิง

แม้นักเขียนมักจะบอกว่าไม่คาดหวังรางวัล แต่เมื่อได้มาแล้วส่วนมากก็ดีใจ เช่นกันกับวีรพร หรือ “พี่แหม่ม” ของบรรดานักอ่าน ที่บอกว่าส่วนตัวไม่คาดหวังว่าจะได้เพราะเพิ่งได้มา แต่พอรู้ว่าได้รางวัลก็รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง และที่เธอซาบซึ้งมากกว่า คือทำได้อย่างที่คนอ่านคาดหวัง เพราะเธอเข้าใจว่ามีนักอ่านไม่น้อยที่เชียร์ให้เรื่องนี้ได้รางวัล

ย้อนความเป็นมาของนวนิยายชื่อยาวเรื่องนี้ ที่พูดถึงความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำ ประวัติศาสตร์ และความหวัง เป็นเรื่องในใจของวีรพร ที่คิดอยากเขียนมาตั้งนานหลายปีแล้ว แต่เพราะเธอยังไม่รู้จะเขียนมันออกมาอย่างไรให้น่าสนใจ เธอจึงเก็บไอเดียเอาไว้ก่อน แล้วเขียน “ไส้เดือนตาบอดฯ” ก่อน เป็นการฝึก หากลวิธีการเขียนเรื่องนี้ ซึ่งพลอตใหญ่กว่าเรื่องแรกมาก

“ก่อนนี้พี่ไม่มีวิธีเขียน รู้แต่ว่าอยากเล่า… จะเล่ายังไงภายในเส้นเรื่องเดียว พี่ก็เลยทำไส้เดือนฯก่อน ถามว่าเรียนรู้อะไรจากการทำไส้เดือนฯ คือเรียนรู้ทุกอย่างในการทำพุทธศักราชฯจากไส้เดือนฯ”

แก่นเรื่องและใจความเหล่านั้นถูกเล่าผ่านเรื่องราวของตระกูลตั้ง ครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเลที่บรรพบุรุษมาทำกิจการ สร้างฐานะ และสร้างครอบครัวในแผ่นดินไทย มีความเปลี่ยนแปลง ความผันผวนต่าง ๆ เกิดขึ้นในครอบครัว เดินเรื่องคู่ไปกับเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มาจนถึงช่วงเหตุการณ์ทางการเมือง 6 ตุลา 2519

“เรากำลังพูดเรื่องสงครามที่ลากเรามาสู่จุดที่เราอยู่ เพราะฉะนั้น เราเลยพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหลังสงคราม จริง ๆ ทั้งโลกตอนนี้ เรายังติดอยู่หลังสงครามอยู่เลยค่ะ” เจ้าของเรื่องบอกเหตุผลในการเลือกช่วงเวลาดำเนินเรื่อง

ส่วนเหตุผลที่ต้องเล่าผ่านครอบครัวจีนคือเป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะวีรพรเป็นคนเชื้อสายจีนผสมมอญ เธอบอกว่าถ้าจะเปลี่ยนเป็นครอบครัวคนไทย ก็ไม่รู้ว่าวิถีครอบครัวไทยเป็นอย่างไร ถ้าเป็นครอบครัวชาวแขกก็ยิ่งไม่รู้ใหญ่

วีรพรใช้ประโยชน์จากเรื่องใกล้ตัว โดยหยิบเอาแคแร็กเตอร์ของญาติและคนรู้จักมาสร้างเป็นแคแร็กเตอร์ตัวละครหลายตัว

เธอค้นคว้าข้อมูลและศึกษาประวัติศาสตร์เยอะมากเพื่อเขียนเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้ใส่รายละเอียดทางประวัติศาสตร์เข้ามาในเรื่องมากนัก ซึ่งนั่นเป็นความตั้งใจ เป็นความจำเป็นที่จะไม่ใส่รายละเอียดเยอะ เหตุผลที่เธอบอกคือ…

“พี่ไม่มีความตั้งใจจะอวดรู้ ไม่มีความตั้งใจจะเอา fact มายัดเข้าไป แต่จำเป็นต้องรู้ เพราะว่าจำเป็นต้องทำเส้นเรื่อง จำเป็นต้องรู้ว่ามันคลี่คลายยังไง ประวัติศาสตร์สอนเรายังไง ซ้ำรอยยังไง มันเป็นยังไง แต่พอถึงตอนเล่า พี่มีความจำเป็นที่ต้องตัดออก แล้วเหลือแค่สะกิด ๆ เพื่อให้คุณคิดว่า เออ ฉันเคยได้ยินเรื่องนี้ลาง ๆ นะ แต่ว่ามันเป็นยังไง”

นอกจากค้นคว้าข้อมูลแล้วยังมีการลงพื้นที่ไปดูวิถีชีวิต สังเกตคำพูดคำจาของคนจีนตามแหล่งชุมชนคนจีนที่สำคัญ ๆ อย่างตลาดน้อย เยาวราช บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นฉากสำคัญในเรื่อง

สำหรับชื่อเรื่องยาว ๆ เล่นซ้ำคำชวนงง เชื่อว่าหลายคนสงสัยว่าหมายถึงอะไร และจำเป็นต้องยาวขนาดนี้มั้ย ?

