“ผี” ในวัฒนธรรมสากล จากความเชื่อ สู่วิถีชีวิต-ธุรกิจ และความบันเทิง

ธนพงศ์ พุทธิวนิช : เรื่อง

“ความเชื่อ” ว่าด้วยเรื่องเหนือธรรมชาติ วนเวียนในสังคมมนุษย์มาตั้งแต่โบราณกาล จนถึงวันนี้ก็ยังปรากฏอยู่ หากมองลึกไปกว่านั้น พัฒนาการความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเหนือธรรมชาติ โดยเฉพาะ “ผี” ในแต่ละวัฒนธรรมและยุคสมัยไม่ได้หยุดนิ่ง มันเคลื่อนที่ไปควบคู่กับสังคมเมืองและท้องถิ่น


เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของมนุษย์คือ มักพยายามหาคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้ตัวเองและศึกษาสิ่งที่อยู่นอกเหนือองค์ความรู้ที่มีอยู่ ดังนั้น วัฒนธรรมสำรวจ-ค้นหา “ผี” จึงเป็นหนึ่งในปมปริศนาอีกมหาศาลซึ่งมนุษย์กำลังค้นหาคำตอบอยู่

ประเด็นที่น่าคิดคือ ท่ามกลางวัฒนธรรมสำรวจ-ค้นหาสิ่งเร้นลับนี้ รูปแบบการค้นหานำไปสู่อะไรได้บ้าง บุคคลที่ทำกิจกรรมเหล่านี้มีที่ทางอย่างไรในสังคมทั่วไป กรอบในการทำกิจกรรมเหล่านี้ถูกขีดเส้นไว้แค่ไหน อย่างไร และที่สำคัญคือ การค้นหาเหล่านี้ลงเอยที่จุดไหน

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ชวนสำรวจวัฒนธรรมการค้นหาปริศนาอันดำมืดที่สุดอีกอย่างหนึ่งของมนุษยชาติ อย่างเรื่อง “ผี” โดยมองในกรอบสากล ว่ากิจกรรมเหล่านี้มีความเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง

พื้นฐานของ “ผี” และบทบาทอันหลากหลาย

ดังที่เกริ่นว่า ความเชื่อเรื่อง “ผี” หรือ “วิญญาณ” อยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่โบราณกาล แต่ละภูมิภาคมีมุมมองความเชื่อเรื่องโลกหลังความตายแตกต่างกัน ในทางวิชาการมีการวิเคราะห์เชื่อมโยงกับคำว่า “ความศักดิ์สิทธิ์” หรือในนิยามเชิง “ศาสนา” ประเด็นที่น่าคิดอย่างหนึ่งคือ “ผี” มีบทบาทในสังคมหลายรูปแบบ ทั้งในเชิงอำนาจหรือความศักดิ์สิทธิ์

มีข้อสังเกตว่า “ผี” เชื่อมโยงกับ “อำนาจ” บางประการ ดังที่ อานันท์ นาคคง ผู้ศึกษาด้านมานุษยวิทยาดนตรีชาติพันธุ์ กล่าวในการเสวนา “พลังสตรี ผี เฮี้ยน” จัดโดย Thai PBS ว่า “เราศรัทธา เรานับถือ เรายำเกรง เรากลัว อำนาจมีบทบาทในการควบคุมความคิดและพฤติกรรมผู้คน อำนาจมีบทบาทในการกำหนดวิถีชีวิตประเพณี ผีถูกเอามาใช้ในเรื่องของการสร้างอำนาจ การแสดงอำนาจ ส่วนอำนวยนั้นเป็นเรื่องการติดสินบนผี เราอยากได้อะไรเราก็วิงวอนขอร้องผี เราอยากได้อะไรเราก็เอาอกเอาใจผี และก็เป็นเพื่อนกับผี”

เมื่อ “ผี” มีบทบาทในเชิงอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ไปพร้อม ๆ กัน พื้นฐานเรื่องนี้จึงนำมาสู่ “ผี” ในสถานะ “เครื่องมือ” บางอย่าง ตั้งแต่กิจกรรมและนโยบายเชิงโครงสร้างทางการเมือง (ในสมัยก่อน) ไปจนถึงหน่วยย่อยอย่างเรื่องวิถีชีวิตประจำวัน ศาสนา (วาติกันมีบันทึกและคอร์สการประกอบพิธีไล่ผี แต่ในยุคหลังเริ่มมีการอัพเดตระเบียบโดยเฉพาะการแยกแยะพฤติกรรมที่จะถูกพิจารณาว่าเป็น “การเข้าสิง” หรือเป็นอาการ “ผิดปกติทางจิต”) ธุรกิจ ไปจนถึงแง่มุมการเติมเต็มความบันเทิงของมนุษย์

