Bangkok Art Biennale 2020 เดินชมงานศิลป์ชั้นเยี่ยมตามแลนด์มาร์กกรุงเทพฯ

ท้องฟ้าสีเทา และทีมประชาสัมพันธ์ BAB : ภาพ

เทศกาลศิลปะ Bangkok Art Biennale 2020 ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ศิลป์สร้าง ทางสุข (Escape Routes)” ได้เปิดเทศกาลไปแล้วราวหนึ่งเดือน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ต้องยอมรับกันตามตรงว่า คนมีอารมณ์เดินเที่ยวน้อยกว่าการจัดงานครั้งแรกเมื่อปี 2018

การที่ผู้ชมงานปีนี้ไม่หนาตาก็เป็นอะไรที่เดาได้ ไม่เกินคาด เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่นำมาสู่ผลกระทบทางเศรษฐกิจ การตกงาน รายได้ลด-หดหาย และเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่คลี่คลาย คนในสังคมโดยเฉพาะเหล่าวัยรุ่นมีอารมณ์ร่วมกับการชุมนุมซะมากกว่าจะมีอารมณ์มาเดินชมงานศิลปะชิล ๆ

ถึงแม้สถานการณ์ไม่เอื้อให้เทศกาลครั้งนี้ได้รับความนิยมมากเท่าครั้งก่อนหน้า แต่ในแง่การเสพงานศิลปะก็ต้องยอมรับว่า เทศกาลนี้เป็นงานใหญ่ที่รวบรวมชิ้นงานสร้างสรรค์ที่น่าประทับใจจากศิลปินทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเอาไว้ได้มากที่สุดในรอบปี

ถ้าไม่ไปเดินชมงานนี้ก็ไม่มีโอกาสจะได้ชมผลงานระดับนี้ได้ง่ายไปกว่านี้แล้ว “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จึงอยากชวนผู้ที่สนใจศิลปะและไม่ติดขัดอะไรออกไปเดินชมผลงานศิลปะดี ๆ ที่จัดแสดงอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งหลายแห่งเป็นสถานที่ระดับแลนด์มาร์กของกรุงเทพมหานครที่มีความสวยงามดึงดูดตาอยู่แล้ว เมื่อมีชิ้นงานศิลปะเข้าไปวางจัดแสดงก็ยิ่งส่งเสริมกันทั้งสองทาง

 

พิกัด : วัดอรุณราชวราราม

Sky Mirror โดย อนิช คาพัวร์ (Anish Kapoor) : ผลงาน Sky Mirror ของอนิช คาพัวร์ ศิลปินจากนครมุมไบ ประเทศอินเดีย ซึ่งนำมาจัดแสดงที่สนามหญ้าในวัดอรุณราชวราราม เป็นหนึ่งผลงานชิ้นไฮไลต์ของเทศกาลปีนี้ สเตนเลสสตีลทรงกลมแวววาวของผลงานชิ้นนี้ทำปฏิกิริยากับรูปทรงที่ไม่ปะติดปะต่อกันของก้อนเมฆบนท้องฟ้าที่สะท้อนลงมา เฉกเช่นความว่างเปล่าที่เปลี่ยนรูปร่างไปเรื่อย ๆ ตามการหมุนของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว การเคลื่อนไหวดังกล่าวเกี่ยวข้องกับระนาบสุริยวิถี ซึ่งจะมีผลต่อการคำนวณทางโหราศาสตร์ของแต่ละบุคคล

 

พิกัด : River City Bangkok

The Navigation Route of the Sea Watch 3 Migrant Rescue Vessel โดย อ้าย เหว่ยเหว่ย (Ai Weiwei) : เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2019 เรือ Sea-Watch 3 ขององค์กรด้านมนุษยธรรมของเยอรมนี ช่วยเหลือผู้อพยพ 53 คนที่ติดอยู่นอกชายฝั่งลิเบียขึ้นเรือมา โดยมีเป้าหมายนำคนเหล่านี้ไปยังท่าเรือที่ใกล้ที่สุดนั่นคือ เกาะลัมเปดูซา ประเทศอิตาลี แต่รัฐบาลอิตาลีปิดท่าเรือและกล่าวหาว่าเป็นการเข้าเมืองผิดกฎหมาย เรือลำนี้ลอยล่องอยู่นอกชายฝั่ง 16 วัน กัปตันจึงท้าทายคำสั่งนำเรือเข้าจอดท่า พาคนในเรือขึ้นฝั่ง อ้าย เหว่ยเหว่ย นำเส้นทางการเดินเรือลำนี้ มานำเสนอโดยใช้ตัวต่อ Lego สีฟ้าและสีดำ แทนน้ำทะเลกับเส้นทางเดินเรือ เส้นอันยุ่งเหยิงเหมือนด้ายพันกันไปมานั้น คือ เส้นทางการเดินเรือที่กุมชะตาชีวิตของผู้คนเอาไว้

