สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี ทรงสืบสานพระราชปณิธาน ฉลองพระองค์ “ผ้าไทย”

สมเด็จพระราชินีสุทิดา

เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ในวันที่ 3 มิถุนายน พุทธศักราช 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สำนักนายกรัฐมนตรีจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ และขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแสดงความจงรักภักดีอย่างสมพระเกียรติ #ขอทรงพระเจริญฯ

ตลอดเวลาที่ผ่านมา พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นอเนกประการโดยเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวในการพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ตลอดจนพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งปวง เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎร โดยมิได้ทรงเหน็ดเหนื่อยและย่อท้อแต่อย่างใด ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาพสกนิกร

ในหลวง พระราชินี

ทั้งทรงเป็นแบบอย่างในการฉลองพระองค์ด้วยชุดผ้าไทย ร่วมงานพระราชพิธี ทรงเลือกใช้ผ้าในการตัดชุดไทยราชนิยมได้ถูกต้องตามดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ว่าด้วยโอกาสการทรงชุดไทยตามช่วงเวลาในพิธีการได้อย่างเหมาะสมและงดงาม

นอกจากความสง่างามและทรงปฏิบัติตามแนวทางพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการทรงเลือกฉลองพระองค์แบบพระราชนิยมแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ยังทรงนิยมเลือกใช้กระเป๋าผ้าไทยลายเดียวกับฉลองพระองค์ด้วย

นับเป็นการอนุรักษ์ผ้าไทยอย่างแน่วแน่ เพื่อส่งเสริมภูมิปัญญาของพสกนิกรคนไทย และทรงใส่พระทัยกับการเลือกฉลองพระบาทให้แมตช์กับฉลองพระองค์ ที่ทรงพิถีพิถันเลือกใช้ผ้าไทยสื่อความหมายอันงดงามตามโอกาสนั้น ๆ

ดั่งการปรากฏพระองค์ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและทรงประกอบพิธีสมโภช พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารหลวงปู่ขาว อนาลโย และทรงเปิดเจดีย์อัฐบริขารเขมาภิรโต ณ วัดถ้ำกลองเพล อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู โดยฉลองพระองค์ไทยพระราชนิยม แบบชุดไทยเรือนต้นผ้าไหมสีชมพูพื้นเรียบ พระภูษาผ้าขิดสลับหมี่ ลายกาบแก้วบัวบาน และทรงกระเป๋าทรงถือผ้าขิดสลับหมี่

ผ้าขิดสลับหมี่ ลายกาบแก้วบัวบาน เป็นการนำเอาเทคนิคการทอผ้าขิดลายดอกบัว อันเป็นลายประจำจังหวัดหนองบัวลำภู และผสมผสานลาย เทคนิคมัดหมี่ลายขอสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา (ลายขอพระราชทาน) มาผสมผสานได้อย่างงดงาม

“สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี” พระราชสมภพเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พุทธศักราช 2521 ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต จากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เมื่อปี พ.ศ. 2543

ต่อมาทรงทหารบกหญิง และทรงดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตราพลเอกพิเศษ) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เป็นราชองครักษ์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์

วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงได้รับการสถาปนาเป็น “สมเด็จพระราชินีสุทิดา” ทรงดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศ ฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์

ในหลวง พระราชินี

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 4 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสุทิดาขึ้นเป็น “สมเด็จพระบรมราชินี” ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี”

สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเคียงข้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งในงานพระราชพิธี การพระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะบุคคลต่าง ๆ เข้าเฝ้าฯ พิธีเปิดอาคาร พิธีสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณของทหาร-ตำรวจ และพระราชกรณียกิจด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม การต่างประเทศ การอนุรักษ์ธรรมชาติ การดูแลสุขภาพ และความเป็นอยู่ของพสกนิกรทั่วประเทศ

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชพิธีอื่น ๆ

พร้อมกันนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงร่วมสืบสานพระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และสืบสานงานศิลปหัตถกรรมไทยทรงฉลองพระองค์ชุดผ้าไทยอันงดงามวิจิตรตระการตา

พระราชินี

ดั่งพระราชดำรัสของพระองค์ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงานวันสตรีไทยประจำปี 2562 “สายธารแห่งพระบารมี สู่การพัฒนาสตรีที่ยั่งยืน” ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่พสกนิกรคนไทยได้รับฟัง มีใจความตอนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้ามีความตั้งมั่นที่จะสนองพระเดชพระคุณ พระมหากรุณาธิคุณในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เหมือนดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดและแผ่ขยายพระบารมีแห่งสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี”