บททดสอบครั้งสำคัญกับการเรียนรู้คุณค่าในองค์กร ของแพม Superrich Thailand

พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : เรื่อง

แพม-สิตามนินท์ สุสมาวัตนะกุล หรือ แพม Superrich Thailand เป็นที่รู้จักในแวดวงสังคมธุรกิจและวงการบันเทิงทั้งในฐานะผู้บริหารคนเก่ง และอดีตภรรยาของท็อป-ณัฐเศรษฐ์ พูลทรัพย์มณี รวมถึงแพมเองยังเคยมีผลงานในวงการบันเทิงมาบ้างแล้วด้วย

ทั้งหมดทำให้ชื่อของแพมได้รับความสนใจจากสังคมอยู่ตลอดเวลา เธอยังได้รับการพูดถึงบ่อย ๆ ว่า เป็นนักธุรกิจไฮโซที่ทุ่มเทเวลาให้กับการทำงานเกือบทั้งหมด เราจึงไม่ค่อยเห็นแพมตามงานสังคมมากนัก แต่ทุกครั้งที่มีการปรากฏตัวบนหน้าสื่อ เธอมักจะได้รับความสนใจเสมอถึงการวางตัว การตอบคำถาม ความเก่งในการบริหารธุรกิจ และสไตล์การแต่งตัวที่สาว ๆ หลายคนยกให้เป็นไอดอลผู้หญิงยุคใหม่เลยก็ว่าได้

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับสาวหมวยสุดเอเลแกนต์คนนี้ ซึ่งปัจจุบันแพมดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาธุรกิจ และเข้ามารับช่วงต่อบริหารอาณาจักรสีเขียวแห่งนี้ย่างเข้าสู่ปีที่ 10 ในวัย 35 ปีพอดิบพอดี ผู้หญิงสวยเก่งครบสูตรคนนี้มีวิธีคิดในการทำงานอย่างไรบ้าง และอะไรทำให้ แพม-สิตามนินท์ รักและทุ่มเทกับครอบครัวสีเขียวของเธอมากขนาดนี้

แพม-สิตามนินท์ เรียนจบจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน เอกโฆษณา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะและสาขาที่เธอออกตัวว่าชอบและสนุก จึงเลือกเรียนสาขานี้ โดยที่ครอบครัวก็ไม่ได้กะเกณฑ์ว่าจะต้องเรียนด้านบริหารธุรกิจเพื่อมารับช่วงต่อแต่อย่างใด แพมไม่ได้ถูกเลี้ยงดูตามแบบฉบับทายาทผู้บริหาร เพราะพ่อแม่เลือกส่งเสริมตามความชอบของลูก ๆ เป็นที่ตั้ง แต่ในที่สุด เธอก็เลือกเรียนต่อปริญญาโทด้าน marketing management มหาวิทยาลัยคิงส์ตัน ประเทศอังกฤษ

แพมบอกว่า ด้วยความที่เธอเห็นสิ่งที่ครอบครัวทำมาตั้งแต่เด็ก ๆ ภาพที่จำได้ทุกครั้งเวลามาหาคุณพ่อคุณแม่ที่ออฟฟิศ คือกองแบงก์พันเป็นตั้ง ๆ หลังจบปริญญาโท เธอจึงตัดสินใจเข้ามาศึกษาการทำงานภายในองค์กเพราะเห็นว่า ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตรามีลู่ทางที่สามารถขยับขยายไปได้อีกไกลมาก และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้แพมต้องปรับสมดุลความคิดอย่างหนักกับปัญหาที่เจอในองค์กร ทั้งความไม่รู้ถึงแก่นของธุรกิจ และปัญหา generation gap ระหว่างพนักงานรุ่นแรก และความคิดของตัวเธอเอง

“แพมเข้ามาบริหารตั้งแต่อายุยังน้อย ปัญหาที่เจอเยอะมากเลย คือ เรื่องของ generation gap ระหว่างพนักงานรุ่นก่อน ๆ เจอเยอะเลยค่ะ เยอะมาก (เน้นเสียง) เราเข้ามาด้วยความใหม่ อายุก็น้อย ประสบการณ์ก็น้อย แต่เราก็มั่นใจว่า เราเรียนมาดี สังคมดี มหา”ลัยดี พอเข้ามาเลยมีไอเดียอยากจะเปลี่ยน อยากทำมาร์เก็ตติ้ง อยากเปลี่ยนโลโก้ อยากทำอันนั้นอันนี้ โดยที่เราไม่ได้ฟังคนที่เขาอยู่มาก่อน แล้วที่นี่มีพี่ ๆ หลายคนทำงานมา 20-30 ปี ซึ่งเขามีความเชี่ยวชาญในงานของเขามาก แล้วเราไม่รู้ คือการที่เราจะไปทำอะไรโดยที่ไม่ได้สื่อสาร มันก็เป็นเรื่องปกติที่เขาจะไม่ยอมรับ เพราะถ้ามันไปด้วยคำสั่ง และยิ่งเป็นคำสั่งที่มาจากความไม่เข้าใจในธุรกิจ และวัฒนธรรมองค์กรด้วย ก็ยิ่งแล้วใหญ่ เลยต้องถอยกลับมาตั้งหลักก่อน”

