ปรียนาถ สุนทรวาทะ แม่ทัพผู้ยอมสละชีวิตครอบครัวเพื่อปลุกปั้น “บี.กริม เพาเวอร์”

 รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง สมจิตร ใจชื่น : ภาพ

บี.กริม เพาเวอร์ ชื่อนี้เป็นชื่อบริษัทที่มีชื่อเสียงและเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เป็นผู้เล่นรายสำคัญในธุรกิจโรงไฟฟ้า ซึ่งในความสำเร็จของบริษัทรายได้ 4 หมื่นล้านแห่งนี้ มีความพยายามและความทุ่มเทของผู้หญิงคนหนึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญตั้งแต่วันเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ผสานเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันจนแยกจากกันไม่ออก

…ใช่ค่ะ ผู้หญิงคนนั้นคือ ปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) แม่ทัพผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการหาเงิน และบุกเบิกธุรกิจพลังงานให้กับกลุ่มบริษัท บี.กริม

ปี 2535 ปรียนาถ สุนทรวาทะ เพิ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน กลุ่มบริษัท บี.กริม ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท บี.กริม มีความคิดจะทำธุรกิจโรงไฟฟ้า หลังจากที่รัฐบาลเพิ่งเปิดให้เอกชนผลิตไฟฟ้าได้ไม่กี่ปี

โดยตำแหน่งซีเอฟโอ ปรียนาถจึงต้องเป็นคนหาเงินสำหรับเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ซึ่งกว่าจะก่อตั้งธุรกิจโรงไฟฟ้าให้เป็นรูปเป็นร่างได้นั้น เธอใช้คำว่า “เจอของแข็ง”

ปรียนาถเล่าให้ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ฟังว่า เธอเข้ามาในตอนที่กลุ่มบริษัท บี.กริม ยังไม่ได้ใหญ่โตและแข็งแกร่งนัก เข้ามาไม่นานก็เจอกับวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่ง บี.กริมได้รับผลกระทบหนักมาก เพราะก่อนหน้านั้น บี.กริม แตกบริษัทออกไปทำธุรกิจหลากหลาย มีการกู้เงินดอลลาร์มาลงทุนเยอะ บวกกับธุรกิจหลัก ๆ เป็นการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาขายในไทย พอมีการลอยตัวค่าเงินบาท บี.กริม จึงอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากมาก

ปรียนาถบอกว่า วิกฤตต้มยำกุ้งคือ วิกฤตครั้งที่ 2 จากทั้งหมด 3 วิกฤต ในชีวิตที่เธอเคยเจอ

“ในฐานะซีเอฟโอทำงานหนักมาก นั่นเป็นวิกฤตครั้งที่ 2 ของชีวิต ตอนนั้นมีลูก 2 คนเล็ก ๆ (เริ่มเสียงสั่นเครือ) ด้วยความไม่มีเวลาให้ครอบครัวเลย ก็ทำให้ต้องหย่ากับสามี มันเป็นช่วงเดียวกันที่เจอวิกฤตทั้งเรื่องงาน และเรื่องที่บ้าน”

เรามักได้ยินว่า ครอบครัวสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด แต่ ณ เวลานั้น ปรียนาถก็มีเหตุผลของเธอที่เธอทุ่มเทกับ บี.กริม ซึ่งฟังแล้วก็เห็นถึงความรับผิดชอบและความเสียสละอย่างยิ่งของผู้หญิงคนนี้

“ตอนนั้นสงสารลูกมากเลย แต่ถ้าถามว่าสงสารตัวเอง หรือเสียดายชีวิตครอบครัวหรือไม่ ก็ไม่ขนาดนั้น เพราะรู้สึกว่าในภาระที่ต้องรับผิดชอบในตอนนั้น ถ้าเราไม่ทำก็จะมีคนตกงานจำนวนมาก คนใน บี.กริม ก็น่ารักมาก มีลอยัลตี้ต่อเจ้าของสูงมาก เขาก็ยอมลดเงินเดือน”

ในความหนักหนาสาหัสที่ต้องเผชิญตอนนั้น อีกด้านหนึ่งวิกฤตต้มยำกุ้งทำให้ บี.กริม รู้ว่าธุรกิจแบบไหนเหมาะที่จะเก็บไว้ ธุรกิจแบบไหนเหมาะที่จะทิ้งไป ซึ่งธุรกิจโรงไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่บริษัทหมายมั่นจะให้เป็น core business

