ละครไทยยุคใหม่ เมื่อตบตี-ชิงรักหักสวาทกำลังถูกท้าทาย

พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : เรื่อง

ปรากฏการณ์ #ใครฆ่าประเสริฐ จากละคร “เลือดข้นคนจาง” สร้างความฮือฮาให้กับคอละครไทยเป็นวงกว้าง ทั้งพลอตเรื่อง การตัดต่อ มุมกล้อง ไปจนถึงการวางตัวนักแสดงที่ต่างประชันฝีมือกันอย่างคับคั่ง ชวนให้ผู้ชมติดตามและร่วมเป็นนักสืบไปกับตัวละครทุกสัปดาห์ ซึ่งนาน ๆ ทีเราจะเห็นละครน้ำดีที่สร้างปรากฏการณ์ในสังคม ทั้งในแง่คำชม กระแส เรตติ้งที่มีออกมาให้เห็นบ้างปีละสองสามเรื่องในช่วงหลังมานี้ถือว่าเป็นทิศทางใหม่ หรือ “ทางเลือก” ของผู้ชมละครไทย

เมื่อละครแบบเดิม ๆ กำลังถูกท้าทาย

เดิมทีละครไทยถูกมองว่า น้ำเน่า ซ้ำซาก วนเวียนอยู่กับเรื่องเดิม ๆ ด้วยความที่บทละครส่วนใหญ่พัฒนามาจากนวนิยายที่ให้น้ำหนักถึงความสัมพันธ์ของชาย-หญิง พ่อแง่แม่งอน และไต่ระดับความฮาร์ดคอร์ไปถึงพลอตนางเอกถูกพระเอกข่มเหง แต่ดันลงเอยด้วยการแต่งงานและอยู่กินกันแฮปปี้เอนดิ้ง

เมื่อมีละครมาตรฐานใหม่ ๆ ออกมา และได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ชม อย่างเช่น วัยแสบสาแหรกขาด, บุพเพสันนิวาส, พี่น้องลูกขนไก่ (Side by Side) และล่าสุดกับละครแนวสืบสวนสอบสวนเรื่อง เลือดข้นคนจาง จึงถือว่ากระแสละครผัว ๆ เมีย ๆ แบบเดิมถูกท้าทายไปในตัว

ความสำเร็จของบทละครยุคใหม่นำไปสู่การตั้งคำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังกับการหันมาสรรค์สร้างบทละครที่สดใหม่ควบคู่กับการสอดแทรกข้อคิดและความรู้ให้คนดูมากกว่าการประโคมฉากพระนางล้มทับ นางร้ายวีนแตก หรือแม่ผัวจอมดูถูก

Advertisment

สารตั้งต้นของการทำละครคือ “ความบันเทิง”

เรามาย้อนทำความเข้าใจละครไทยที่ว่าน้ำเน่า ซ้ำซาก ไม่สร้างสรรค์สังคม ในประเด็นนี้ ผศ.ดร.จันทนี เจริญศรี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า เดิมละครไทยสร้างขึ้นมารองรับผู้ชมที่เป็นผู้หญิง จึงมักหยิบเรื่องใกล้ตัวที่ละครและคนดูสามารถเชื่อมโยงกันได้ง่าย อย่างความสัมพันธ์ในครอบครัว หรือเรื่องราวดราม่าระหว่างชาย-หญิง ต่างจากประเทศญี่ปุ่นที่มีการนำเสนอภาพชีวิตการทำงานค่อนข้างเยอะ สอดคล้องกับสภาพสังคมของแต่ละพื้นที่นั่นเอง