นอกจากงานชิ้นนี้ ที่ TANG CONTEMPORARY ART ในริเวอร์ซิตี้ยังมีการจัดแสดงผลงานอีกหลายชิ้นของเหว่ยเหว่ย ที่สร้างสรรค์โดยการต่อตัวต่อ Lego และงานประติมากรรมหินอ่อนที่นำเสนอเรื่องราวทางสังคมและการเมือง

 

พิกัด : วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  (วัดโพธิ์)

Push/Pull โดย อนิช คาพัวร์ (Anish Kapoor) : ภายในศาลาการเปรียญวัดโพธิ์ ผลงาน Push/Pull ของอนิช ที่ประกอบด้วยแว็กซ์สีแดงเข้มและเม็ดสีน้ำมันมวลห้าตันถูกจัดวางอย่างสวยงามบนพื้นหินอ่อนคาราร่า ผลงานชิ้นนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วง แรงตึง ปริมาตรและวัสดุ ด้ามเลื่อยถูกผลักและดึงเพื่อสร้างมวลสีแดงเข้มที่ดูดึงดูดและดุดัน เช่นเดียวกับการทำวิปัสสนาที่กล้ามเนื้อทำหน้าที่ควบคุมการหายใจเข้าออกด้วยการผลักดึงเป็นจังหวะ การเดินจงกรมรอบผลงาน Push/Pull จึงเป็นการกระตุ้นให้เราเคลื่อนที่อย่างมีสติ เราจะเริ่มตระหนักถึงชีวิตและเลือดเนื้อ แม่และธรรมชาติภายใต้ดวงดาวสีแดงและสีทองบนเพดานที่เปรียบเหมือนอาณาเขตสวรรค์และจักรวาล สีแดงอบเชยเป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา สื่อถึงความว่างเปล่าและการมองไม่เห็น

 

พิกัด : หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

Law of Journey โดย อ้าย เหว่ยเหว่ย (Ai Weiwei) : ผลงานเรือเป่าลมสีดำบรรทุกร่างผู้ลี้ภัยไร้ใบหน้า เป็นผลงานอันเกิดจากการเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัย 40 แห่ง ใน 20 ประเทศของเหว่ยเหว่ย ผู้ลี้ภัยไร้ใบหน้าเหล่านี้เป็นตัวแทนของผู้ลี้ภัยออกจากประเทศบังกลาเทศ อิรัก ซีเรีย ตุรกี ฉนวนกาซา เม็กซิโก และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

นอกจากนั้น ผนังฝั่งหนึ่งของห้องจัดแสดงเดียวกันนี้ ยังมี Odyssey ผลงานรูปสัญลักษณ์และกราฟิกที่อ้าย เหว่ยเหว่ย คิดภาษาภาพที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพวาดกรีกโบราณ แล้วสร้างสรรค์วอลเปเปอร์ที่แสดงถึงประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการอพยพ สงครามและสภาพเลวร้าย ส่วนอีกฝั่งหนึ่งเป็นวอลเปเปอร์รูปใบหน้าผู้คนที่เขาเก็บบันทึกจากการไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยทั่วโลก

 

Money โดย ตะวัน วัตุยา : ตะวันสร้างธนบัตรต่าง ๆ จากทั่วโลกขึ้นใหม่ โดยการขยายขนาดและวาดด้วยสีน้ำโดยยังคงแคแร็กเตอร์ของธนบัตรนั้นไว้ และปล่อยให้คุณสมบัติของสีน้ำสร้างภาพใหม่ขึ้น ความเลือนราง คลุมเครือและความงามแบบใหม่ทำให้ธนบัตรนั้นเปลี่ยนรูปร่าง message สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่ทำให้ธนบัตรกำลังกลายเป็นกระดาษธรรมดา หรืออาจจะทำให้คุณค่าลดลง นอกจากนี้ ภาพแทนของธนบัตรหลากหลายประเทศที่ตะวันนำมาวาด ยังบ่งชี้อัตลักษณ์ของแต่ละประเทศที่แตกต่างอีกด้วย