“ทรงจำของทรงจำ คือ ทรงจำที่มันถูกเล่าต่อ ไม่ใช่ความทรงจำของคุณโดยตรง ชื่อเรื่องมันแปลง่าย ๆ เลยค่ะ ช่วงเวลาแห่งการล่มสลาย ช่วงเวลาแห่งความถดถอย และความทรงจำที่กะปริดกะปรอย กะพร่องกะแพร่ง แต่เราต้องให้มันสวยงาม ไม่ใช่ เอ่อ… บ้านเมืองถดถอยและความทรงจำกะปริดกะปรอย จะไปขายใครวะ มันฟังดูไม่ดี ไม่เก๋” เจ้าของเรื่องอธิบาย และบอกแบบยืดอกว่า “ได้ซีไรต์แล้ว ก็ไม่มีใครถามค่ะ”

วีรพรบอกว่า กระบวนการสร้างความทรงจำ ลบความทรงจำ รวมถึงการสร้างความทรงจำลวงขึ้นมา (การกุเรื่องที่ไม่มีอยู่จริงขึ้นมาให้คนจดจำว่ามี) เป็นอะไรที่เธอสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งอาจจะต้องทำเล่มที่สาม สี่ ห้า ต่อไป เพราะสำหรับเธอการทำงานเขียนคือการทำความเข้าใจสิ่งที่ตัวเองสงสัย

“พี่ไม่ได้ทำงานเหมือนคนอื่น พี่ไม่ได้ทำงานเพราะมีเรื่องจะเล่า แต่พี่ทำงานเพราะมีเรื่องสงสัย แล้วพี่ทำความเข้าใจสิ่งที่พี่สงสัยผ่านการทำงาน”

นวนิยายซีไรต์เล่มนี้ใช้เวลาเขียนอยู่นานถึง 4 ปี

“4 ปีเป็นวิธีคิดของพี่ด้วย นักเขียนทั่วไปอาจจะวางแผนว่า บทที่หนึ่งจะเป็นอย่างนี้ บทที่สองจะเป็นอย่างนี้ แต่พี่เขียนแบบด้นตั้งแต่ต้น การด้นมันน่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ตัวละครจะค่อย ๆ หาทางออกไปเรื่อย ๆ พร้อม ๆ กับเรา ก็มีคนบอกว่าตัวละครของวีรพรมีชีวิตชีวา เหมือนคนในชีวิตจริง ก็เพราะเราโตไปพร้อม ๆ กัน”

ที่บอกว่าให้ตัวละครพบเจอเหตุการณ์และหาทางออกไปพร้อมกับคนเขียน เธอยกตัวอย่างว่า “อย่างเช่น มีตัวละครที่ติดการพนัน ไม่สามารถหาเงินมาใช้เขาได้ ถึงจุดนั้นเราก็นั่งมองอีกที เราจะให้เขาเจ๊งไปเลยก็ได้ แต่มันดูคลีเช่ไง เล่นการพนันจนล้มละลาย พี่ก็เอาพายุเข้าอีกลูก จริง ๆ ตัวละครนั้นฉิบหายด้วยการที่มีพายุมาแล้วเก็บเงินลูกค้าต่างประเทศไม่ได้ต่างหาก ถ้าอ่านเผิน ๆ ก็คิดว่าเขาเล่นพนันจนบ้านเจ๊ง แต่มันมีคนที่เล่นพนันแล้วบ้านไม่เจ๊งตั้งเยอะ เราได้ยินเรื่องพวกนี้มาเยอะแล้ว พี่ไม่ได้อิมพอร์ตพายุ แต่พี่กลับไปดูช่วงเวลานั้นมันมีพายุลูกใหญ่มากเข้ามา เกาะฮ่องกงหายไปทั้งเกาะ พี่ก็คิดเอาเองว่ามันทำให้เรื่องของพี่กลมขึ้นมากกว่าที่จะเล่าแบบที่ทุกคนได้ยินมาแล้ว แต่มันก็ใช้เวลา ตอนแรกให้เจ๊งไปแล้ว ค่อยกลับมาแก้ให้พายุเข้า ทำงานกลับไปกลับมา ก็มันเป็นอภิสิทธิ์ของพี่ ในชีวิตจริง คุณไม่มีสิทธิ์อยู่แล้ว คุณทำได้แค่ผ่านมันไป แต่การเป็นนักเขียน คุณได้อภิสิทธิ์ย้อนกลับไป”