ธุรกิจโรงไฟฟ้าภายใต้ชื่อ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด เริ่มต้นในช่วงเวลายากลำบาก แต่ปรียนาถและชาว บี.กริม ก็ทำได้สำเร็จ สามารถตั้งโรงไฟฟ้าโรงแรกและเปิดดำเนินการผลิตได้ในปี พ.ศ. 2539

พอตั้งโรงไฟฟ้าสำเร็จ ปรียนาถก็ได้รับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด เพิ่มอีกตำแหน่งหนึ่ง เธอจึงเป็นซีอีโอคนแรกและคนเดียวของ บี.กริม เพาเวอร์ ตลอดระยะเวลา 24 ปี

หลังจากเปิดโรงไฟฟ้าโรงแรก บี.กริม เพาเวอร์ ก็ประสบความสำเร็จเรื่อยมา จนถึงตอนนี้มีโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วเกือบ 50 โรง มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 2,896 เมกะวัตต์

ปรียนาถพา บี.กริม เพาเวอร์ เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อปี 2560 ด้วยราคา 16 บาท/หุ้น ผ่านมา 3 ปี เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 50 บาท/หุ้น

รายได้ 70% ของกลุ่มบริษัท บี.กริม มาจาก บี.กริม เพาเวอร์ เมื่อปี 2562 บี.กริม เพาเวอร์ ปิดงบการเงินแบบสวย ๆ ด้วยรายได้ 4.4 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 20.6% จากปีก่อนหน้า โดยมีกำไรสุทธิจากงบการเงิน รวม 3,977 ล้านบาท และกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 2,331 ล้านบาท

สำหรับวิกฤตโควิด-19 ในปีนี้ ปรียนาถมองว่า เป็นวิกฤตครั้งที่ 3 ที่เธอเจอ แต่ครั้งนี้ บี.กริม เพาเวอร์ ไม่เดือดร้อนเลย เพราะมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง และยอดขายไม่ลดลง ไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ

จะเห็นว่าความสำเร็จของ บี.กริม เพาเวอร์ ก็คือความสำเร็จของปรียนาถอย่างแยกจากกันไม่ออกจริง ๆ

คุณผู้อ่านสงสัยไหมว่า ผู้หญิงคนนี้เป็นใคร มาจากไหน ทำไมเธอเก่งอย่างนี้

ปรียนาถเล่าปูมหลังของตัวเองให้ฟังว่า เธอเป็นชาวจังหวัดเพชรบุรี มาจากครอบครัวชนชั้นกลาง คุณแม่เป็นลูกสาวเจ้าเมืองเพชรบุรี คุณพ่อรับราชการครูก่อนจะเรียนต่อแล้วได้เป็นทนายความ และทำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นด้วย

เธอบอกว่าตัวเองเป็นเด็กเรียนเก่ง มีชีวิตตามแพตเทิร์นในสมัยนั้น คือเรียนจบมัธยมที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แล้วเรียนปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ภาควิชาการธนาคารและการเงิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ภาควิชาบริหารธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปรียนาถไม่รู้ว่าตัวเองอยากเป็นอะไร รู้แต่ว่าสังคมบอกว่า คนเก่งต้องเรียนแพทย์ ตอนเอนทรานซ์ เธอจึงเลือกคณะแพทย์เกือบทั้งหมด แต่ไม่ติด แล้วติดคณะบัญชีที่ลงห้อยท้ายไว้ พอมาเรียนและทำงานจึงรู้ว่าตัวเองชอบอะไรบางอย่างเกี่ยวกับงานบัญชี

“ไม่ได้ชอบวิชาหลักการบัญชีเท่าไหร่ แต่ชอบวิธีการที่มันตรงกับนิสัยเรา คือ ต้องตรงไปตรงมา ที่บ้านเราเป็นอย่างนั้น คือพูดตรง ๆ ทำอะไรตรง ๆ accountability สูง ชอบทุกอย่างที่ถูกต้อง ที่บ้านเราเป็นแบบนี้หมดเลย คุณพ่อเป็นทนายความ เช้า ๆ เราก็ได้ยินพ่อคุยกับลูกความที่ถูกนายทุนโกง คุณพ่อก็อินมากกับความถูกต้อง หนังสือพิมพ์ก็แนวนี้ ก็เลยรู้สึกว่าที่จริงเราชอบแบบนี้”

