กฟผ.ใกล้ขาดสภาพคล่อง แบกหนี้แสนล้านขอขึ้นค่าไฟ 6 บาท

ไฟฟ้า

วิกฤตซ้อนวิกฤตพลังงาน ค่าไฟฟ้า-น้ำมันราคาพุ่ง หลัง กฟผ.ออกมายอมรับ แบกหนี้ค่าเชื้อเพลิงต่อไปไม่ไหว กระแสเงินสดเริ่มติดลบ-ใกล้ขาดสภาพคล่อง ดิ้นขอปรับขึ้นค่าไฟฟ้าสะท้อนจากการขึ้นค่า Ft แบบเต็มแมกซ์ในงวด 3/2565 (ก.ย.-ธ.ค. 65) ให้ประชาชน “เจ็บแต่จบ” ส่งผลค่าไฟขึ้นพรวดเดียว 6.12 บาท/หน่วย

ขณะที่ กกพ.ยังแบ่งรับแบ่งสู้ ชงผลสรุปรับความเห็น สูตรค่าไฟใหม่เข้าบอร์ดชี้ชะตา เกรงค่าไฟฟ้าสูงเกินไปจนประชาชนรับไม่ไหว ด้านวงการค้าก๊าซให้จับตาราคา LNG อัตราแลกเปลี่ยนพุ่งต่อ แหล่งเอราวัณยังผลิตก๊าซไม่พอ-ก๊าซเมียนมาปิดซ่อม ส่งผลค่าไฟฟ้าปรับขึ้นลากยาวอีกเป็นปี

วิกฤตพลังงานกำลังเป็นปัญหาซ้ำเติมประเทศไทย ทั้งราคาน้ำมันที่ยังยืนอยู่ในระดับสูง จนส่งผลกระทบต่อสถานะและความสามารถของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่รัฐบาลใช้เป็นกลไกหลักในการ “อุดหนุน” ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ

ประกอบกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็กำลังประสบภาวะวิกฤตจากการ “แบกรับ” ค่าเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าที่ปรากฏอยู่ในรูปของค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่า Ft) ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนจ่ายค่า Ft น้อยที่สุด และให้ กฟผ.รับภาระส่วนที่เหลือไว้ โดยไม่มีระยะเวลาการชดใช้คืนในส่วนที่รับภาระไว้

ล่าสุดการรับภาระค่าเชื้อเพลิงของ กฟผ. โดยส่งผ่านไปยังค่าไฟฟ้าของประชาชนให้น้อยที่สุด ปรากฏตัวเลขการแบกรับใกล้ที่จะทะลุ 100,000 ล้านบาท ส่งผลให้ทั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และ กฟผ.เองออกมาส่งสัญญาณ “จำเป็น” ที่จะต้องปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในประเทศอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ ภายใต้การจัดเก็บค่า Ft งวดที่ 3/2565 (ก.ย.-ธ.ค. 65)

โดย กฟผ.เตรียมที่จะเสนอความเห็นขอให้ปรับค่า Ft ตามสูตร 1 ของการเปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่อง ค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชนจะถูกปรับขึ้นอีก 6.12 บาท/หน่วย หรือสูงสุดเท่าที่มีมาเลยทีเดียว

กกพ.ขึ้นค่า Ft แน่สิ้นเดือนนี้

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ กกพ.จะพิจารณาข้อสรุปการเปิดรับฟังความเห็นเรื่องค่า Ft ตาม 3 ข้อสมมุติฐาน และ 1 ข้อเสนอของ กฟผ. เพื่อพิจารณาปรับค่า Ft งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 โดยข้อสมมุติฐานทั้ง 3 ข้อ ประกอบไปด้วย

สูตรที่ 1 เรียกเก็บค่า Ft 139.13 สต./หน่วย (+114.36 สต./หน่วย) ค่าไฟฟ้าจะต้องขึ้นอีก 5.17 บาท/หน่วย สูตรที่ 2 ค่า Ft เรียกเก็บ 116.28 สต./หน่วย (+91.51 สต./หน่วย) ค่าไฟฟ้าขึ้น 4.92 บาท/หน่วย และ สูตรที่ 3 ค่า Ft เรียกเก็บ 93.43 สต./หน่วย (+68.66 สต./หน่วย) ค่าไฟฟ้าปรับขึ้น 4.72 บาท/หน่วย