Advertisment

“จริง ๆ มีการพูดกันพอสมควรว่า เรามองพวกนี้เป็นมหรสพ คือ เป็นความบันเทิง แล้วเราก็ชอบให้เป็นเรื่องจริง แต่ขยายให้เว่อร์นิด ๆ ให้มันน่าจับตา แต่ไม่ได้ถึงกับห่างไกลจากชีวิตประจำวันขนาดนั้น ถ้านึกถึงละครแบบเดิมสมัยยังไม่มีแพลตฟอร์มดิจิทัล มันจะเป็นบริบทการกลับจากออฟฟิศมาที่บ้าน เนื้อหาจึงไม่หนัก ดูสบาย และเกินจริงเพื่อความบันเทิง”

คล้ายกับความเห็นของ ผศ.ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ อาจารย์หัวหน้าภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่บอกว่า วัตถุประสงค์การทำละครตั้งอยู่บนฐานของความบันเทิงเพื่อหลบหลีกความเหนื่อยจากการทำงานในแต่ละวัน การได้ดูฉากที่ตัวร้ายโดนตบหรือถูกลงโทษจากสังคมจึงทำให้ผู้ชมรู้สึกว่า นี่คือสิ่งที่คนชั่วสมควรได้รับ เช่นเดียวกับฉากรักกุ๊กกิ๊ก หรือพลอตเกินจริงชวนฝัน ก็พลอยให้คนดูรู้สึกผ่อนคลาย เกินเอื้อม และสบายตา

การผลิตซ้ำอคติผ่านละคร

หากพิจารณาดูดี ๆ จะพบว่า เนื้อหาความบันเทิงสไตล์ละครไทยมักจะมีการผลิตซ้ำหลายด้าน อาทิ ความรุนแรง ชาตินิยม การเหมารวม (stereotype) รวมไปถึงเรื่องเพศ

ผศ.ดร.จันทนีชวนให้นึกภาพกว้างของละครไทยว่า เนื้อหาส่วนใหญ่มีการผลิตซ้ำอคติทางเพศพอสมควร ทั้งความสัมพันธ์ชาย-หญิง และการสถาปนาชายเป็นใหญ่ ที่มักจะใส่พลอตที่ชูตัวพระหรือผู้ชายในลักษณะ “โทรฟี่” ที่ผู้หญิงต้องแข่งขันเพื่อเอาชนะใจชาย ขณะที่พระเอกอาจจะไม่ได้มีแคแร็กเตอร์

น่าสนใจ ไม่มีบทบาทในการชิงไหวชิงพริบ หรือแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ดี แต่เพราะรูปหล่อ ชาติตระกูลดี จึงตกเป็นที่หมายปองของสาว ๆ

“ถ้าสังเกตดูจะไม่ค่อยมีพลอตผู้หญิงรวย ๆ คู่กับผู้ชายจน หรือถ้ามีต้องมีแม่ที่ออกมาด่าลูกว่า ไม่ได้เลี้ยงมาให้โง่ แม้ทางสังคมวิทยาจะบอกว่า จริง ๆ แล้วชายไม่ได้เป็นใหญ่ ทางอีสานผู้หญิงเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อศึกษาลงไปแล้วก็พบว่า การเป็นผู้รับผิดชอบทางเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้ใหญ่สุด ผู้หญิงจัดการการใช้จ่าย แต่ก็เพื่อจะรองรับความต้องการของใครหรือเปล่า บางบ้านผู้หญิงถือเงิน แต่ผู้ชายเป็นคนบอกว่าจะเอาอะไรบ้าง เหมือนเป็นเหรัญญิกมากกว่า ต้องแบกรับความรับผิดชอบทำทุกอย่างในบ้านให้ครอบครัวมีความสุข”

แม้ว่าบทบาทของผู้หญิงยุคใหม่จะเปลี่ยนไป แต่ละครกลับสร้างภาพหญิงสาวที่ต้องมีความสามารถในการบาลานซ์งานนอกบ้านและงานในบ้านให้ดีทั้งสองด้าน ส่วนตัวละครผู้ชายกลับถูกฉายภาพไม่ต่างจากเดิมที่ยังคงคอนเซ็ปต์ หล่อ-รวย-ชาติตระกูลดีแต่สิ่งที่ผู้จัดละครไทยเริ่มปรับให้เข้ารูปเข้ารอยยิ่งขึ้นก็คือ ภาพลักษณ์ของเพศที่สาม เดิมมีการฉายภาพ