เส้นทางการล่า “ผี”

นอกเหนือจากวัฒนธรรมความเชื่อที่แปรเปลี่ยนไปสู่ธรรมเนียมและประเพณีอันปรากฏตั้งแต่ท้องถิ่นไปจนถึงระดับโลกแล้ว ความเชื่อและความสงสัยอยากรู้อยากพิสูจน์ตามธรรมชาติของมนุษย์ยังแปรเปลี่ยนเป็น “อาชีพ” ด้วย

หากสืบค้นไปนอกเหนือจากกิจกรรมในไทย กิจกรรมค้นหา “ผี” ปรากฏในหลายพื้นที่ไม่เว้นแม้แต่ประเทศมหาอำนาจของโลก แต่ประเด็นที่น่าพูดคุยต่อไปคือ “ระเบียบวิธี” ในการดำเนินการ ซึ่งมีหลากหลายกว่าแค่ค้นหาเพื่อเป้าหมายในแง่ทางจิตวิญญาณ หรือความบันเทิง ความหลากหลายที่ว่าครอบคลุมไปถึงแง่มุมเชิงวิทยาศาสตร์ไม่มากก็น้อย

หากกล่าวถึงในแง่ระบบคิด กระบวนการค้นหาและทำความเข้าใจสิ่งเหนือธรรมชาติแบบเป็นระบบ เชื่อกันว่าเริ่มก่อตัวตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 และขยายตัวมากขึ้น ตัวอย่างหนึ่งในยุคแรก ๆ คือองค์กรในสหราชอาณาจักร

ที่เรียกกันว่า Society for Psychical Research (SPR) หรือ “สมาคมเพื่อการวิจัยเกี่ยวกับจิต-วิญญาณ” เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ดำเนินการภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางจิตหรือสิ่งที่เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ เริ่มก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1882 งานช่วงแรก ๆ ขององค์กรครอบคลุมถึงการสอบสวนเคสเหนือธรรมชาติอย่างเรื่องคนที่อ้างว่าติดต่อกับวิญญาณได้ การสอบสวนเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่อยู่เหนือการอธิบายของวิทยาศาสตร์นำมาสู่การเปิดโปงผู้หลอกลวงหลายราย

สภาพขององค์กรในยุคนั้นมีบางส่วนชวนให้นึกถึงสภาพในยุคดิจิทัล เมื่อการเปิดโปงนำมาซึ่งความไม่พอใจของกลุ่มที่เชื่อเรื่องผีและวิญญาณ สมาชิกในองค์กรหลายรายลาออกไปเข้าร่วมกับภาคีกลุ่มคนทรงหรือผู้เชื่อในเรื่องภูตผีปีศาจในช่วง ค.ศ. 1884 และยังมีวิวาทะเรื่องอคติเกี่ยวกับความเชื่อทางวิญญาณตามมาอย่างต่อเนื่องจนถึงศตวรรษที่ 21 ด้วยซ้ำ

“ล่าผี” และการแปรรูปยุควัฒนธรรมร่วมสมัย

วัฒนธรรมการสืบค้นและตามล่าสิ่งเหนือธรรมชาติ ปรากฏการณ์ก่อตัวขึ้นในสหรัฐอเมริกาด้วย และเป็นกลุ่มที่ถูกตั้งคำถามเช่นกัน ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา บุคคลที่เป็นที่รู้จักกันในแวดวงตามล่าปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติคือ คู่สามี-ภรรยา เอ็ด วอร์เรน และลอร์เรน วอร์เรน (Ed Warren และ Lorraine Warren)

สามี-ภรรยาคู่นี้กล่าวอ้างว่า ได้สอบสวนเคสเรื่องเหนือธรรมชาติจำนวนมาก และโด่งดังจากบ้านผีสิงย่านชานเมืองของนิวยอร์ก ซึ่งเป็นที่รู้จักในเคส “The Amityville Horror” อย่างไรก็ตาม สามี-ภรรยาคู่นี้ก็ถูกวิจารณ์เรื่องน้ำหนักของหลักฐานและความน่าเชื่อถือของอุปกรณ์ที่นำมาใช้กล่าวอ้างในรายงานการสอบสวนของพวกเขา หนำซ้ำยังถูกโจมตีว่าเรื่องราวอันน่าสยองขวัญซึ่งเล่าขานกันต่อมาเป็นเรื่องที่ถูกปั้นแต่งขึ้นมากกว่า

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง ต้องยอมรับว่า “เรื่องราว” ตามความเชื่อของกลุ่มคนเหล่านี้มีโครงเรื่องที่น่าสนใจสำหรับคนที่ค้นหาเรื่องราวไปแปรรูปเป็นสื่อหมวดต่าง ๆ และหมวดที่ทำเงินได้มหาศาลก็คือ หมวดบันเทิง เรื่องราวของทั้งคู่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ The Conjuring กวาดรายได้ทั่วโลกราว 319 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กิจกรรมเกี่ยวกับการสืบเสาะค้นหาเรื่องเหนือธรรมชาติยังถูกนำไปผลิตเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมไม่แพ้สื่อบันเทิงอื่น ๆ อย่างรายการล่าผีซึ่งโด่งดังยาวนานก็คือ Ghost Hunters

โดยภาพรวมแล้วคำที่น่าจะใกล้เคียงสำหรับการเรียกเรื่องราวเหล่านี้คงจะเป็นคำว่า “ตำนาน” เสียมากกว่า พอเอ่ยคำว่า “ตำนาน” สิ่งที่คนนึกถึงควบคู่กับไปตัว “ผี” ย่อมเป็น “สถานที่”

สถานที่เป็นสิ่งที่ผูกโยงเข้ากับตำนานอย่างแยกกันไม่ออก หลายทศวรรษมานี้มีสถานที่ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่อง “ความสยองขวัญ” ต่าง ๆ นานา เดิมทีเสียงเล่าลือทำให้ผู้คนทั่วไปหลีกหนี ไม่กล้าเข้าใกล้ แต่ดังที่เกริ่นไว้ว่า ธรรมชาติของมนุษย์อย่างหนึ่งคือ การตั้งข้อสงสัย มีคนจำพวกหนึ่งที่นิยมค้นหาคำตอบ ยิ่งมีคนหนีห่างยิ่งต้องพิสูจน์ความจริง สถานที่เหล่านี้จึงกลายเป็นแหล่งกิจกรรมของเหล่านักล่าผี

ทำธุรกิจจากเรื่องผี เล่าเรื่องเก่ง ยิ่งดึงดูด (ผลประโยชน์)

ทั่วโลกมีสถานที่ซึ่งเป็นแหล่งลี้ลับอันมาพร้อมกับเรื่องราวว่าด้วย “ผี” บางแห่งผูกโยงกับความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพบูชาจากคนท้องถิ่น จึงอาจไม่ค่อยยินดีนักหากมีกลุ่มคนเข้ามาทำกิจกรรมสืบเสาะค้นหาพิสูจน์สิ่งเหนือธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม บางสถานที่ซึ่งไม่ได้เป็นแหล่งสักการะบูชาหรือเชื่อมโยงกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างมีนัยสำคัญอาจยินดีที่มีผู้คนให้ความสนใจ สถานที่ เช่น “คุก” ดูจะเข้ากับไอเดียนี้ทีเดียว

ในอังกฤษ มีคุกชื่อดังที่เรียกกันว่า “เชปตัน มาลเลต์” (Shepton Mallet Prison) เชื่อว่าสร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ไม่เพียงขึ้นชื่อเรื่องความเก่าแก่และใช้การมายาวนานจนถึงศตวรรษที่ 21 สะสมชื่อเสียงเรื่องความสยองขวัญ เมื่อเลิกใช้งานและแปรสภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยว ไฉนจะเปิดให้แค่เยี่ยมชมแบบธรรมดาทั่วไป พวกเขาแปรคุกแห่งนี้เป็นสถานที่สำหรับเหล่านักล่าผี โดยจัดโปรแกรมพิเศษให้ผู้สนใจเข้ามานอนค้างในอาคารเก่าแก่ของเรือนจำ ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความสยองขวัญได้ 12 ชั่วโมง ช่วงเวลาที่พำนักในตัวอาคารแบบชั่วคราวยังเลือกจะพักผ่อนในห้องขัง (ไม่ได้ล็อก) หรือจะออกหาประสบการณ์ลี้ลับเหนือธรรมชาติตามใจก็ได้