 

“ขณะนี้มีเหตุการณ์ผิดปกติที่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าหลายด้าน เช่น ราคาก๊าซธรรมชาติมีความผันผวนสูง ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น ปริมาณก๊าซธรรมชาติในประเทศส่วนหนึ่งก็หายไป และจำเป็นต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูแหล่งเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซสำคัญและมีราคาถูกกว่าแหล่งอื่นนานเป็นปี

ทางนโยบายจึงขอให้ กฟผ.รับภาระแทนไปก่อน ซึ่งพอมาถึงจุดหนึ่งก็ต้องมาดูว่าจะบริหารจัดการกับค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ.รับภาระแทนไว้อย่างไร ไม่เช่นนั้น กฟผ.อาจจะขาดสภาพคล่อง จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราค่าไฟในระยะหนึ่งก่อน เราจึงรับฟังความเห็นประชาชนก่อนตัดสินใจ

และอนาคตหากสามารถผลิตก๊าซในอ่าวไทยกลับมาเติมได้ก็อาจจะมีก๊าซส่วนที่ราคาถูกมาเติม ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของประเทศลดลง” นายคมกฤชกล่าว

อย่างไรก็ตาม ทาง กฟผ.แจ้งไปทางกระทรวงการคลัง ถึงเรื่องการชำระหนี้ แต่ถึงอย่างไร หนี้ที่ กฟผ.แบกรับภาระไว้ก็จะต้องได้รับการชำระคืน ดังนั้น จึงต้องมาพิจารณาว่าจะใช้คืนหนี้อย่างไรจึงจะเหมาะสม ก็ต้องเปิดรับฟังความเห็นประชาชน

จากเหตุผลที่ว่า ราคาเชื้อเพลิงสูงขึ้น (ราคาก๊าซนำเข้า LNG), สงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ราคาพลังงานโลกสูงขึ้นทั้งก๊าซและน้ำมันดิบ, อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนตัวลงมาก และปริมาณก๊าซธรมชาติในประเทศลดลง (ประกอบกับจะมีแหล่งก๊าซในเมียนมาทำการปิดซ่อมในเดือนตุลาคมนี้ด้วย)

ดังนั้น กกพ.ในฐานะที่ต้องกำกับดูแลราคาพลังงานในประเทศจะต้องมาพิจารณาว่า ถ้าไม่ขึ้นค่าไฟฟ้า กฟผ.กับ ปตท.จะช่วยรับภาระต่อไปได้อย่างไร ตอนนี้หนี้ค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ.รับภาระไว้มันใกล้จะถึง 100,000 ล้านบาท กฟผ.มีเงินไม่พอจ่ายค่าเชื้อเพลิงก็ต้องติดหนี้ ปตท. ขึ้นอยู่กับว่า ปตท.จะยอมให้ กฟผ.ติดหนี้ค่าเชื้อเพลิงต่อไปได้หรือไม่

“ต้องยอมรับความจริงว่า มันวิกฤตแล้ว ส่วนตัวผมมีทางเลือกที่จ่ายค่าไฟฟ้าตามข้อเท็จจริงบวกกับชำระหนี้บางส่วน แต่ต้องมาดูว่าจะชำระหนี้เท่าไรเพื่อให้เศรษฐกิจมันไปได้ด้วย และที่สำคัญ กฟผ.ต้องไม่ขาดสภาพคล่อง แต่ผมตอบแทน กกพ.ไม่ได้ว่า จะได้ข้อสรุปเรื่องค่า Ft งวดต่อไปอย่างไร

ส่วนการกู้หรือไม่กู้เงินของ กฟผ.ที่ ครม.เปิดช่องเอาไว้ (25,000 ล้านบาท) ขึ้นอยู่กับกระทรวงพลังงานพิจารณา ส่วนการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าที่จะกระทบกับผู้ใช้ไฟฟ้านั้น รัฐบาลอาจจะต้องพิจารณาใส่เงินเข้ามาช่วยด้วย” นายคมกฤชกล่าว