ปรียนาถบอกว่า ตัวเองเป็นเด็กในโอวาท ไม่กล้าแสดงออก ไม่ได้มีความกล้าหาญไปกว่าเด็กทั่วไปเลย จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์สำคัญที่เธอเรียกว่า “เป็นวิกฤตครั้งแรกในชีวิต” ในช่วงที่เธอเพิ่งเรียนจบปริญญาตรี คุณพ่อของเธอถูกผู้มีอิทธิพลสังหารเสียชีวิต เนื่องจากคุณพ่อว่าความให้ชาวบ้านที่โดนเอารัดเอาเปรียบ จนไปขัดขาผู้มีอิทธิพลเข้า จึงโดนยิงเสียชีวิตตอนกลางวันแสก ๆ

การสูญเสียคุณพ่อทำให้ปรียนาถแกร่งขึ้น เธอซึ่งเป็นลูกสาวคนโต ต้องลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในการสู้เพื่อความเป็นธรรมของครอบครัว และเป็นกำลังใจให้แม่

จากที่คิดอยากไปเรียนปริญญาโทที่เมืองนอก เธอต้องหางานทำทันทีที่ขาดผู้นำครอบครัว แล้วเรียนต่อโทไปด้วย ทำงานไปด้วย

ปรียนาถทำงานเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีภายใน บริษัท กฤษณ์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด (กลุ่มบริษัทไทยสมุทรประกันชีวิต) ระหว่างเดือนกันยายน 2523-สิงหาคม 2527 แล้วได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการด้านการเงินและการบริหาร ระหว่างเดือนสิงหาคม 2527-ธันวาคม 2532 จากนั้นย้ายไปเป็นผู้จัดการด้านการเงินและการบริหาร บริษัท ดีทแฮล์ม แมเนจเมนท์ เซอร์วิส จำกัด ระหว่างธันวาคม 2532-ธันวาคม 2535

ปรียนาถเติบโตในสายอาชีพอย่างรวดเร็วมาก ที่ดีทแฮล์ม เธอเป็นผู้จัดการด้านการเงินและการบริหาร ตั้งแต่อายุ 32 เธออยู่ในตำแหน่งสูงสุดที่คนไทยจะเป็นได้แล้ว จึงย้ายมาเป็นซีเอฟโอที่กลุ่มบริษัท บี.กริม ในเดือนธันวาคม 2535

ผู้หญิงที่เรียนจบบัญชีกับภารกิจตั้งธุรกิจโรงไฟฟ้า ฟังดูเป็นอะไรที่ห่างไกล แต่เธอก็ทำได้

ปรียนาถเปิดเผยว่า ในช่วงเริ่มตั้งบริษัทได้จ้างผู้เชี่ยวชาญชาวสวิสมาเซตระบบภายในองค์กรให้เป็น metric organization เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างราบรื่น ตามลำดับขั้นตอนที่ควรจะเป็น

“ตอนนั้นมันเป็นความจำเป็นที่ต้องเรียนรู้ให้เร็วที่สุด เราจ้างแอดไวเซอร์เข้ามา ก็เรียนรู้จากเขาเยอะ และเรียนรู้จากประสบการณ์เยอะ พอสร้างโรงที่หนึ่งสำเร็จ โรงที่สอง โรงที่สาม มันง่ายขึ้น สาเหตุที่เราประสบความสำเร็จมาก ๆ เพราะว่าเราสร้างโรงเหมือนกัน 10 กว่าโรงสำเร็จหมด มันทำให้คนของเรามีความชำนาญ ที่สำคัญก็คือ คัลเจอร์ที่เรามี เราไปเทกโอเวอร์ที่ไหนก็สามารถใช้คัลเจอร์นี้ทำให้บริษัทที่เราเทกมามีกำไรเพิ่มขึ้นได้ และเราสามารถเบลนด์คนของเขาเข้ามาเป็นคนของ บี.กริม ได้โดยที่เขาไม่รู้สึกแปลกแยก”

