ค่าไฟพุ่ง ดันเงินเฟ้อกระฉูด ต.ค.ลุ้นอีกรอบ เมียนมาปิดซ่อมโรงก๊าซ

เสาไฟฟ้าแรงสูง

วิกฤตราคาพลังงาน สนค. ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อ ปี’65 ขยายตัว 6% หลังสะสม 7 เดือนพุ่ง 5.89% ด้าน กกพ.เลื่อนประกาศค่าเอฟทีงวด 3 ไร้กำหนด หวั่นกระทบผู้บริโภค เตรียมชง ครม.หา “งบฯกลาง” เยียวยาผลกระทบผู้ใช้ไฟฟ้า นักลงทุนฝุ่นตลบ 5 หุ้นโรงไฟฟ้า “BGRIM -GPSC-ECGO-RATCH-GULF” ร่วงระนาว

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ปรับเป้าหมายคาดการณ์ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) ปี 2565 ว่าจะขยายตัว 5.5-6.5% โดยมีค่ากลาง 6% เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิม คาดว่าจะขยายตัว 4.5-5.5% โดยมีค่ากลาง 4.5%

ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ที่สมมุติฐานเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไป โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ขยายตัว 2.5-3.5% จากเดิม 3.4-4.5% อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าเป็น 33.5-35.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากเดิมที่ 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ส่วนระดับราคาน้ำมันดิบดูไบยังทรงตัว 90-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

การคาดการณ์เงินเฟ้อครั้งนี้ ใกล้เคียงกับตัวเลขสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมิน 4.2-5.2% ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 6.2% สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) 6.5% คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) 5.7% และธนาคาพาณิชย์ ประเมิน 5.9% และ 6% เป็นต้น

ล่าสุดดัชนีเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ก.ค. 2565 เท่ากับ 107.41 เทียบกับมิถุนายน 2565 ลดลง 0.16% เป็นการลดลงจากเดือนก่อนหน้าครั้งแรกในรอบปี จากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง ส่งผลให้หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลง

ราคาพลังงานดันเงินเฟ้อพุ่ง

และเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2564 เพิ่มขึ้น 7.61% ที่สูงขึ้นเป็นผลมาจากราคาพลังงานในกลุ่มดีเซล ที่ส่วนใหญ่ขนส่ง-โลจิสติกส์ใช้ ซึ่งไม่ได้ลดราคาและก็กระทบต่อต้นทุนสินค้า ส่งผลให้เงินเฟ้อ 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ปี 2565 เพิ่มขึ้น 5.89%

ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานที่หักอาหารสดและพลังงานออก อยู่ที่ 103.50 เพิ่มขึ้น 0.50% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2565 และเพิ่มขึ้น 2.99% เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2564 และเฉลี่ย 7 เดือนเพิ่มขึ้น 2.01%

“ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อเทียบปีสูงขึ้น 7.61% มาจากสินค้ากลุ่มพลังงานที่ปรับสูงขึ้นถึง 33.82% แม้ว่าน้ำมันบางชนิด เช่น แก๊สโซฮอล์ เบนซิน จะลดลง แต่ดีเซลที่เป็นต้นทุนการผลิตและการขนส่งยังคงเดิม รวมถึงก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า ยังคงอยู่ในระดับสูง

ส่วนสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 8.02% โดยสินค้าที่เพิ่มขึ้น เช่น ไก่สด พริกสด ต้นหอม เครื่องประกอบอาหาร และอาหารสำเร็จรูป ราคาเปลี่ยนแปลงตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ดีเซล ค่าขนส่ง

ขณะที่หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่ม 7.35% สินค้าสำคัญที่สูงขึ้น เช่น หมวดเคหสถาน เพิ่ม 8.42% โดยเพิ่มขึ้นจากค่าไฟฟ้าและก๊าซหุงต้ม”

“แนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคม 2565 ยังประเมินในตอนนี้ไม่ได้ เพราะมีหลายปัจจัย โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการปรับขึ้นค่าเอฟทีงวด 3 ที่ยังไม่ได้ประกาศ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีน-สหรัฐ ซึ่งอาจจะมีผลต่อราคาพลังงาน อีกทั้งในเดือนสิงหาคม 2564 ฐานเงินเฟ้อต่ำ ก็น่าจะมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือนสิงหาคม 2565 สูงขึ้น”

ขณะที่รายงานข่าวสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) แจ้งเลื่อนกำหนดการชี้แจงตอบข้อซักถามค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) รอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 ที่ได้กำหนดไว้ในวันที่ 5 สิงหาคม 2565 เวลา 10.30 น.ออกไปอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งเป็นการเลื่อนครั้งที่ 2 นับจากที่เคยมีกำหนดแจ้งแถลงข่าวเป็นทางการครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565