หลังเจอกับปัญหาที่ว่า แพมได้ปรึกษากับ เจน-ธณัทร์ษริน สุสมาวัตนะกุล พี่สาว ที่เข้ามาบริหารสายงานด้านพัฒนาองค์กรก่อนหน้าเธอประมาณ 1-2 ปี ทั้งสองประสบปัญหาคล้าย ๆ กัน คือ เรื่องของช่วงวัย จนในที่สุดแพมได้เจอกับศาสตร์จิตวิทยาการจัดการ และนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ในองค์กรจนประสบผลสำเร็จ แพมเล่าว่า ตอนที่เข้ามาใหม่ ๆ ด้วยความที่ยังอายุน้อยและมีอีโก้ตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้มองไม่เห็นคุณค่าที่คนรุ่นก่อน ๆ สร้างมา แต่เมื่อได้เรียนศาสตร์วิชานี้ เธอก็สามารถปรับวิธีคิดจนเจอกับตรงกลางที่เชื่อมโยงระหว่างคุณค่าจากคนรุ่นแรก และชุดความรู้ของคนรุ่นใหม่ได้

“เราเข้ามาเจอรุ่นที่เป็นเจนเบบี้บูมเมอร์ ยุคที่เขาเจ๋งจริงด้วยประสบการณ์หลายสิบปี แต่วิธีการคุย ชุดความคิด มุมมองชีวิตอะไรมันก็ต่างกัน พอได้เทรนได้ศึกษาจิตวิทยา เราก็เข้าใจ value ในประสบการณ์ของเขาที่เราสามารถเรียนรู้ได้ ส่วนรุ่นแรกเอง เขาก็ value ในความสามารถการจัดการ พลังความรวดเร็ว หรือเทคโนโลยีที่น้อง ๆ ก็แชร์ให้พี่ ๆ ฟังได้เหมือนกัน มันเลยเกิดการแชร์ความรู้ระหว่างเจเนอเรชั่น คุยกันมากขึ้น ฟังกันมากขึ้น ก็ไม่มีความขัดแย้ง แพมว่าความคิดของคนรุ่นเก่า ถ้าเราฟังมันจะมีอะไรบางอย่างที่เป็นจุดสำคัญ คือเราอาจจะไม่ได้รับว่าเขากำลังสอน ตำหนิ หรือเตือน แต่ต้องจับแก่นของ message อันนั้นให้ได้ว่ามันคืออะไร แล้วเราเอาไปใช้ได้ คือคนรุ่นนี้เขากลั่นกรองมาด้วยประสบการณ์ และการใช้ชีวิตที่เขาเห็นจากประสบการณ์จริง ถ้าเราสามารถประกอบความรู้จากประสบการณ์ของเขา บวกกับความรู้ในเรื่องระบบ เทคโนโลยี หรือความรู้ในโลกปัจจุบัน มันจะเป็นรากฐานที่มั่นคงในการพัฒนาต่อไป”

คุยไปคุยมา ก็เริ่มเห็นแพมน้ำตารื้นในจังหวะที่เธอพูดถึงพนักงานในองค์กร เธอบอกว่า ระหว่างตัวเธอและพนักงานในองค์กรต้องสามารถ on call กันได้ตลอด คือไม่ว่าจะวันเวลาไหน หากพนักงานมีเรื่องที่ต้องการความช่วยเหลือหรือคำปรึกษาก็สามารถโทร.หากันได้ทุกเมื่อ กระทั่งตอนที่เธอกำลังจะเข้าไปอาบน้ำ หากเป็นเบอร์พนักงานโทร.มา ต้องรับสายก่อน เพราะเขาอาจต้องการการซัพพอร์ตจากคำปรึกษาของเธอจริง ๆ

แม้ในระดับปริญญาตรีจะไม่ได้เรียนมาทางธุรกิจ แต่แพมบอกว่า ตั้งแต่เรียนจบมาก็ไม่เคยคิดที่จะลองทำอย่างอื่นเลย เพราะเห็นคุณค่าของสิ่งที่ครอบครัวและพนักงานร่วมกันสร้างขึ้นมา เพราะองค์กรทั้งระบบไม่สามารถเดินหน้าไปได้ด้วยตัวของเธอ หรือผู้บริหารเพียงคนเดียวหากไม่มีพนักงานทุกคนก็ไม่สามารถรันทุกอย่างต่อไปได้