“ตุ๊ดตลก” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนช่วงหลังเกิดกระแสตื่นตัวจากศิลปิน-นักแสดงเพศที่สามออกมาให้ความเห็นว่า การนำเสนอคอนเทนต์ลักษณะนี้คล้ายกับเป็นการยัดเยียดนิยามของพวกเขาว่าจะต้องเป็นคนตลกอยู่เสมอ ในความเป็นจริง ตุ๊ด เกย์ หรือกะเทยก็มีหลายโหมด หลากอารมณ์เหมือนกับชายหญิงทั่วไปเช่นกัน

ละครดีไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ต้องเกิดจากทีมเวิร์ก

ท่ามกลางภาพรวมวงการละครไทยที่ยังไม่หนีจากเนื้อเรื่องและมาตรฐานเดิม ๆ นัก แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า นาน ๆ ทีก็มีละครบางเรื่องที่เกินค่าเฉลี่ยอยู่บ้าง อย่างเช่น บุพเพสันนิวาส ที่ทั้งสนุกและมีสาระ แสดงให้เห็นว่าละครสร้างสรรค์ก็สนุกได้

ผศ.ดร.จันทนีถอดบทเรียนจากบุพเพสันนิวาสว่า หลังจากเรื่องนี้มีหลายค่ายผู้จัดที่พยายามเลียนแบบนำบทประพันธ์อิงประวัติศาสตร์มาสร้างละครพอสมควร ซึ่งอันที่จริงการทำละครไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ตอบโจทย์คนดูในยุคนี้ได้มากที่สุด อาจารย์มองว่าละครในยุคนี้ต้องเป็นความแปลกใหม่ที่ถูกที่ ถูกเวลา ร่วมกับการประชาสัมพันธ์ กระแส เคมีนักแสดง และการดึงประวัติศาสตร์ที่เข้มข้นมาร้อยเรียงให้ง่ายต่อการเข้าถึงผู้ชม

ส่วน ผศ.ดร.สุกัญญากล่าวว่า กระบวนการผลิตเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ใช่แค่ภาพสวย นักแสดงชื่อดัง หรือคู่จิ้นแล้วจะขายได้ เพราะปัจจุบันอัตราการแข่งขันในวงการโทรทัศน์สูงมาก ทั้งช่องทีวีดิจิทัลและการรับชมผ่านแอปพลิเคชั่น ค่ายผู้จัดต้องมีความประณีตตั้งแต่ขั้นตอนการเขียนบท ตัดต่อ

เลือกมุมกล้อง การคัดเลือกนักแสดง (แคสติ้ง) และการฝึกสอนนักแสดงอย่างเอาจริงเอาจัง เมื่อนำทุกอย่างมารวมกันจะทำให้ละครกลมขึ้น เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น

“บุพเพสันนิวาส ได้รับคำชมเยอะมากว่ามีความสมจริง และให้ความรู้ด้านการแพทย์ เรื่องบาปรัก ก็มีการนำข้อกฎหมายมาคุยกัน หรือเรื่อง พรหมไม่ได้ลิขิต เห็นว่านางเอกที่เล่นเป็นพยาบาล ต้องไปเรียนรู้การทำงานของพยาบาลหน้างานจริง ๆ กระบวนการพวกนี้มันแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและการเก็บรายละเอียดทุกเม็ด”