ประยุทธ์ห่วงค่าไฟปรับขึ้น

สาเหตุของการเลื่อนแถลงข่าวนั้น มีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงเรื่องค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้น จึงสอบถามไปยังบอร์ด กกพ.ว่าสามารถชะลอการขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน หรือมีแนวทางลดผลกระทบอย่างไรหรือไม่

แต่ด้วยภาระของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่สูงมาก กกพ.จึงจำเป็นต้องประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) 68.66 สตางค์/หน่วย จากต้นทุนค่าพลังงาน อัตรา 93.43 สตางค์/หน่วย เมื่อรวมค่าไฟฐานเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 4.72 บาท/หน่วย

แม้ว่าจะเป็นอัตราสูงสุด (นิวไฮ) แต่ก็ถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในบรรดา 3 สมมุติฐานที่ กกพ.เปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนไปเมื่อ 12-25 ก.ค. 2565 ซึ่งอีกสองทางเลือกจะต้องขึ้้นค่าไฟถึง 5.17 บาท และ 4.95 บาท

อย่างไรก็ตาม การเลือกแนวทางนี้ทำให้ได้เงินค่าเชื้อเพลิงประจำงวดกลับมา 45,500 บาท แต่ยังค้างการชำระหนี้ค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ.ต้องแบกไว้ ให้ชะลอออกไปก่อน ประมาณ 83,010 ล้านบาท ที่ต้องยกยอดไปปี 2566 และมีการคาดการณ์ว่าเมื่อถึงเวลานั้น กกพ.อาจจะต้องปรับขึ้นค่าไฟต่อเนื่องอีก 3 งวด งวดละ 40 สตางค์ต่อหน่วยเป็นอย่างต่ำ

หากสถานการณ์วิกฤตพลังงาน โดยราคาก๊าซธรรมชาติยังไม่ปรับลดลง ซึ่งอัตรานี้ยังไม่นับรวมปัญหาเรื่องการชอร์ตซัพพลายก๊าซธรรมชาติ หากแหล่งก๊าซเมียนมาหยุดซ่อมในเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งมีโอกาสจะทำให้วัตถุดิบราคาถูกหายไปทันที 15% ในเดือนตุลาคม และลดลงไปอีก 22% ในเดือนธันวาคม ทำให้ไทยต้องหันไปเร่งนำเข้า LNG Spot เพิ่มมากขึ้น 921% ในราคาคาดการณ์ที่อาจจะสูงสุดถึง 874-991 บาทต่อล้านบีทียู

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานระบุว่า สำหรับผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้านั้น เดิมรัฐมีนโยบายลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ส.ค.นี้ คาดว่า กกพ.อาจจะมีการนำเสนอผ่านสำนักงานสภาพัฒน์ ของบประมาณกลางจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาสนับสนุนต่อไปจนถึงสิ้นปี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

เพราะหากปรับขึ้นค่าเอฟทีในอัตราดังกล่าว คาดว่าประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าขนาด 100-300 หน่วยต่อเดือนจะต้องแบกภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 434.68-1,439 บาทต่อเดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลจากการเลื่อนชี้แจงข้อเท็จจริงของ กกพ. ทำให้สถานการณ์การซื้อหุ้นกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผันผวนและปรับตัวลดลง อาทิ หุ้น BGRIM ของบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ลดลง 2.53% เหลือ 38.50 บาท หุ้น GPSC ของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ลดลง 1.06% เหลือ 69.75 บาท

และหุ้น ECGO ของบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ลดลง 1.08% เหลือ 184 บาท หุ้น RATCH ของบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ลดลง 0.65% เหลือ 38.25 บาท และหุ้น GULF ของบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ลดลง 1.02% อยู่ที่ 48.50 บาท

รายงานข่าวระบุว่า การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ประกาศบนโซเชียลมีเดียว่า จะปรับขึ้นค่าเอฟทีใหม่ งวดกันยายน-ธันวาคม 2565 เท่ากับ 93.43 สตางค์ ขึ้นจากงวดก่อน 68.66 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งตามหลักกฎหมายจะต้องแจ้งให้ประกาศให้ประชาชนทราบล่วงหน้า 1 เดือนก่อนบังคับใช้ ซึ่งหลังทาง กกพ.แจ้งไปยัง 3 การไฟฟ้า ก็เลยขึ้นประกาศ


แต่เหตุผลที่ กกพ.ยังไม่ชี้แจงการปรับขึ้น เพราะ กกพ.อยู่ระหว่างจัดทำมาตรการลดผลกระทบผู้ใช้ไฟฟ้า คาดว่าสัปดาห์หน้าจะเรียกประชุม 3 การไฟฟ้า และคงจะแถลงเป็นแพ็กเดียวกันในสัปดาห์หน้า