“วาย” จากวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มก้าวสู่กระแสหลัก ขุมทรัพย์ใหม่ธุรกิจบันเทิง-หนังสือ

 ศิรินภา นรินทร์, รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

กระแสความนิยมในวัฒนธรรมวายมาแรงขึ้นเรื่อย ๆ ความนิยมนี้ปรากฏให้เห็นในหลายวงการ หลายโปรดักต์ ทั้งนิยายวาย ที่เป็นหนังสือขายดีติดสวนกระแสความซบเซาของวงการหนังสือในยุคโควิด มาตั้งแต่ต้นปีจนถึงในงานหนังสือครั้งล่าสุด ทั้งละคร-ซีรีส์วายที่หลายเรื่องโด่งดังเป็นกระแสในประเทศไทยไปถึงต่างแดน

“วาย” คืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร แล้วทำไมถึงได้รับความนิยมขนาดนี้ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จะชวนศึกษาวัฒนธรรมวายที่กำลังเพิ่มบทบาทจากวัฒนธรรมย่อยซึ่งกลายเป็นหนึ่งวัฒนธรรมกระแสหลักในสังคมไทย เป็นโอกาสเป็นขุมทรัพย์ใหม่ของธุรกิจคอนเทนต์บันเทิงและธุรกิจหนังสือในยุคนี้ ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วลงง่าย ๆ

จุดเริ่มต้นและเส้นทางความนิยมของ “วาย”

“วาย” (Y) มาจากคำว่า ยะโออิ (Yaoi) ในภาษาญี่ปุ่น เป็นคำศัพท์ในวงการนิยายและการ์ตูนญี่ปุ่นที่ใช้เรียกงานโดจิน (การ์ตูนโป๊) ประเภทหนึ่งที่แต่งล้อเลียนมังงะหรืออะนิเมะที่กำลังดัง ต่อมาคำว่า “ยะโออิ” ได้ถูกใช้ไปในความหมายที่ต่างจากเดิม โดยหมายถึงนิยายหรือการ์ตูนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชายรักชาย ซึ่งความหมายในแง่นี้เริ่มต้นมาจากการที่แฟนคลับนำแคแร็กเตอร์จากตัวละครใน อนิเมะ การ์ตูน นิยาย มังงะ โดจิน หรือเกมที่ตนเองชื่นชอบมาแต่งใหม่ให้มีลักษณะความสัมพันธ์แบบชายรักชาย และต่อมาลักษณะความสัมพันธ์แบบนี้มีชื่อเรียกอีกอย่าง คือ Boys” Love หรือ BL

การที่แฟน ๆ นำแคแร็กเตอร์ตัวละครในนิยายหรือศิลปินดาราที่ตัวเองชื่นชอบมาแต่งเรื่องใหม่ มีชื่อเรียกการสร้างสรรค์เนื้อหาลักษณะนี้ว่า “แฟนฟิกชั่น” (FanFiction) หรือหลายคนอาจจะเรียกสั้น ๆ ว่า “แฟนฟิก” (FanFic) หรือสั้นกว่านั้นอีกว่า “ฟิก” (Fic) ซึ่งมาจากคำว่า Fanclub+Fiction เป็นเรื่องราวที่แต่งขึ้นจากจินตนาการของแฟนคลับ โดยการสังเกตโมเมนต์ต่าง ๆ ของตัวละคร ศิลปิน นักแสดงที่ชอบ จากนั้นก็นำมาแต่งเป็นแฟนฟิก ซึ่งชื่อตัวละคร ลักษณะนิสัย จะอ้างอิงจากตัวตนจริงของศิลปิน นักแสดงคนนั้น ๆ

ความนิยมในวายเห็นได้ชัดในกลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลีและญี่ปุ่น ซึ่งในไทยนั้นมีการแต่งแฟนฟิกชายรักชายมานานราว 20 ปีแล้ว อาจจะพูดได้ว่าแฟนฟิกเข้ามาในสังคมไทยพร้อมกับการเข้ามาของศิลปิน J-pop ก่อนจะแพร่หลายขึ้นอีกพร้อมกับความนิยม K-pop ซึ่งเนื้อหาของแฟนฟิกก็มักจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของชายกับชาย เพราะแฟนคลับเอาตัวละครมาจากศิลปินในวงที่ตัวเองชื่นชอบ ซึ่งเป็นวงชายล้วนนั่นเอง