ถึงแม้นักเขียนจะได้อภิสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่อง แต่วีรพรบอกว่า “มันก็มีข้อจำกัดเหมือนกัน”

“ทุกครั้งต้องถามตัวเองว่า เราได้ให้ความยุติธรรมกับตัวละครทุกตัวหรือไม่ พี่ถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ งานเขียนมันจะดีหรือไม่ดี ไม่ได้อยู่ที่พลอตประหลาดมหัศจรรย์ แต่อยู่ที่ตัวละครทุกตัวได้รับความยุติธรรมเท่ากัน มีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน มีเหตุและผลเพียงพอที่เขาจะทำดี ทำชั่ว ฆ่าตัวตาย หัวเราะ ร้องไห้ เราจำเป็นต้องสร้างสิ่งนี้ให้มีอยู่ในเรื่อง ต่อให้เรื่องจะงี่เง่าแค่ไหน ขายได้ ขายไม่ได้ ก็อีกเรื่องหนึ่ง” นั่นคือข้อจำกัดที่เธออธิบาย

ตัวละครที่วีรพรรักที่สุดในเรื่อง ถือว่าเป็น “ลูกรัก” คือ จงสว่าง ลูกชายคนโตที่พ่อแม่ขอมาเลี้ยง ซึ่งวิธีการที่จะไม่เขียนอย่างลำเอียงก็คือ ต้องกลับมาตรวจสอบ ลดทอนความดีงามน่ารักของบางตัวละครลง ให้ตัวละครทุกตัวมีทั้งข้อเด่น ข้อด้อย มีความเป็นมนุษย์

วีรพรเคยบอกว่า เธอคาดหวังว่าการเขียนหนังสือเล่มใหม่จะดีกว่าเล่มที่ผ่านมา เราลองถามเธออีกครั้ง เธอยังยืนยันคำตอบเดิม “ใช่ ๆ” แต่เธอบอกว่า ไม่คาดหวังรางวัล ไม่คาดหวังกรรมการ

“ถ้าคุณเอารางวัลเป็นตัวตั้ง ถ้าวีรพรอยากได้รางวัล วีรพรต้องเขียนแบบวีรพรรึเปล่า ก็แย่นะ คุณก็จะงมอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่ไปไหน เล่มสองพี่ยังไม่กล้าก๊อปเรื่องแรกเลย ตอนพี่ทำเล่มสอง ถ้าพี่อยากได้ซีไรต์อีก พี่ควรทำแบบเล่มแรกมั้ย แต่เพราะว่าทำไม่เหมือนเล่มแรกก็เลยได้เล่มสองด้วย เล่มสามก็ไม่ทำเหมือนสองเล่มนี้ คิดง่าย ๆ พี่ไม่คิดซับซ้อน”

นิยายที่ดีสำหรับวีรพรเป็นแบบไหน ?

เธอนิ่งคิดสักพักแล้วตอบว่า ชอบแบบที่ตัวเองเขียน คือ แน่น ๆ เยอะ ๆ มีดีเทลเยอะ อ่านได้หลายครั้ง ซึ่งการอ่านใหม่แต่ละครั้งอาจจะพบว่าตัวเองพลาดดีเทลอะไรไป “รู้สึกว่ามันค่อนข้างมีชั้นเชิง สนุก”

“ก็ไม่ได้หวังว่ามันจะให้แง่คิดอะไรมาก แต่อย่างน้อย ๆ ที่สุดของเล่มนี้ที่คิดว่าคนอ่านน่าจะได้ก็คือ ความรู้สึกของการเป็นลูกพ่อแม่ไม่รัก และพี่คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำ-สูงค่อนข้างเยอะ คนประเทศนี้ไม่เท่ากัน ดังนั้นพี่คิดว่าเรื่องนี้ควรเป็นเรื่องที่จับใจ และทำให้ผู้คนมองเห็นว่า อย่างน้อย ๆ มันไม่ควรจะเหลื่อมล้ำมากขนาดนี้”

“…แค่มีลูกคนสองคนก็ยังยาก ด้วยเหตุนี้มันถึงมีกฎหมายกำกับเพื่อสิ่งนี้ การสร้างความเท่าเทียมมันต้องเริ่มจากรัฐ ถ้ามันทำง่าย ๆ ก็ดีสิ ถ้าเราทำด้วยความรู้สึก มันไม่ได้อยู่แล้วไง คนมันไม่เท่ากันหรอก แต่กฎหมายต้องช่วยให้อย่างน้อย ๆ ไม่มีช่องว่างมากเกินไป หรือใกล้เคียงกัน …รัฐสวัสดิการค่ะ ประเทศนี้ไม่มีรัฐสวัสดิการค่ะ” นี่คือหนึ่งประเด็นสำคัญที่วีรพรสะท้อนผ่านครอบครัวตระกูลตั้ง ในนวนิยายซีไรต์ ประจำปี 2561