“แพมไม่ได้นึกถึงการทำอาชีพอื่น ๆ เลย เหมือนเรามองเห็นคุณค่าในธุรกิจจากที่เขาก่อสร้างมา เราเห็นคนที่ทำงาน เราเห็นพนักงานภายในที่เขาตั้งใจทำงาน ซึ่งก็เป็นความท้าทายในการลุกขึ้นมาทำงานทุกวันเหมือนกัน เป็นธรรมดาที่เราอยากจะนอนตื่นสาย หรืออยากจะสบาย ๆ บ้าง มันก็ต่อสู้กับตัวเองทุกวันเหมือนกันนะว่า วันนี้เราตื่นขึ้นมาแล้ว ตัวเราเองจะเลือกเป็นประโยชน์อะไรให้กับองค์กรได้บ้าง หรือเราจะเลือกเป็นประโยชน์ยังไงให้พนักงานคนไหนในออฟฟิศได้บ้าง เพราะเขาทำงานให้เรา ให้องค์กร เหมือนกับว่าเราต้องขอบคุณเขา (น้ำตารื้น) เราเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราสร้างมา และสิ่งที่เขาสร้างให้เนี่ย เราทำคนเดียวไม่ได้อยู่แล้ว ธุรกิจมันจะเติบโต มันไม่ได้ไปด้วยคนคนเดียว แพมก็เห็นว่าพวกเขาเป็นครอบครัวเราครอบครัวหนึ่งเลยแหละ เป็นครอบครัวสีเขียวที่กำลังใหญ่ขึ้น เติบโตขึ้น จากที่เริ่มมาไม่กี่สิบคน จนวันนี้ที่มีกัน 200 กว่าคน 14 สาขาแล้ว”

เมื่อถามว่า เวลาเจอปัญหาหนัก ๆ เธอได้มีการปรึกษากับคุณพ่อคุณแม่บ้างหรือไม่ แพมบอกว่า ในช่วงแรก ๆ ที่เข้ามาทำธุรกิจ เธอคุยกับพี่สาวเพียงคนเดียวเท่านั้น เพราะเมื่อไปปรึกษาพ่อแม่ แพมบอกว่า ด้วยความเด็กเธอแยกเส้นบาง ๆ ระหว่างพ่อแม่และผู้บริหารไม่ออก บางครั้งไปปรึกษาแล้วพ่อแม่ไม่เห็นด้วย หรือได้รับฟีดแบ็กไม่ดี จึงกลายเป็นการคุยด้วยอีโมชั่นมากกว่าการใช้เหตุผล แต่เมื่อโตขึ้น เรียนรู้มากขึ้น ทำให้เธอเข้าใจและแยกแยะออกว่า เธอเองก็มีสิทธินำเสนอไอเดีย ส่วนพ่อแม่ก็สามารถปฏิเสธได้เหมือนกัน คือต้องมองให้ลึกซึ้งถึงแก่นมากขึ้นว่า หากตัดสินใจแบบนี้จะส่งผลกับองค์กร ลูกค้าหรือพนักงานอย่างไรบ้าง ซึ่งสิ่งที่คุณพ่อสอนเธอมาตลอดก็คือ การทำธุรกิจต้องตรงไปตรงมา และความตั้งใจตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทที่อยากจะให้ลูกค้าได้เรตที่ดีที่สุด

เธอบอกด้วยว่า การทำธุรกิจต้องเจอปัญหาทุกวันอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับตัวเราเองมากกว่าว่า จะรับสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาหรือเปล่า

“เราก็รับปัญหาว่าเป็นเรื่องท้าทาย ทดสอบศักยภาพเรา ถ้าเราไม่ผ่านก็แปลว่าคุณภาพเรายังไม่พอ เราจะต้องทำยังไง เพิ่มสกิลไหนเข้าไป ถ้าเราผ่านได้ก็จะมีโจทย์ที่ใหญ่ขึ้นเข้ามาอีก” แพมเสริมต่อ

เห็นเป็นเวิร์กกิ้งวูแมนทำงานตลอดแบบนี้ แต่หากมีเวลาว่าง แพมมักจะใช้เวลาพักผ่อนไปกับการท่องเที่ยวมากที่สุด ทั้งเที่ยวแบบสบาย ๆ และแนวลุย ๆ แอดเวนเจอร์หน่อย เธอบอกว่า การท่องเที่ยวทำให้ได้เจอกับพลังงานของคนและบรรยากาศที่แตกต่างกัน ซึ่งหลายครั้งก็ทำให้เธอได้เรียนรู้จากประสบการณ์เหล่านั้นด้วย

สำหรับก้าวต่อไปของ Superrich Thailand หรือ “ซุปเปอร์ริชสีเขียว” ภายใต้การนำของผู้หญิงเก่งคนนี้ เธอบอกว่า ตอนนี้มีแพลนที่จะเปิด flagship store แห่งใหม่ที่มีเทคโนโลยีตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น รวมถึงการให้ความสำคัญกับศักยภาพของ “human power” แพมบอกว่า แม้ปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีล้ำ ๆ ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ก็ต้องยอมรับว่า หลาย ๆ ครั้งเทคโนโลยีก็ยังไม่เสถียรมากนัก หลังบ้านซุปเปอร์ริชสีเขียว จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมของระบบ manual เพื่อให้ลูกค้าได้รับการบริการตามที่ตั้งใจมา