ในระยะหลัง ๆ เห็นแฟนฟิกที่เกิดจากกลุ่มแฟนคลับของศิลปิน นักแสดงไทยเพิ่มขึ้น แต่แฟนฟิกส่วนใหญ่จะไม่นำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ เพราะถือเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา อย่างไรก็ตาม เหล่าศิลปิน นักแสดงก็ไม่ได้รู้สึกว่าการที่แฟนคลับแต่งแฟนฟิกนั้นจะทำให้ตนเสียหาย หากแต่เป็นความสุขของแฟน ๆ พวกเขาก็พร้อมที่จะเซอร์วิสโดยการสร้างโมเมนต์ให้แฟนคลับได้เห็นกันบ่อย ๆ

จาก “แฟนฟิก” เฉพาะกลุ่ม สู่หนังสือนิยาย

หากจะเรียกว่าแฟนฟิกคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการนิยายไทยก็คงจะไม่ผิด เพราะถ้าย้อนไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว การจะหานิยายแนวชายรักชาย (ซึ่งจะเรียกตัวเอกว่า “พระเอก” กับ “นายเอก”) อ่านได้จะต้องเข้าไปหาอ่านในเว็บไซต์เฉพาะกลุ่มเท่านั้น น้อยมากที่จะมีสำนักพิมพ์นิยายแนวนี้ออกมา ด้วยบริบทสังคมในสมัยนั้น กลุ่มผู้อ่านยังไม่มาก ยังเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่ม อีกทั้งในเชิงสังคมที่ยังไม่เปิดกว้างยอมรับเรื่องราวเหล่านี้มากเท่าในปัจจุบัน

ความเปลี่ยนแปลงก้าวแรกจากแฟนฟิก (วาย) สู่นิยายวายเริ่มขึ้นสัก 10 ปีที่แล้วเมื่อสำนักพิมพ์วัยรุ่นพิมพ์นิยายวายออกวางขาย แต่ในปีแรก ๆ ยังเป็นการเปิดพรีออร์เดอร์ และขายกันในวงแคบ ไม่ได้พิมพ์วางขายทั่วไปตามร้านหนังสือรวมถึงบูทในงานหนังสือ

ต่อมาราวปี พ.ศ. 2558 ด้วยความนิยมที่เพิ่มมากขึ้น สำนักพิมพ์ก็ต้องปรับตัวรับความต้องการของผู้บริโภค หลายสำนักพิมพ์จึงพิมพ์นิยายวายออกวางขายทั่วไป จากที่เคยมีพิมพ์กันอยู่ 2-3 สำนักพิมพ์ก็มีสำนักพิมพ์โดดเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บางสำนักพิมพ์มีการตั้งสำนักพิมพ์ย่อยเพื่อพิมพ์นิยายวายโดยเฉพาะเพื่อความชัดเจนของแบรนด์

นิยายวาย ไม่ได้มีแค่เรื่องราวความรักโรแมนติกเท่านั้น แต่มีการแบ่งแนวย่อย ๆ ออกไปเหมือนนิยายทั่วไป คำว่า “นิยายวาย” เป็นเพียงหมวดหมู่ใหญ่ ๆ ที่บอกให้ผู้อ่านทราบว่าตัวละครหลักเป็นชายรักชาย ส่วนเนื้อหาจะเป็นแนวไหนต้องดูกันลงรายละเอียดแต่ละเรื่อง นอกจากนั้น ยังแบ่งกันเป็นนิยายวายไทย และนิยายวายที่แปลจากต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ที่ได้รับความนิยมเป็นนิยายวายที่แปลมาจากนิยายวายจีน

ซีรีส์วาย ขยายความนิยมก้าวสู่กระแสหลัก

จากที่วัฒนธรรมวายเคยเป็นวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มหลายปีหลัง ๆ มานี้วัฒนธรรมวายขยายกว้างมากขึ้น อาจจะเป็นผลส่วนหนึ่งจากการที่สังคมเปิดกว้างยอมรับกับเรื่องความหลากหลายทางเพศและความรักของเหล่า LGBTQ ได้มากขึ้น จึงมีการนำเนื้อหานิยายชายรักชายมาสร้างละครหรือซีรีส์มากขึ้น และช่องทางในการรับชมก็มีให้เลือกหลากหลาย ทั้งที่ดูได้ฟรีอย่างทีวีดิจิทัล หรือทางออนไลน์ และช่องทางที่ต้องจ่ายตังค์ ซึ่งความนิยมก็เพิ่มขึ้นในทุกช่องทาง มีกลุ่มผู้ชมเพิ่มจำนวนมากขึ้น แม้ว่าโดยส่วนใหญ่จะเป็นกระแสในหมู่วัยรุ่น แต่ก็เป็นที่นิยมในกลุ่มคนช่วงวัยอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

หากมองย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ภาพยนตร์และละครไทยที่เนื้อหาเกี่ยวกับชายรักชายก็มีให้เห็นบ้าง แต่ตัวละครชายรักชายอาจไม่ใช่ตัวเอกของเรื่อง และบทก็ยังมีความคลุมเครือว่าเขาเหล่านั้นมีความสัมพันธ์แบบใด จนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาซีรีส์เรื่อง “Love Sick The Series รักวุ่น วัยรุ่นแสบ” ซึ่งสร้างจากนิยายวัยรุ่นเรื่องดัง “Love Sick” ก็เป็นกระแสที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก นับเป็นซีรีส์เรื่องแรก ๆ ที่ตัวเอกมีความสัมพันธ์แบบชายรักชาย นอกจากที่ประเทศไทยแล้วซีรีส์เรื่องนี้ยังได้รับความสนใจอย่างมากในประเทศจีน ตัวนักแสดงก็ได้รับความนิยมจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เกิดงานแฟนมีตติ้ง และได้รับงานโฆษณาต่าง ๆ อีกมากมาย

หลังจากนั้นไม่กี่ปีก็มีซีรีส์วัยรุ่นไทยหลายเรื่องที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชายกับชายออกมาเรื่อย ๆ เช่น ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น, Room Alone ห้อง 409, รุ่นพี่ Secret love ตอน Puppy Honey และเรื่องที่โด่งดังมากเรื่องล่าสุด คือ “เพราะเราคู่กัน” และภาค 2 “เพราะเรา(ยัง)คู่กัน” ที่ทำให้กระแส #คั่นกู ติดเทรนด์ในโลกออนไลน์อยู่พักใหญ่

ในอนาคต “วาย” น่าจะเป็นหนึ่งประเภทเนื้อหาทั่วไปของภาพยนตร์และซีรีส์ที่ถูกผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเร็ว ๆ นี้ “นาดาว” ค่ายละคร-ซีรีส์ขวัญใจวัยรุ่นก็เพิ่งเปิดตัวซีรีส์วายเรื่องใหม่ “แปลรักฉันด้วยใจเธอ” ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้มีการสร้างซีรีส์เรื่องนี้เกิดจากกระแสจิ้นของแฟน ๆ ซีรีส์เรื่อง “รักฉุดใจ…นายฉุกเฉิน” ที่อยากให้บิวกิ้นและพีพี สองนักแสดงวัยรุ่นชายในเรื่องได้แสดงคู่กัน

หากมองออกไปนอกประเทศไทย จะเห็นภาพใหญ่และเห็นโอกาสเชิงพาณิชย์ของคอนเทนต์ “วาย” ที่มีตลาดใหญ่รองรับนั่นก็คือ ประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่นิยมซีรีส์วายเป็นอย่างมาก และมีซีรีส์วายหลายเรื่องจากประเทศไทยที่เป็นที่นิยมในประเทศจีน ขณะเดียวกัน ก็มีซีรีส์วายจากประเทศจีนที่เป็นที่นิยมในหมู่คนรักซีรีส์วายในไทยเช่นกัน

สิ่งที่เป็นข้อได้เปรียบของซีรีส์วายไทย คือ ซีรีส์ชายรักชายในประเทศไทยไม่ได้ถูกควบคุมจากภาครัฐเท่าไหร่นัก ต่างจากจีนที่มีข้อกำหนดทางกฎหมายในการควบคุมสื่อ ทำให้ซีรีส์บางเรื่องของจีนที่สร้างจากนิยายวายต้องมีการปรับเนื้อหาใหม่ให้อยู่ในระดับที่ภาครัฐรับได้

การที่จีนมีการควบคุมสื่อ ทำให้ซีรีส์วายของจีนนำเสนอเนื้อหาไม่ได้เต็มที่เท่าซีรีส์วายของไทย ถ้าจะพูดภาษาคนดู คือ “ฟินไม่สุด” ผู้ชมจึงอยากดูเรื่องที่ฟินสุด ๆ จนต้องจิกหมอน นี่จึงเป็นโอกาสที่ดีของซีรีส์ไทยที่จะไปโกยเงินจากแฟน ๆ ชาวจีน ซึ่งก็มีหลายเรื่องที่ประสบความสำเร็จไปก่อนหน้านี้แล้ว ถ้าคุณผู้อ่านพอจะจำกรณีพิพาทในโลกไซเบอร์ระหว่างชาวเน็ตไทยกับจีน จนนำไปสู่การผนึกกำลังระหว่างชาวเน็ตไทย ไต้หวัน และฮ่องกง เกิดเป็น “พันธมิตรชานม” เมื่อหลายเดือนก่อนได้ เชื่อหรือไม่ว่าจุดเริ่มต้นของวิวาทะในโลกออนไลน์ระหว่างประเทศครั้งนั้น เริ่มต้นมาจากแฟนคลับชาวจีนที่ชื่นชอบนักแสดงซีรีส์วายชาวไทยคนหนึ่งมาก จึงตามย้อนดูโพสต์ในบัญชีโซเชียลมีเดียของนักแสดงคนนั้น จนเจอข้อความที่ทำให้แฟน ๆ ชาวจีนไม่พอใจ จึงเกิดเป็นประเด็นขึ้นมา

“นิยายวาย” ขายดีสวนเทรนด์

3-4 ปีหลังมานี้ ในยุคสมัยที่หนังสือขายยากและขายได้น้อยลง หนังสือนิยายวายกลับเติบโตสวนเทรนด์ กลายเป็นขุมทรัพย์ใหม่ของบรรดาสำนักพิมพ์นิยาย แต่การแข่งขันก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน

เมื่อช่วงต้นปี 2563 ในช่วงที่มีการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 48 ทางออนไลน์ เลี่ยงการระบาดของโรคโควิด นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เคยให้ข้อมูลว่า หนังสือในกลุ่มไลต์โนเวล การ์ตูน มังงะ นิยายวายเป็นกลุ่มที่ขายดีที่สุดในงาน

มาถึงงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25 ระหว่างวันที่ 30 กันยายน-11 ตุลาคมที่เพิ่งผ่านไปก็เช่นกัน นิยายวายยังเป็นหมวดหนังสือที่โดดเด่น ยอดขายดีกว่าหมวดอื่น ๆ จากการเดินสำรวจในงานพบว่าบูทสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์นิยายวายต่างก็คึกคักไปด้วยกลุ่มคนอ่านที่หลากหลายทั้งวัยรุ่น วัยทำงานใหม่ ๆ และผู้ใหญ่

จักรวุธ ใจดี Strategic Planning Director บริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งดูแลการจัดจำหน่ายหนังสือของสำนักพิมพ์กว่า 300 แห่งให้ข้อมูลที่ทำให้มองเห็นภาพรวมว่า หนังสือในกลุ่มนิยายวายยังเป็นช่วงขาขึ้นต่อเนื่อง มีกลุ่มคนอ่านหลากหลาย ทั้งนักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงแฟนนิยายเก่าก็อ่านนิยายวายด้วย เป็นเทรนด์ที่หลายสำนักพิมพ์ก็กำลังโฟกัส เพราะลูกค้าให้ความสนใจจำนวนมาก สามารถขาย special edition ได้ และต่อยอดไปทำโปรดักต์อื่น ๆ ได้ หลาย ๆ สำนักพิมพ์มีการแยกสำนักพิมพ์ใหม่ออกไปพิมพ์นิยายวายโดยเฉพาะของอมรินทร์เองก็มี Rose Publishing

สำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ที่ครองตลาดนิยายรักโรแมนติกสำหรับวัยรุ่นอย่างสำนักพิมพ์แจ่มใส เป็นหนึ่งสำนักพิมพ์ที่มาร่วมแชร์ส่วนแบ่งตลาดนิยายวายที่มีโอกาสสวยงามรออยู่ โดยตั้งสำนักพิมพ์สำหรับพิมพ์นิยายวายโดยเฉพาะชื่อ EverY ซึ่งก็มีหลายเรื่องที่ถูกนำไปทำซีรีส์ เช่น “ทฤษฎีจีบเธอ” “เดือนเกี้ยวเดือน” “เพราะเรา…คู่กัน”

นุช-พรรณวดี กะบะเงิบ พนักงานขายประจำบูทสำนักพิมพ์แจ่มใส เล่าว่า ผู้อ่านส่วนใหญ่ตามมาจากการดูซีรีส์ ถ้าซีรีส์เรื่องไหนดัง คนดูชอบซีรีส์เรื่องไหน ก็จะตามมาซื้อหนังสือ ด้วยความที่หากนิยายถูกซื้อบทประพันธ์ไปทำซีรีส์แล้ว เว็บไซต์ที่เคยให้อ่านนิยายฟรีก็จะล็อกไม่ให้อ่านนิยายเรื่องนั้น อีกทั้งเวอร์ชั่นที่เผยแพร่ในเว็บกับที่ตีพิมพ์ในหนังสือมีส่วนที่แตกต่างกัน ในหนังสือมีการเพิ่มเติมตอนพิเศษ คนที่ชอบจึงมาตามซื้อหนังสือเพื่ออ่านเนื้อหาเต็ม ๆ

กัญญา แก้วสีขาว ผู้จัดการบูทสำนักพิมพ์ Hermit Books ที่ตีพิมพ์นิยายวายโดยเฉพาะให้ข้อมูลว่า นิยายวายของ Hermit Books ที่ขายดีเป็นนิยายแปลจากจีน ในงานหนังสือครั้งนี้บรรยากาศเงียบกว่าครั้งก่อน ๆ แต่ยอดขายไม่ถือว่าแย่ ถึงแม้ว่าคนน้อย แต่กำลังซื้อ-ยอดซื้อไม่ได้ต่างจากงานปีที่แล้ว ขณะเดียวกัน ก็มีการเปิดขายทางออนไลน์ไปด้วย ภาพรวมจึงถือว่าขายได้ในระดับที่โอเค ทำยอดขายในวันธรรมดาได้วันละ 6-7 หลัก

ส่วนกลุ่มคนอ่านนั้นมีทุกช่วงอายุตั้งแต่ 15 ไปจนถึง 60-70 ปี “ผู้ซื้อที่อายุ 60-70 คือกลุ่มผู้ซื้อเก่าที่ซื้อหนังสือนิยายกันมานานแล้ว เรามางานทุกครั้งเราก็ยังเจอเขาอยู่ เขาอ่านนิยายได้ทุกแนว พอมาเจอนิยายวายของเราเขาก็อ่าน เหมือนเป็นการเปิดรสนิยมใหม่ให้เขาด้วย”


หลังจากที่ความนิยมในนิยายวายเพิ่มขึ้น กลุ่มคนทำ-สำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์นิยายวายและคนอ่าน ก็สร้างที่ทางของตัวเองโดยมีการจัดอีเวนต์นิยายวายโดยเฉพาะ อย่างงานที่คุ้นชื่อก็คือ Y Book Fair ที่จัดต่อเนื่องมา 4 ครั้งแล้ว

กระแสที่มาแรงของนิยายวายส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากซีรีส์ที่ได้รับความนิยม เพราะซีรีส์ที่ฉายทางทีวีและในออนไลน์ล้วนนำบทประพันธ์มาจากนิยาย เมื่อการเติบโตดีทั้งสองทาง จึงทำให้มีการตีพิมพ์นิยายวายออกมาเพิ่มมากขึ้น ปรากฏการณ์เกิดขึ้นนี้น่าจะพูดได้ว่า วงการนิยายวายและวงการซีรีส์วายเป็นสองวงการที่เกื้อกูลกันและกัน โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคร่วมกัน เพียงแต่ซีรีส์เข้าถึงผู้บริโภควงกว้างมากกว่านิยาย

นอกจาก “วาย” แล้ว ระยะหลังมานี้นิยายอีกหมวดหนึ่งที่กำลังมาเช่นกัน ก็คือ นิยายหญิงรักหญิง ที่เรียกว่า “ยูริ” (Yuri)ซึ่งต้องดูกันต่อไปว่าจะเป็นอีกวัฒนธรรมหนึ่งที่ได้รับความนิยมในวงกว้าง และเป็นขุมทรัพย์ใหม่ของคนทำธุรกิจคอนเทนต์บันเทิงและธุรกิจหนังสืออย่างที่วัฒนธรรมวายทำไว้หรือไม่