กฟผ.ขอปลดหนี้เจ็บแต่จบ

ก่อนหน้านี้ นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ออกมากล่าวว่า กฟผ.ได้บริหารจัดการค่าไฟฟ้าตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่งวดค่า Ft เดือนกันยายน 2564 จนถึงปัจจุบันไปรวมแล้วเกือบ 100,000 ล้านบาท

ในขณะที่ กฟผ.ได้พยายามแก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องไปแล้วจำนวน 25,000 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการแบกรับภาระค่าเชื้อเพลิงที่เกินกำลังของ กฟผ. เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น กฟผ.จึงมีความจำเป็นต้องแจ้งต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ถึงต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริง

“ผมวอนรัฐบาลให้เข้ามาช่วยดูแลเรื่องนี้เพื่อไม่ให้กระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว” นายบุญญนิตย์กล่าว

ทั้งนี้ที่ผ่านมา “กำไร” ของ กฟผ.จะถูกนำส่งกระทรวงการคลัง เป็นเงินรายได้แผ่นดินเพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศด้านอื่น ๆ ส่วน “กำไรสะสม” ของ กฟผ.จำนวน 3.29 แสนล้านบาท ที่ปรากฏในงบแสดงฐานะทางการเงินนั้น “มันไม่ใช่เงินสด”

แต่เป็นการแสดงตัวเลขสะสมของมูลค่าสินทรัพย์ที่ กฟผ.นำกำไรส่วนที่เหลือจากการนำส่งกระทรวงการคลังในแต่ละปีไปลงทุนในรูปของสินทรัพย์ที่ใช้ผลิตและส่งไฟฟ้า ดังนั้น กฟผ.จึงไม่สามารถนำกำไรสะสมดังกล่าวมาจ่ายชดเชยค่าเชื้อเพลิงที่รับภาระใกล้จะถึง 100,000 ล้านบาทได้

ด้าน ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ กฟผ.แบกรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าไว้ประมาณ 83,010 ล้านบาท และ กฟผ.ได้เสนอสูตรค่าไฟต่อ กกพ.ไป 4 เคส ก่อนหน้านี้

เพื่อเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนถึงแนวทางการพิจารณาขึ้นค่า Ft งวด 3/2565 เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ยังไม่ได้จ่ายค่าเชื้อเพลิงตามบิลให้กับ ปตท และยังไม่ได้เรียกเก็บคืนตั้งแต่เดือนธันวาคมปีก่อน

“ถ้าไม่ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจะมีผลทำให้ กฟผ.ขาดสภาพคล่อง เราได้แจ้งกระทรวงพลังงานไปแล้ว และ ครม.ก็อนุมัติให้ กฟผ.ไปกู้เงินมาเพื่อบริหารจัดการสภาพคล่อง โดยรัฐค้ำประกันให้ในวงเงิน 25,000 ล้านบาท และให้ กฟผ.ทยอยกู้ตามความจำเป็น ซึ่งขณะนี้หลักการกู้เงินได้เข้าบอร์ด กฟผ.ไปแล้ว

โดยฝ่ายบัญชีดำเนินการและจริง ๆ เราก็ยังมีวงเงิน O/D อยู่ ส่วนกระบวนการกู้ก็จะดำเนินการต่อไปตามระเบียบที่กำหนดอำนาจวงเงิน หากกู้เยอะ ๆ ก็ต้องให้บอร์ดอนุมัติ แต่จะเริ่มดำเนินการได้เมื่อไหร่ หรือวงเงินเท่าไรนั้น ขึ้นกับการพิจารณาทางฝ่ายบัญชี กฟผ.ที่จะดำเนินการต่อไป” ดร.จิราพรกล่าว