ทิศทางของละครไทยที่เปลี่ยนไป

จากกระแสละครมาแรง “เลือดข้นคนจาง” นับเป็นอีกก้าวสำคัญของวงการละครไทย ผศ.ดร.สุกัญญามองว่า นี่เป็นอีกตัวอย่างให้กับผู้จัดค่ายอื่น ๆ ได้กล้าออกมาทำสิ่งใหม่ ๆ นอกจากจะสร้างความบันเทิงชวนติดตามให้คนดูแล้ว อาจารย์ยังเล่าอีกว่า ทางคณะนิติศาสตร์มีการหยิบบางช่วงบางตอนของละครเรื่องนี้มาใช้เป็น case study ให้นักศึกษาดูวิธีการสืบสวนคดี หรือจุดเล็กจุดน้อยที่ต้องพึงสังเกต ละครจึงไม่ใช่สื่อเพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

“เรื่องอื่น ๆ ที่เราเห็นพัฒนาการอีกก็อย่าง ‘เมีย 2018’ ที่สอดแทรกเรื่องครอบครัวไปด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องผัวเมีย พวกวาทกรรมจากวรรณคดีผู้ชายเมียเยอะแล้วเท่ มันก็ยังฝังอยู่ แต่ก็รู้สึกว่าดีขึ้น เดี๋ยวนี้ไม่มีการพูดว่า ผู้หญิงที่ดีต้องบริสุทธิ์แล้ว สไตล์ดาวพระศุกร์ก็โดนตัดออกไป หรือเรื่อง ‘เหมือนคนละฟากฟ้า’ ก็ไม่มีใครตบกัน นางเอกใช้วิธีโต้ตอบด้วยวาจาโดยไม่มีคำหยาบ มันทำให้ละครดูแพง”

ตรงกับที่ ผศ.ดร.จันทนี ยกตัวอย่างงานวิจัยของนักศึกษาภาควิชาว่า มีการนำละคร “แรงเงา” สองเวอร์ชั่นมาเปรียบเทียบและพบว่า เวอร์ชั่นใหม่ นางเอกเป็นผู้ถูกกระทำน้อยลง เพราะคนดูจะไม่ค่อยทนกับนางเอกที่ถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว

แต่ในส่วนของฉากรักกุ๊กกิ๊ก ผศ.ดร.สุกัญญาเห็นว่า ยังต้องมีอยู่ และไม่เพียงแต่ละครบ้านเราเท่านั้น ซีรีส์จากต่างประเทศทุกแนวล้วนต้องสอดแทรกตรงนี้ไว้เสมอ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างชาย-หญิงเป็นสิ่งที่ยึดโยงกับคนดูได้ง่ายที่สุด

“สุดท้ายมันยังต้องมีเรื่องรักอยู่บ้าง หลายคนที่หนีไปดูซีรีส์ต่างประเทศก็เพราะไม่ชอบตรงนี้ แต่ทุกอย่างมันมีที่มาที่ไปทั้งหมด ผู้จัดเขาก็รู้ อาจจะมีการปรับเปลี่ยนบริบทรอบข้างให้สมจริงขึ้น ลดความรุนแรงพวกฉากตบตีลง แสดงถึงความฉลาดและความเท่าทันของตัวละคร” ผศ.ดร.สุกัญญากล่าว

แม้ว่ากระแสละครมาตรฐานใหม่จะเป็นความท้าทายสำหรับผู้ผลิตละครแบบเดิม แต่จากเรตติ้งที่ผ่านมาพบว่า ละครแนวตบตี-นางร้ายด่ากราด-พระเอกมากชู้ ยังได้รับความนิยมไม่น้อยไปกว่าเก่า สะท้อนให้เห็นตามที่ ผศ.ดร.สุกัญญาบอกว่า “มันมีที่มาที่ไปทั้งหมด ผู้จัดเขาก็รู้”

ฟังแล้วเหมือนจะเป็นคำตอบว่าทิศทางละครไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร ในเมื่อผู้จัดละครรู้หมดทุกอย่าง และมองเห็นความท้าทายแล้วด้วย

เขาจำเป็นต้องปรับต้องเปลี่ยนหรือไม่ ในเมื่อตลาดคนดูกลุ่มเดิมก็ยังมากพอ?