ทบทวนประวัติศาสตร์ อ่านข้อเรียกร้อง “ม็อบนักศึกษา” จากอดีตถึงปัจจุบัน

ประชาชนปลดแอก 16 สิงหาคม 2563
 รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

ณ ปลายเดือนกันยายน 2563 เหตุการณ์สำคัญในประเทศไทยที่ร้อนแรง อยู่ในความสนใจของผู้คนอย่างต่อเนื่องก็ยังคงเป็นการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่ได้ออกมาแสดงพลัง ย้ำข้อเรียกร้องกันต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม

การชุมนุมที่เกิดขึ้นนำโดยกลุ่มนิสิตนักษึกษา 2 กลุ่ม แม้ว่าจะเป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน มีเป้าหมายใกล้เคียงกัน และมวลชนผู้เข้าร่วมก็เกือบจะเป็นกลุ่มเดียวกันทั้งหมด แต่การชุมนุมของ 2 กลุ่มมีข้อเรียกร้องบางข้อที่เหมือนกัน บางข้อที่ต่างกัน ส่วนในระดับปัจเจกบุคคล แต่ละคนอาจจะเข้าร่วมการชุมนุมด้วยเหตุผลที่ต่างกันไป อาจจะไม่ได้เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องทั้งหมด แต่พวกเขามีความหวังเหมือนกันคือ อยากเห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

นักเรียนหญิงคนหนึ่งจากครอบครัวมหาเศรษฐีถูกสัมภาษณ์ว่า คุณเป็น elite ทำไมคุณถึงออกมาชุมนุม ทั้งที่ชีวิตและอนาคตของคุณมันดีมากอยู่แล้ว น้องคนนั้นตอบคำถามยาวมาก แต่เราสามารถสรุปได้สั้น ๆ ว่า เธอไม่ได้ออกมาต่อสู้เพื่อตัวเอง เธอไม่ได้มองแค่อนาคตของตัวเอง แต่เธอไม่โอเคกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม และเธออยากเปลี่ยนแปลงมัน ซึ่งก็น่าจะเหมือนกับมวลชนอีกมากมายที่ยอมเสียสละวันหยุดที่จะได้พักผ่อนนอนหลับสบาย ๆ ออกมาชุมนุมตากแดดตากฝน ไปจนถึงนอนค้างคืน ซึ่งเสี่ยงต่อการสลายการชุมนุม

จากสถานการณ์ที่กำลังอยู่ในความสนใจ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทบทวนประวัติศาสตร์ ค้นข้อมูล-อ่านข้อเรียกร้องหรือเป้าหมายของม็อบนักศึกษาครั้งสำคัญ ๆ ตั้งแต่อดีต หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มาจนถึงปัจจุบันว่า นักศึกษาไทยสนใจเดือดเนื้อร้อนใจกับเรื่องอะไรบ้าง จึงต้องออกมาชุมนุม ถึงแม้ว่าการชุมนุมทุกครั้งมีประชาชนทั่วไปเข้าร่วมด้วย แต่ทั้งหมดที่เราเลือกมานี้เป็นการชุมนุมที่มีนิสิตนักศึกษาเป็นแกนนำ

ม็อบนักศึกษา 2483 : เรียกร้องดินแดนอินโดจีน

การชุมนุมเรียกร้องที่นำโดยนิสิตนักศึกษาครั้งแรกของประเทศไทยเกิดขึ้นในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2483 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (สมัยที่ 1) โดยนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และประชาชนทั่วไป รวมตัวชุมนุมกันที่ท้องสนามหลวง ก่อนจะเดินขบวนไปชุมนุมเรียกร้องที่หน้ากระทรวงกลาโหม

การชุมนุมครั้งนั้นเป็นส่วนหนึ่ง “กรณีพิพาทอินโดจีน” อันนำไปสู่ “สงครามอินโดจีน” ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม คือ เรียกร้องให้รัฐบาลใช้กองกำลังทหารเข้าสู้รบเพื่อชิงดินแดนที่ไทยสูญเสียให้ฝรั่งเศส ในเหตุการณ์ ร.ศ. 112 สมัยรัชกาลที่ 5 กลับคืนมาเป็นของไทย ในวันนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะได้ปราศรัยต้อนรับและสรรเสริญความรักชาติของคณะผู้ชุมนุม

หลังจากนั้น กองทัพไทยเตรียมการเข้าสู่การรบ และประกาศสงครามอินโดจีน เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2484 ซึ่งผลของสงครามคือ ไทยเป็นฝ่ายชนะได้ดินแดนคืนมา ซึ่งประกอบด้วย เสียมราฐ พระตะบอง จัมปาศักดิ์ และหลวงพระบาง แต่ดินแดนทั้ง 4 ก็กลับมาเป็นของไทยอยู่เพียงไม่กี่ปี ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยก็ต้องคืนดินแดนเหล่านี้แก่ฝรั่งเศส และไม่ได้กลับมาเป็นของไทยอีกเลย