 

Dancing in the Light โดย ลำพู กันเสนาะ : ลำพูสร้างชื่อเสียงจากผลงานจิตรกรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เปี่ยมด้วยอารมณ์ขันอันสนุกสนาน ในงาน BAB 2020 ผลงานของลำพูมีทั้งเรื่องราวของวัฒนธรรมพื้นบ้านของเด็ก ๆ วัยรุ่นชนบทกับงานรื่นเริง ไปจนถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 เรื่องของสังคมที่นิยมยกย่องคนสวยและคนดัง หลายชิ้นคือผลงานขนาดใหญ่ที่บรรจุเรื่องราวและผู้คนมากมายผ่านหน้าตาบูดเบี้ยวเจ็บปวด หรือหัวเราะร่าเริงและอากัปกิริยาที่แสดงพลังทางอารมณ์สูงสุด เป็นการสะท้อนถึงโรงละครแห่งความเป็นมนุษย์ คล้ายอุปรากรบนเวทีที่ต่างคนต่างก็ร่ายรำและแสดงบทบาทของตัวเองในบริบทต่าง ๆ

 

พิกัด : ล้ง 1919

Chinese : Place of Diasporas โดย จุรีพร เพชรกิ่ง : จุรีพรหลงใหลในการสร้างสรรค์งานศิลปะโดยการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างตัวตนของบุคคลและภูมิหลังทางวัฒนธรรม ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของบุคคลและกิจกรรมที่บุคคลชื่นชอบ ผลงานของเธอได้รับอิทธิพลจากประสบการณ์ส่วนตัวของเธอเอง

สำหรับงาน BAB 2020 เธอจัดแสดงผลงานศิลปะจัดวางและการแสดงสดซึ่งรวบรวมเรื่องราวของชาวจีนอพยพที่ต้องทนกับความยากลำบากและการเลือกปฏิบัติตอนที่พวกเขาเดินทางมาถึงกรุงเทพฯในช่วงแรก ๆ การแสดงบนจักรเย็บผ้าตลอดทั้งวันของเธอแสดงให้เห็นถึงงานอันน่าเบื่อหน่ายที่ผู้หญิงซึ่งเคยอาศัยอยู่ในล้ง 1919 ต้องทำเป็นประจำทุกวัน

 

BAB Box @One Bangkok

DO A TO MII Doll 1939, Doll 2020 โดย โลเล (Lolay) : งานจิตรกรรมและประติมากรรมที่แสดงถึงสภาพร่างกายที่เปรียบเหมือนสังคม ชุมชน เมือง ประเทศ และโลก ที่มีตุ๊กตาหุ่นไซบอร์กขนาดยักษ์เป็นตัวแทนสะท้อนเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในช่วงเวลานี้ ตั้งแต่โรคระบาดไปจนถึงภัยแห่งความขัดแย้งของมนุษย์ด้วยกันเอง

 

พิกัด : The PARQ

Rising โดย มารีนา อบราโมวิช (Marina Abramovic) : ผลงานเวอร์ชวลเรียลิตี้ชิ้นแรกของมารีนา อบราโมวิช ที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อสะท้อนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และถูกนำมาจัดแสดงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรก ประกอบด้วยเครื่องเล่นเวอร์ชวลเรียลิตี้ และถังแก้วที่กำลังจะจมน้ำเนื่องจากน้ำแข็งละลายทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น

 

Bleu Blanc Rouge โดย ยุรี เกนสาคู : การนำผลงาน “Liberty Leading The People” ของเดอลาครัวซ์ ซึ่งเป็นภาพวาดคลาสสิกที่แสดงถึงการต่อสู้และอุทิศชีวิตของประชาชนชาวฝรั่งเศส มาตีความใหม่แบบร่วมสมัยผ่านการผสมผสานตัวการ์ตูนน่ารักสดใสสไตล์ยุรี

 

Sphere with Rectangle Hole, Sphere with Triangle Hole, Sphere with Square Hole และ Sphere with Oval Hole โดย อนิช คาพัวร์ : วัตถุโลหะมันเงาโดยฝีมือการรังสรรค์ของศิลปินสาขาประติมากรรมระดับแนวหน้าของโลก ซึ่งสร้างภาพลวงที่จะพาเราหลีกหนีจากความจริงเข้าสู่มิติใหม่ ๆ ผ่านรูปทรงสามเหลี่ยม ทรงกลม วงรี และสี่เหลี่ยมจัตุรัส