กระแสเงินสด กฟผ.เริ่มติดลบ

มีรายงานข่าวถึงเงื่อนเวลาในการบริหารจัดการค่าไฟฟ้าของ กฟผ.นั้นจะเชื่อมโยงกับปัจจัยหลัก ได้แก่ 3 สมมุติฐาน และ 1 ข้อเสนอของ กฟผ. จากค่า Ft งวดที่ 3/2565 โดย กฟผ.ยื่นข้อเสนอที่เรียกว่า “เจ็บแต่จบ” โดยให้เรียกเก็บค่า Ft 236.97 สต./หน่วย (+212.2 สต./หน่วย) ค่าไฟฟ้าจะถูกปรับขึ้นสูงถึง 6.12 บาท/หน่วย ซึ่งเป็นข้อเสนอที่สูงกว่าสมมุติฐานทั้ง 3 สูตรที่ กกพ.ตั้งเอาไว้ในการเปิดรับฟังความคิดเห็น

สำหรับสาเหตุที่ กฟผ.ต้องการให้เรียกเก็บค่า Ft 236.97 สต./หน่วย ก็เพราะปัจจุบันสภาพคล่อง กฟผ.เริ่มถดถอยลงแล้ว แม้ว่า กฟผ.จะยังมีกำไรมากถึง 50,000 ล้านบาทก็ตาม แต่ทว่า “กระแสเงินสด” กลับเริ่มติดลบมาตั้งแต่ไตรมาส 4/2564 ต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 1/2565

“สิ่งที่ กฟผ.ต้องการคือ ออปชั่นขึ้นค่าไฟฟ้า เพื่อให้ใช้หนี้ค่าเชื้อเพลิงที่แบกรับเอาไว้ให้หมดภายในสิ้นปี 2565 หรืออย่างช้าที่สุดไตรมาส 1/2566 หรือถ้าไม่ได้เลยก็อาจจะขอทางเลือกในสูตรที่ 2 เรียกเก็บค่า Ft ที่ 116.28 สตางค์/หน่วยก็ได้ เพราะจะใช้หนี้ได้ทันภายในครึ่งปีแรกของปี 2566 ถ้า กกพ.ยอมรับข้อเสนอนี้ก็ดี เ

พราะไม่เช่นนั้น กฟผ.ก็ต้องไปกู้เงิน (วงเงิน 25,000 ล้านบาท) ก็จะต้องเกิดดอกเบี้ยตามมา ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ประชาชนก็จะเป็นผู้แบกรับภาระที่ กฟผ.ไปกู้สะท้อนอยู่ในค่าไฟฟ้า ถ้ายังคงตรึงค่าไฟยาว ๆ ก็จะส่งผลต่อสภาพคล่อง ส่วนหนทางอื่นอย่างการของบประมาณมาเสริมสภาพคล่องของ กฟผ.ก็เป็นหนทางที่ทำได้ แต่คนที่เสนอต้องเป็น กระทรวงพลังงาน” แหล่งข่าวกล่าว

เปิดงบฯการเงิน กฟผ.

ด้าน นายกิจพัฒน วงษ์เมตตา รองผู้จัดการนักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บริษัทจัดการหลักทรัพย์บัวหลวง กล่าวว่า หากพิจารณางบการเงิน กฟผ. ในช่วงไตรมาส 1/2565 ที่ต้นทุนค่าก๊าซปรับขึ้นไปสูง แต่ กฟผ.ยังระบุว่า มีกำไรอยู่ถึง 15,000 ล้านบาทนั้น เป็นเพราะมาจากการบันทึกตัวเลขช่วงที่ราคาก๊าซแพง กฟผ.จะบันทึกเหมือนได้รายได้เพิ่มขึ้น

แต่จริง ๆ “ค่าไฟ” ได้ไม่ถึง ซึ่ง กฟผ.จะไปตั้งเป็นรายได้ “ค้างรับ” ค่าหนึ่งไว้ ถ้าดูในแง่กระแสเงินสด (operation cash flow) ติดลบ 30,000 ล้านบาท นี่คือตัวเลขจริง ซึ่งไตรมาส 2-3 ก็จะยังเห็นติดลบต่อเนื่องเช่นกัน และในไตรมาส 2 กฟผ.มีภาระจะต้องไปจ่ายคืนให้ RATCH ด้วยอีก ซึ่งมาดู ณ สิ้นไตรมาส 1 ทาง กฟผ.เหลือเงิน 50,000 กว่าล้านบาท