ม็อบ พ.ศ. 2500 : ประท้วงการเลือกตั้งสกปรก

สืบเนื่องจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ที่ถูกนิยามว่าเป็น “การเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย” เพราะมีกลโกงการเลือกตั้งสารพัดวิธี เพื่อให้พรรคเสรีมนังคศิลา ที่นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ชนะการเลือกตั้ง โดยได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากถึง 86 ที่นั่ง จากทั้งหมด 160 ที่นั่ง

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน จึงเกิดการชุมนุมประท้วงขึ้นมา ในวันที่ 2 มีนาคม 2500 นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประชาชนทั่วไป ได้เดินขบวนประท้วงการเลือกตั้ง เรียกร้องให้จอมพล ป. ชี้แจงเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก

รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินในวันที่ 2 มีนาคม 2500 และมีมติให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดูแลสั่งการใช้กำลังทหารและตำรวจปราบประชาชน แต่จอมพลสฤษดิ์ไม่ได้ทำตามคำสั่ง รัฐบาลจึงประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินและเปิดประชุมรัฐสภา ตั้งรัฐบาล ซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี แต่รัฐบาลก็ไม่ได้มีความมั่นคง นอกจากประชาชนต่อต้านและประท้วงแล้ว ภายในรัฐบาลเองก็มีปัญหาขัดแย้งกัน รัฐบาลครองอำนาจอยู่เกือบ 7 เดือน ก็ถูกจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจในวันที่ 16 กันยายน 2500 และมีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 พ้นจากตำแหน่งด้วย

14 ตุลา 2516 : เรียกร้องรัฐธรรมนูญ-ต้านอำนาจคณาธิปไตย

“14 ตุลา” เป็นการชุมนุมนำโดยนิสิตนักศึกษาซึ่งมีเหตุการณ์สืบเนื่อง-ยืดเยื้อมาก่อนหน้านั้นเป็นเวลานาน เมื่อพูดถึง “14 ตุลา” เราจึงต้องพูดถึงการเรียกร้องก่อนหน้านั้นอันเป็นมูลเหตุให้เกิดการชุมนุม อันนำมาสู่เหตุการณ์ที่เรียกว่า “14 ตุลา”

การเรียกร้องของนิสิตนักศึกษาและประชาชนเกิดจากการสั่งสมความกดดันต่อการเมืองการปกครองไทยที่อยู่ใต้การปกครองแบบเผด็จการมานานหลายปี อยู่ภายใต้วงจรอุบาทว์ที่มีการรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญครั้งแล้วครั้งเล่า

ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2515 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) แสดงความไม่พอใจต่อการผูกขาดอำนาจของรัฐบาลเผด็จการคณาธิปไตย โดยมีการเดินประท้วงสินค้าญี่ปุ่น, ประณามการใช้อิทธิพลของเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปล่าสัตว์ในเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ต่อมาวันที่ 21-22 มิถุนายน 2516 มีการชุมนุมคัดค้านการไล่นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง 9 คนออก

การชุมนุมกรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ข้อสรุปว่า หากปราศจากสิทธิเสรีภาพและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศก็เป็นไปได้ยาก นำมาซึ่งการเรียกร้องรัฐธรรมนูญในวันที่ 5-6 ตุลาคม 2516 ซึ่งในวันที่ 6 ตุลาคมนั้นเองที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัวแกนนำและผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญจำนวน 13 คน

เช้าวันที่ 9 ตุลาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เริ่มมีการชุมนุมและการอภิปรายโจมตีรัฐบาล นำโดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และเสาวนีย์ ลิมมานนท์ วันเดียวกันนั้น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ออกแถลงการณ์ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา ภายในวันที่ 15 ตุลาคม และให้ประกาศรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 ธันวาคม ส่วนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงมีการชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมเช่นกัน

บ่ายวันที่ 9 ตุลาคม อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 205 คน ทำหนังสือถึงนายกฯให้พิจารณาปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม แต่รัฐบาลตอบโต้โดยใช้มาตรา 17 แห่ง “ธรรมนูญการปกครอง” กับผู้ต้องหา ซึ่งให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่นายกฯ โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายแต่อย่างใด

วันที่ 10 ตุลาคม ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลายเป็นศูนย์กลางของการชุมนุม นักเรียน นิสิตนักศึกษา ประชาชนหลั่งไหลเข้าร่วมการชุมนุมมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วปักหลักชุมนุมประท้วงโดยสันติวิธี จนถึงวันที่ 12 ตุลาคม ในระหว่างนั้นมีการส่งตัวแทนไปเจรจากับฝ่ายรัฐบาล แต่ตกลงกันไม่ได้