ปรียนาถยกเครดิตความสำเร็จส่วนหนึ่งให้กับวัฒนธรรมในองค์กรของ บี.กริม ที่มีความโอบอ้อมอารี ไม่มีการเมืองตัดแข้งตัดขากัน และเธอแชร์ด้วยว่า การจะทำให้ไม่มีการเมืองภายในองค์กรนั้น ผู้บริหารต้องทำให้พนักงานรู้สึกมีความสุข ให้ทุกคนแสดงความเห็นได้ ให้เขารู้สึกว่าเขามีตัวตน มีส่วนร่วม และเป็นส่วนหนึ่งของทีม-ส่วนหนึ่งที่ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จ

ส่วนเรื่องความเป็นผู้หญิงกับการบริหารงานที่เต็มไปด้วยวิศวกรเพศชาย ปรียนาถบอกว่า ไม่ได้มีอุปสรรคใด ๆ เธอมองว่า ความเป็นผู้หญิงเป็นข้อได้เปรียบด้วยซ้ำ เพราะหลายครั้ง ความเป็นผู้หญิงทำให้การเจรจาได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจมากกว่า

“ผู้หญิงเรามีความละเอียดอ่อน เราพยายามเข้าใจความรู้สึกของคนที่คุยด้วย คนที่เราทำงานด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อจะต้องพูดอะไรที่มันแข็ง มันจะทำให้เจ็บ เราสามารถหาวิธีพูดให้มันซอฟต์ลง แต่ได้ผลเหมือนกัน อันนี้เป็นจุดแข็ง ความเป็นผู้หญิงช่วยได้อย่างเห็นได้ชัด อย่างเวลาไปเจรจาธุรกิจกับมิสเตอร์ลิงค์ พี่จะได้รับคำชมจากมิสเตอร์ลิงค์เสมอ เวลาจะพูดอะไรที่มันฮาร์ด มิสเตอร์ลิงค์บอกว่า ถ้าเป็นผม ผมไม่กล้าพูด แต่คุณปรียนาถพูดแล้วได้ เราก็เลยใช้ความอ่อนโยนให้เป็นจุดแข็ง”

ปัจจุบัน ปรียนาถในวัย 63 ปี ยังคงทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม เธอบอกว่า “คุณลิงค์อยากให้ทำไปเรื่อย ๆ” แต่เธอมีแพลนว่า พออายุ 65 จะขอทำงานแค่สัปดาห์ละ 3 วัน แล้วเอาเวลาไปพักผ่อนและทำสวน ใช้ชีวิตให้มีความสุขในบ้านหลังใหม่ที่กำลังจะสร้างที่เขาใหญ่

ส่วนพาร์ตชีวิตครอบครัว ปรียนาถเล่าว่า ด้วยปมที่เธอไม่ได้ดูแลลูกในวัยเด็ก ทำให้เธอไม่อยากขัดใจลูก เพราะรู้สึกอยากชดเชยช่วงเวลาเหล่านั้น เธอบอกอีกว่า ช่วงปีหลัง ๆ งานไม่หนักเท่ายุคแรก พอมีเวลามากขึ้น แต่ก็เป็นเวลาที่ลูก ๆ โตจนไม่ได้ need แม่เหมือนตอนเด็ก ๆ แล้ว กลายเป็นว่าเธอเองต้องเป็นฝ่ายขอเวลาจากลูก ๆ แทน

ซีอีโอ บี.กริม เพาเวอร์ บอกว่า เธอมีฝันใหญ่ คือ ก่อนจะเกษียณ เธออยากเห็น บี.กริม เพาเวอร์ เติบโตเป็นผู้นำของธุรกิจนี้ในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอยากเห็นกำลังการผลิตไฟฟ้า 10,000 เมกะวัตต์ “แต่ไม่ใช่ commitment นะ มันเป็นแค่ความฝันของพี่ที่พี่อยากทำให้ได้”

ในช่วงหนึ่งของการสนทนาที่พูดเรื่องลูก ๆ ที่บ้าน กับลูกน้องในที่ทำงาน ปรียนาถยกคำพูดปนความน้อยใจของลูกชายและลูกสาวมาเล่าให้ฟังว่า “ลูก ๆ ยังบอกเลยว่า แม่มีลูก 3 คน คนที่แม่รักมากที่สุด คือ บี.กริม เพาเวอร์” ซึ่งนี่คงเป็นพยานหลักฐานของความรักและความทุ่มเทที่เธอมีต่อ บี.กริม ได้ดีที่สุด