เอกชนนับถอยหลังเลือกตั้ง ลุ้นนโยบายหาเสียงกู้วิกฤต

เลือกตั้ง

2 บิ๊ก “หอการค้า-สภาอุตฯ” ลุ้นไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวฟื้นเศรษฐกิจปี’66 ย้ำรัฐอย่าตั้งกฎเขย่าขวัญ สแกนปัจจัยเสี่ยง “ค่าไฟ” ดันต้นทุนพุ่ง 13% ดอกเบี้ยขาขึ้นถล่ม “เอสเอ็มอี” ประสาน “รัฐ-เอกชน” แก้ต้นทุนพลังงาน นับถอยหลังเลือกตั้งแนะชูนโยบายที่ปฏิบัติได้เสริมขีดแข่งขันไม่มุ่งแต่ประชานิยม

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งก่อนหน้านี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา 20 ล้านคน ยิ่งจีนเปิดประเทศจะทำให้มีนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามาเพิ่มอีก 5 ล้านคน รวมเป็น 25 ล้านคนและภายหลังจากที่ไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ทำให้มั่นใจว่ากลุ่มท่องเที่ยวน้อยไม่ต่ำกว่า 25 ล้านคนแน่นอน

“ภาพการเปิดประเทศวันนี้ เป็นสิ่งที่ดีสำหรับประเทศไทย เพราะประชาชนต่างประเทศที่เข้ามามีความเชื่อมั่น ยิ่งหลังการเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปคยิ่งสร้างความมั่นใจ เป็นโอกาสที่ดีที่เราต้องรีบเปิดใช้โอกาสนี้รับสิ่งดี ๆ เข้ามาเร็วที่สุด เพราะการท่องเที่ยว เป็นเครื่องมือที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นเร็วที่สุด ทุกภาคส่วนจะได้ประโยชน์จากตรงนี้”

สนั่น อังอุบลกุล
สนั่น อังอุบลกุล

แนะดูตัวอย่าง “มัลดีฟ”

สำหรับความกังวลที่ว่านักท่องเที่ยวจะนำโควิดเข้ามาหรือไม่นั้น จากการที่มีโอกาสเดินทางไปเกือบทุกประเทศพบว่า โควิดเป็นเรื่องที่ไม่รุนแรงจนรักษาไม่ได้ ทั้งคนที่เข้ามาต้องดูแลตนเอง ประเทศต่าง ๆ ที่ปล่อยให้นักท่องเที่ยวออกต้องมีมาตรการที่ดีอยู่แล้ว เพราะประเทศต้นทางก็กลัวว่าคนจะนำโควิดกลับไปจะมีผลเสียมากกว่า และคิดว่าประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่ดีมากอยู่แล้ว

ส่วนประเทศจีนก็มีมาตรการซีโร่โควิด และประชาชนก็เข้าใจว่าถ้าจะออกมาต้องมีความปลอดภัยในระดับที่ใช้ได้ เราจึงควรเตรียมพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากประเทศต่าง ๆ อย่าไปตั้งเงื่อนไขสร้างปัญหา เพราะมีตัวอย่างบางประเทศที่สร้างปัญหาแล้ว ในที่สุดระบบเศรษฐกิจก็ได้รับการกระทบอย่างหนัก

และในฐานะประธานสภาธุรกิจ “ไทย-มัลดีฟ” จึงได้เห็นโมเดลตอนที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด โดยเกาะ “มัลดีฟ” ได้เปิดการท่องเที่ยวอย่างระมัดระวัง สามารถพลิกเป็น “โอกาส” ทางเศรษฐกิจได้ ดังนั้นถ้าประเทศไทยสามารถเปิดประเทศ โดยทดลองดูก่อน ไม่ใช่ไปปิดกั้น หรือทำให้คนที่จะมาเที่ยวงง ก็อาจพลาดโอกาสทำให้เสียเปรียบประเทศอื่น ๆ

นับถอยหลังเลือกตั้งเงินสะพัด

นายสนั่นกล่าวด้วยว่า ในจังหวะนับถอยหลังก้าวสู่การเลือกตั้งรอบใหม่ อยากให้ทุกพรรคคำนึงถึงปากท้องประชาชนเป็นอันดับ 1 และทำให้การเลือกตั้งเป็นไปตามระบบประชาธิปไตย ทั้งคาดหวังว่านโยบายของรัฐบาลที่เข้ามาต้องดูแลเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งหอการค้าพร้อมสนับสนุนเต็มที่ แต่ขออย่ามุ่งแต่การกำหนดนโยบายหาเสียงประชานิยมมากเกินไป เพราะในระยะไกล นโยบายเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญต่อประเทศไทย โดยมองไปถึงการเติบโตอย่างยั่งยืน มีขีดความสามารถในการแข่งขัน จึงต้องทำทั้งในระยะกลางและระยะยาว

“ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ หอการค้าประเมินว่าจะช่วยให้มีเงินหมุนเวียนเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ 70,000-80,000 ล้านบาท สิ่งที่อยากเห็นคือ ไม่ว่าพรรคไหน ก็อยากให้มีนโยบายเศรษฐกิจที่มองระยะไกล อย่ามุ่งแต่ประชานิยม อย่าคิดแค่วันนี้ ซึ่งเราเองก็อยากทำหน้าที่ประสานงานเชื่อมโยงระหว่างรัฐกับเอกชนในการขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจ”

ย้ำท่องเที่ยวเครื่องยนต์ฟื้น ศก.

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ไม่ควรมีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบกะทันหัน ที่อาจทำให้นักท่องเที่ยวที่กำลังมีแผนเดินทางมายังประเทศไทยไม่สามารถยอมรับได้ หรือต้องปรับแผนการท่องเที่ยว ซึ่งเสี่ยงทำให้ไทยเสียโอกาสในการดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากสหภาพยุโรปที่มีแผนเดินทางมาเที่ยวไทยเพื่อหนีช่วงพลังงานแพงในหน้าหนาวของประเทศเขา

ประเด็นนี้ต้องระวังมาก เพราะภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย การเดินทางมาของนักท่องเที่ยว 25-26 ล้านคน ทำให้เกิดการขับเคลื่อนห่วงโซ่ในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ช่วยสร้างงาน กระจายรายได้ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

เกรียงไกร เธียรนุกุล
เกรียงไกร เธียรนุกุล

“เราไม่ต้องการให้การท่องเที่ยวสะดุด ต้องทำให้รื่นไหล เพราะเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ เราคาดหวังตัวนี้มาก กลับมาครั้งนี้ต้องแรงและเร็ว รับคลื่นนักท่องเที่ยว อย่าให้สะดุด เพราะจะทำให้เป้าหมายที่ตั้งไว้ปีนี้ไม่ถึง 25-26 ล้านคน นักท่องเที่ยวทำให้เกิดการสร้างงาน ฟื้นเศรษฐกิจ กระจายรายได้ ไม่เป็นภาระต่อภาครัฐที่ไม่ต้องมาอุ้มภาคบริการ”

ต้นทุน “ค่าไฟ” ปัญหาใหญ่

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่จะเป็นประเด็นสำคัญก่อนมีการเลือกตั้งรอบใหม่คือ ปัญหาต้นทุนภาคเอกชน ทั้งจากอัตราค่าไฟฟ้าและดอกเบี้ย แม้ล่าสุดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะปรับลดอัตราค่าเอฟทีรอบเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 มีผลให้ค่าไฟฟ้าปรับขึ้น “ในอัตราที่ลดลง” จาก 5.69 บาท เหลือ 5.33 บาทหน่วย แต่การปรับขึ้นนี้ก็ยังส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจปรับสูงขึ้นเฉลี่ย 13% จึงจะเห็นได้ว่าภาคเอกชนไม่ใช่เพียงเฉพาะภาคการผลิต

แต่ยังรวมไปถึงภาคบริการ เช่น โรงแรม โรงเรียน หรือล่าสุดโรงพยาบาลต้องประกาศปรับขึ้นค่าบริการและห้องพัก เพื่อให้สอดรับกับต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและบริการ และอัตราเงินเฟ้อของประเทศ

ประเด็นนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้มีการเข้าพบรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) ไปแล้ว และได้เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐและเอกชนด้านพลังงาน หรือ กรอ.ด้านพลังงาน ซึ่งท่านเห็นชอบในหลักการแล้ว อยู่ระหว่างการจัดตั้ง และเร็ว ๆ นี้จะมีการประชุม กกร. เพื่อหารือในประเด็นที่หยิบยกไปพิจารณาใน กรอ.พลังงานนัดแรก ซึ่งจะไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านพลังงานอย่างตรงจุด

และมองว่าประเด็นเรื่องค่าไฟฟ้าจะไม่ได้หยุดอยู่แค่ค่าเอฟทีงวดแรก แต่ต้องคำนึงความสามารถในการแข่งขันของไทยในอนาคต อัตราค่าไฟฟ้าเป็นปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน

“เรื่องที่รองนายกฯให้ ส.อ.ท.หารือกับสมาชิกโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็น 1 ใน 45 กลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อหาทางออกเรื่องนี้ เราได้หารือแล้ว ทุกฝ่ายอยากร่วม แต่ต้องมีรัฐเป็นผู้นำ เพราะเรื่องค่าไฟฟ้า เป็นเรื่องกฎหมาย สัมปทาน จะปรับแก้ตรงไหนได้ไหม รัฐคือต้นสัญญา ก็ต้องมาคุยกันให้เป็นระบบ ซึ่งจะนำไปสู่การดูแลโครงสร้างราคาพลังงานในอนาคต เรากังวลเรื่องความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ต้องปรับให้ดี ต้องถอยคนละก้าว ปรับร่วมกัน ให้วินวินทุกฝ่าย ความสามารถต้องคงอยู่

เพราะเราแข่งขันท่ามกลางคู่แข่งที่โตเร็ว ระยะยาวเราจะแข่งได้อย่างไร การดึงเงินลงทุนแย่งกัน เราต้องการให้สร้างงาน สร้างเศรษฐกิจ ถ้าค่าพลังงานแพงกว่าเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกันแบบไม่มีคำอธิบาย รัฐคือผู้รู้ปัญหา และมีหน้าที่ไปแก้ หากโครงสร้างผิด ปรับสัดส่วนให้มีความเสถียร ทั้งการเงิน ราคา ปริมาณที่เพียงพอ เพื่อรองรับการโตของเศรษฐกิจ ส่วนเอกชนก็มีหน้าที่ของเราในการพัฒนาสินค้าแข่งได้”

สแกนปัจจัยลบ ศก.

นายเกรียงไกรกล่าวต่อว่า ปีนี้อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้ต้องระวังการไหลของเงินทุน และต้องจับตาแบงก์ชาติ แม้ไม่อยากปรับกลัวเป็นภาระประชาชน หนี้ครัวเรือนพุ่ง ในภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ SMEs ภาระต้นทุนการเงินสูงขึ้น กดดันการลงทุน ขณะที่ในอีกด้านยังมีเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ที่มีแนวโน้มบานปลายขยายไปหลายทวีปพื้นที่อีก จีน ไต้หวัน คาบสมุทรเกาหลี ตะวันออกกลาง รัสเซีย-ยูเครน และนาโต้

เหล่านี้จะเป็นปัญหากดดันเศรษฐกิจของโลก ทำให้มีการปรับประมาณการ GDP ลดลง จาก 3.2% เหลือ 2.7% ส่วน GDP ไทย 3.5% เพราะมีท่องเที่ยวมาช่วย ขณะที่ส่งออกปีนี้จะขยายตัวลดลงเหลือ 1-2% จากปี 2565 โต 7-8% โดยมีค่าเงินบาทเป็นความท้าทาย ส่วนการลงทุนยังมี และต้องเร่ง เพราะต้องแข่งแย่งกันกับเพื่อนบ้าน สุดท้ายเชื่อว่าหลายคนยังอยากมาไทย แต่สะดุดตรง “ค่าไฟ” ที่สูงกว่าเวียดนาม และมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอีก

นโยบายเศรษฐกิจในฝัน

นายเกรียงไกรกล่าวด้วยว่า ในช่วงนับถอยหลังเข้าสู่การเลือกตั้ง อยากให้ทุกพรรคเสนอนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจน แข่งขันได้ เมื่อมาเป็นรัฐบาล เพราะถ้าเศรษฐกิจแข็งแรงจะเป็น “อาวุธ” ที่ทำให้ประเทศแข่งได้ หากประชาชนอยู่ดีกินดี ก็จะสามารถแก้ปัญหาสังคมได้ และช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้ลดลง จึงอยากขอให้ทุกพรรคช่วยกันวางภาพนโยบายที่มองถึงการเสริมความสามารถการแข่งขันของประเทศ จากการเปลี่ยนแปลงเทรนด์ต่าง ๆ ของโลกว่าไทยจะแข่งขันอย่างไร

อาจมองถึงขนาดของระบบราชการ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้รวดเร็วและง่าย เช่น การใช้ระบบดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ รวมถึงการกิโยตินกฎหมาย และระเบียบที่ล้าหลัง ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ และก่อให้เกิดปัญหาคอร์รัปชั่นตามมา