เที่ยงตรงวันที่ 13 ตุลาคม ผู้ชุมนุมหลายแสนคนเดินขบวนออกไปยังถนนราชดำเนินกลาง แล้วเคลื่อนขบวนไปยังลานพระบรมรูปทรงม้าในช่วงเย็น และมีรายละเอียดมากมายหลังจากนั้น กระทั่งเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยใช้กำลังและอาวุธเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมในเช้ามืดวันที่ 14 ตุลาคม ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 15 ตุลาคมความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดการลุกฮือของประชาชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ต้องลงจากตำแหน่ง และลี้ภัยไปต่างประเทศพร้อมด้วยอีก 2 แกนนำรัฐบาล คือ จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร

6 ตุลา 2519 : ค้านการกลับมาของอดีตผู้นำเผด็จการ

เหตุการณ์ “6 ตุลา” อาจจะพูดได้ว่าเป็นเหตุการณ์ภาคต่อจาก “14 ตุลา” เนื่องจากมีตัวละครสำคัญตัวเดียวกัน

หลังจากที่แกนนำรัฐบาล ถนอม-ประภาส-ณรงค์ ลี้ภัยออกไปนอกประเทศเนื่องจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 สองปีหลังจากนั้นเริ่มมีสัญญาณว่าทหารกลุ่มเดิมวางแผนกลับสู่อำนาจอีกครั้ง

วันที่ 16 สิงหาคม 2519 ประภาสกลับเข้ามาในประเทศไทย ด้วยข้ออ้างว่าจะกลับมารักษาตา แต่เนื่องจากมวลชนประท้วง ประภาสจึงยอมเดินทางออกจากประเทศในวันที่ 22 สิงหาคม

ต่อมาวันที่ 19 กันยายน 2519 ถนอมหาทางกลับเข้ามาในประเทศไทย โดยการบวชเป็นสามเณรมาจากต่างประเทศ แล้วไปบวชพระที่วัดบวรฯ เขาบอกว่าจะไม่แสวงหาอำนาจใด ๆ อีก แต่ประชาชนไม่เชื่อในคำอ้าง จึงมีการรวมตัวประท้วง

Photo by AFP

ข้อเรียกร้องของการประท้วงครั้งนี้ก็คือ เรียกร้องให้นำตัวจอมพลถนอมมาขึ้นศาลพิจารณาคดี คัดค้านการบวช และคัดค้านความพยายามที่จะก่อการรัฐประหาร

การชุมนุมต้านจอมพลถนอมเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ชุมนุมยื่นคำขาดให้รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช แก้ไขปัญหาเรื่องพระถนอม ให้จับตัวคนร้ายที่ก่อการฆาตกรรม 2 ช่างไฟฟ้านครปฐมมาลงโทษ และขอให้รัฐบาลจัดกำลังรักษาความปลอดภัยแก่ผู้ชุมนุม

2 ตุลาคม 2519 ถึงกำหนดเวลาเส้นตายที่ยื่นไว้ ตัวแทน ศนท.ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่มีอะไรคืบหน้า จึงตกลงให้มีการชุมนุมประชาชนครั้งใหญ่ที่สนามหลวง ในเวลาเย็นวันที่ 4 ตุลาคม

เวลา 15.30 น. วันที่ 4 ตุลาคม เริ่มมีการชุมนุมที่สนามหลวง แล้วช่วงค่ำกลุ่มนักศึกษาที่นำการชุมนุมมีมติให้ย้ายเวทีเข้ามาชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อความสะดวกในการรักษาความปลอดภัย

เช้าวันที่ 5 ตุลาคม หนังสือพิมพ์และวิทยุนำเสนอข้อมูลข่าวสารบิดเบือน ใส่ร้ายผู้ชุมนุม มีการปลุกปั่น ปลุกระดมให้ประชาชนฝ่ายขวาออกมาชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ช่วงดึกของวันนั้น ฝ่ายขวาย้ายสถานที่ชุมนุมมายังสนามหลวง และมีการยั่วยุประชาชนให้เกลียดชังนักศึกษามากยิ่งขึ้น

เช้าวันที่ 6 ตุลาคม ตำรวจเริ่มยิงอาวุธสงครามใส่ผู้ชุมนุมในธรรมศาสตร์ จากนั้นใช้กองกำลังตำรวจกองปราบฯและหน่วยตำรวจตระเวนชายแดนนำการกวาดล้างนักศึกษาด้วยอาวุธสงคราม มีผู้เสียชีวิตฝ่ายประชาชนอย่างน้อย 41 คน และบาดเจ็บ 145 คน เหตุการณ์ 6 ตุลา ถูกบันทึกว่าเป็นการนองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