สถานที่เหล่านี้ย่อมมีสิทธิสร้างกิจกรรมใด ๆ ก็ได้ตราบใดที่ยังอยู่ในกรอบระเบียบทางกฎหมายและไม่ได้ละเมิดสิทธิ ล่วงเกินความเชื่อความศรัทธา หรือสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ใคร สำหรับกิจการบางประเภทแม้พวกเขาไม่ได้ตั้งใจหากินกับเรื่องสายนี้ แต่ก็ได้รับอานิสงส์ไปด้วยก็มี หนึ่งในธุรกิจซึ่งเป็นที่ครหามากที่สุดแต่อาจไม่ค่อยมีคนหยิบยกมาพูดถึงเท่าไหร่คือ ธุรกิจจำพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

บริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งในนิวยอร์กเคยผลิตอุปกรณ์ตรวจจับ EMF หรือสนามแม่เหล็กไฟฟ้าขนาดเท่ารีโมตทีวี และกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่โด่งดังที่สุดของบริษัทโดยไม่คาดฝัน เมื่อเจ้าเครื่องนี้ถูก แกรนต์ วิลสัน (Grant Wil-son) นักล่าผีที่เป็นผู้ดำเนินรายการ Ghost Hunters นำไปใช้ในรายการ และอ้างว่าอุปกรณ์นี้เป็นสิ่งที่ “นักสืบสวนปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติใช้ตรวจวัดค่าโดยเฉพาะ” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเจ้าเครื่องวัดค่า EMF นี้ก็กลายเป็นอุปกรณ์ที่มีฟังก์ชั่นแฝงอีกประการนั่นคือ “ตรวจจับผี”

ไม่เพียงแค่เครื่องของบริษัทที่ปรากฏในรายการ เครื่องวัดค่า EMF ทั้งหลายแทบกลายเป็นอุปกรณ์ในชุดยุทโธปกรณ์สำหรับนักล่าผีไปโดยปริยาย หากสำรวจจากความนิยมในอีคอมเมิร์ซ จะพบว่า 2 ใน 3 ของอุปกรณ์สาย EMFที่ติดอันดับขายดีที่สุดในเว็บ Amazon มีคำบรรยายสรรพคุณว่า “เครื่องตรวจจับผี” ด้วย นี่ยังไม่นับรวมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีคุณสมบัติใช้สอยอีกแบบ อย่างเช่น อุปกรณ์อัดเสียงที่เอาไว้ตรวจจับสิ่งที่เรียกว่า EVP (electronic voice phenomena) ก็ถูกนักล่าผีนำไปอัดเสียงตัวเองมาฟังย้อนหลัง โดยตรวจหาว่ามีเสียงแปลกปลอมแทรกเข้ามาหรือไม่

เวลาผ่านมาหลายทศวรรษในยุคดิจิทัลและโลกของอินเทอร์เน็ต สภาพเหล่านี้ยังคงปรากฏวนเวียนเช่นเดิม เพียงแปรรูปไปอยู่ในฟอร์มอื่น อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปค้นหาและสังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดในภูมิภาคอื่น เราอาจเห็นพัฒนาการหรือหลักคิดบางประการที่แตกต่างออกไปบ้าง

คนบางกลุ่มเลือกที่จะค้นหาคำตอบของปริศนาเกี่ยวกับเรื่องเหนือธรรมชาติที่วิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายได้ด้วยระเบียบวิธีแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งพิสูจน์กันได้ด้วยหลักเหตุผลมากกว่าข้อมูลความเชื่อหรือ “ตำนาน” หรือหากเป็นสถานที่เราจะเห็นแนวคิดเรื่องการจัดระเบียบ หาที่ทางและแปรรูปกิจกรรมที่เคยทำกันแบบตัวใครตัวมัน หรือบางทีก็หลบ ๆ ซ่อน ๆ ถูกจัดระเบียบและจัดระบบในแบบ “ธุรกิจ” เรียกได้ว่าไม่ก้าวก่ายความเชื่อกัน และวางเส้นกรอบให้กับการทำกิจกรรมแบบเป็นรูปธรรม


เชื่อว่ากิจกรรมลักษณะนี้คงยังปรากฏวนเวียนอยู่ในอนาคต ตราบใดที่เรื่องนี้ยังไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายทางวิทยาศาสตร์ได้แบบครบถ้วนสมบูรณ์ น่าจับตาดูว่ากิจกรรมนี้จะก้าวไปสู่รูปแบบใดได้อีกบ้าง