ฉะนั้นหากไตรมาส 2-3 ติดลบต่อไตรมาสละ 20,000-30,000 ล้านบาทไปเรื่อย ๆ และไม่มีการขึ้นค่าไฟฟ้า ก็จะทำให้ กฟผ.เริ่มมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง และสุดท้ายจะสะท้อนมาที่ค่าไฟ ถ้า กฟผ.แบกรับไว้ไม่ไหว

“รายได้ค้างรับหมายถึง ส่วนต่างจากราคาก๊าซที่สูงขึ้น 5 บาท แต่ขายได้ 4 บาท เหลือ 1 บาท เขาจะไปลงเป็นรายได้ค้างรับ ซึ่ง ณ ตอนนี้ กฟผ.มีรายได้ค้างรับ 70,000 ล้านบาทแล้ว หมายถึง ที่ไม่ได้รับเงินจริง ๆ มันเยอะขึ้นเรื่อย ๆ และมันจะบอกว่า อนาคตค่าไฟฟ้าจะแพงไปแค่ไหน ซึ่งปกติค่าไฟค้างรับบวกลบไม่เกิน 3,000-4,000 ล้านบาทเท่านั้น

แต่ตอนนี้ 60,000-70,000 ล้านบาท เข้าไปแล้ว ซึ่งตรงนี้มี ปตท.มาช่วยไว้ประมาณ 10,000 ล้านบาท ถ้า ปตท.ไม่ช่วยจะพุ่งไปกว่า 80,000 ล้านบาทแน่นอน ซึ่งจะแปลว่า ค่าไฟฟ้าจะแพงต่อไปยาวนาน และขึ้นอยู่กับราคาก๊าซที่เป็นต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจะเป็นอย่างไร แหล่งเอราวัณเป็นหลักว่าจะสามารถกลับมาผลิตได้เร็วแค่ไหน” นายกิจพัฒนกล่าว

กองทุนน้ำมันฯยังรับไหว

ด้านสถานการณ์ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ใช้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกินลิตรละ 35 บาทนั้น ปรากฏกองทุนติดลบไปแล้ว -122,935 ล้านบาท และคาดว่าจะติดลบต่อเนื่อง แม้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจะลดลงไปมาก แต่ราคาก็ดีดกลับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว “มีความผันผวนมาก” โดยกองทุนอุดหนุนราคาดีเซลอยู่ลิตรละ 3 บาทกว่า ประกอบกับเริ่มมีการศึกษาว่าควรจะต้องปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลอีกลิตรละ 1 บาทหรือไม่ จากราคาดีเซลที่แท้จริงอยู่ที่ลิตรละ 38 บาท

นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า ณ วันที่ 17 ก.ค. 2565 กองทุนติดลบ -112,935 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมันติดลบ -74,162 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบ -38,773 ล้านบาท ซึ่งภาระการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลของกองทุนลดลงไปเกือบลิตรละ 10 บาท

จากที่เคยอุดหนุนสูงลิตรละ 10 กว่าบาท เหลือประมาณลิตรละ 3.82 บาท ประกอบกับสภาพคล่องจากเงินฝากที่มีอยู่ 4,244 ล้านบาท จึงมั่นใจว่ากองทุนน้ำมันฯจะยังสามารถดูแลเสถียรภาพราคาดีเซลให้อยู่ที่ลิตรละ 34.94 บาท ไม่เกินลิตรละ 35 บาท ต่อไปได้ตลอดเดือนกรกฎาคมนี้

โดยปัจจุบันที่กองทุนอุดหนุนราคาดีเซลลิตรละ 3.82 บาท คิดเป็นเงินไหลออกวันละ 236.63 ล้านบาท หรือเดือนละ 7,336 ล้านบาท อุดหนุน LPG วันละ 44.71 ล้านบาท หรือเดือนละ 1,386 ล้านบาท ซึ่งหากเงินสนับสนุนเป็นกรณีพิเศษเพื่อช่วยเหลือประชาชนเป็นการเร่งด่วนจากสถานการณ์วิกฤตพลังงาน วงเงิน 3,000 ล้านบาท ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้ามาในระบบ จะช่วยแบ่งเบาภาระการอุดหนุนของกองทุนลงได้อีกเดือนละ 1,000 ล้านบาท เป็นเวลา 3 เดือน