เยาวชนปลดแอก 2563 : 3 ข้อเรียกร้อง 2 หลักการ 1 ความฝัน

หลังจากที่นิสิตนักศึกษาหลับใหล ไม่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่นำโดยนักศึกษามาหลายทศวรรษ ความเคลื่อนไหวก็ปรากฏขึ้นในยุคสมัยของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้ครองอำนาจบริหารประเทศอย่างไม่ชอบธรรม

กลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” นำโดยสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) เคลื่อนไหวแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 แล้วต้องหยุดไปเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19

หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยคลี่คลาย กลุ่มเยาวชนปลดแอกได้จัดการชุมนุมที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563

การชุมนุมมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 3 ข้อ ได้แก่ 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ยุบสภา 3.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ พร้อมยื่นคำขาดว่า ถ้ารัฐบาลไม่มีการตอบรับจะรวมตัวอีกครั้ง

ต่อมาในวันที่ 1 สิงหาคม กลุ่มเยาวชนปลดแอกได้ประกาศจัดตั้ง “คณะประชาชนปลดแอก” เพื่อให้ประชาชน เข้าร่วมมากขึ้น ไม่จำกัดอยู่แค่กลุ่มเยาวชน

วันที่ 16 สิงหาคม คณะประชาชนปลดแอกนัดชุมนุมใหญ่ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย การชุมนุมครั้งนี้มีประชาชนเข้าร่วมหลายหมื่นคน ปิดการชุมนุมในช่วงดึกด้วยการที่แกนนำอ่านแถลงการณ์การชุมนุม “3 ข้อเรียกร้อง 2 หลักการ 1 ความฝัน” ซึ่งประกอบด้วย

1.รัฐบาลต้อง “หยุดคุกคามประชาชน” ที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตย

2.รัฐบาลต้อง “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” ที่มาจากเจตจำนงของประชาชน เพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนอย่างแท้จริง

3.รัฐบาลต้อง “ยุบสภา” เพื่อให้ประชาชนสามารถแสดงเจตจำนงในการเลือกผู้แทนของตนได้อีกครั้ง

โดยตั้งอยู่บน 2 หลักการที่ว่า จะต้องไม่มีการรัฐประหารและการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

ภายใต้ 1 ความฝัน คือ การมี “ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ” อย่างแท้จริง

แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 2563 : ล้มกระดานเผด็จการ

“แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” การรวมตัวของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ชุมนุมใหญ่ครั้งแรก ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 กับข้อเรียกร้องที่ทะลุเพดานการชุมนุมเรียกร้องที่เคยมีมาในประเทศไทย โดยมุ่งประเด็นไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์

ต่อมาแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้เลือกเอาวันที่ 19 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นวันครบรอบรัฐประหาร ปี 2549 เป็นวันนัดชุมนุมใหญ่ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อมีผู้ชุมนุมจำนวนมากเกินกว่าสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะรองรับได้ จึงย้ายออกมาชุมนุมที่สนามหลวงตามที่วางแผนไว้

ในการชุมนุมครั้งนี้ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้เสนอ “ยุทธศาสตร์ล้มกระดานเผด็จการ” ซึ่งประกอบด้วยข้อเรียกร้องใหญ่ 3 ข้อ ได้แก่

1.ให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกลุ่มเครือข่ายผลประโยชน์ที่ถูกแต่งตั้งมาโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อธำรงไว้ซึ่งอำนาจของระบบเผด็จการ ลาออกทั้งหมด

2.ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยจะต้องมีการตั้ง ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และต้องร่างใหม่ได้ทุกหมวด ทุกมาตรา โดยเฉพาะหมวดพระมหากษัตริย์

3.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ตามแนวทางที่แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้เรียกร้อง 10 ข้อ

จากนั้นในเช้าวันที่ 20 กันยายน แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกผ่าน พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะนายตำรวจราชองครักษ์ และได้อ่านเนื้อหาจดหมายเปิดผนึกต่อหน้าสื่อมวลชน ผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ ซึ่งเนื้อหาในจดหมายดังกล่าวมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ดังที่กล่าวไปแล้ว

ไม่ว่าใครจะเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมในแต่ละเหตุการณ์มากหรือน้อยแค่ไหน แต่สิ่งที่น่าจะเป็นฉันทามติ หรือความเห็นพ้องต้องกันก็คือ คุณค่าของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระบอบเดียวที่ประชาชนมีอำนาจตัดสินใจ เป็นระบอบที่สิทธิและเสียงของคนทุกคนมีค่ามีความหมายเท่ากัน เป็นระบอบที่รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ประชาชนคนธรรมดาสามารถออกมารวมตัวกันชุมนุมเรียกร้องได้ และจะต้องไม่ถูกคุกคาม หรือใช้กำลังปราบปราม