สุพัฒนพงษ์ ดีไซน์เศรษฐกิจรับเลือกตั้ง โรดโชว์เคาะประตูค่ายรถอีวีอเมริกา-ยุโรป

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
ผู้เขียน : ปิยะ สารสุวรรณ

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีที่กุมบังเหียนเศรษฐกิจตึกไทยคู่ฟ้า-ใกล้ชิดศูนย์กลางอำนาจ คลุกวงในนักลงทุนแห่งอนาคตทั้งไทย-ระดับโลก มีคอนเน็กชั่นกับนักธุรกิจมั่งคั่ง-มหาเศรษฐีเบอร์ 1 ของไทย

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “รองนายกฯเศรษฐกิจ-รมว.พลังงาน” ในช่วงปลายสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์-รอยต่อเศรษฐกิจไทย ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลใหม่ และอนาคตหลังการเลือกตั้ง ชื่อ “สุพัฒนพงษ์” จะอยู่ตรงไหน

ดีไซน์แพ็กเกจช่วยอาชีพอิสระ

“สุพัฒนพงษ์” ดีไซน์แพ็กเกจช่วยกลุ่มคนตรงกลาง ที่ยังตกหล่นจากมาตรการช่วยเหลือจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการช้อปดีมีคืน

คนเปราะบางที่ต้องดูแล คนชั้นล่างสุด สวัสดิการแห่งรัฐดูแลอยู่แล้ว วันนี้โครงสร้างถูกออกแบบการใช้งบประมาณดูแลตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่จำนวน 4-6 แสนล้านบาท แต่สิ่งที่สำคัญต้องทำต่อคือเรื่องของเอสเอ็มอี กำลังคิดอยู่ว่าจะทำอะไร

“ขาดแต่เฉพาะคนตรงกลางที่ไม่เสียภาษี กำลังดูอยู่ แต่บอกไม่ได้ หลักการคือต้องหาทางดูแลคนตรงกลาง คนตัวเล็ก กำลังดีไซน์สำหรับคนกลุ่มนี้อยู่ อาชีพอิสระ หรือพ่อค้า ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว”

“ก็ไม่รู้ยุบสภาเมื่อไหร่ (ทันไตรมาสแรกปี’66 หรือไม่) พยายามจะออกแบบ อันนี้คือ เบสิกแพ็กเกจ ที่เหลือจะเป็นการสร้างโอกาส ใครฉกฉวยโอกาส ใครขยัน ก็ทำไป”

เขาประเมินโอกาสของเศรษฐไทยที่จะฉกฉวยจากการเปิดประเทศของจีน ในวันที่ 8 มกราคมนี้ว่า ผมคิดว่าค่อยเป็นค่อยไป เราได้เวลาปรับตัว ในการทำการท่องเที่ยวแบบใหม่ หารายได้ต่อนักท่องเที่ยวที่สูงขึ้น อยู่นานขึ้น ใช้จ่ายในประเทศมากขึ้น

คงไม่ถึงกับต้องปรับทั้งระบบ การท่องเที่ยวในอดีตมันง่าย ลงทุนน้อย แลกมาด้วยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม พอพ้นช่วงโควิด ทุกคนทราบดี ชำรุด เสียหาย ไปฟักฟูม ไปปรับปรุง ดีขึ้นเยอะ คงไม่มีใครยอมอีกแล้ว

“ต้องระมัดระวัง คัดเลือก จำกัดคน อาจจะมายาก เราอาจจะไม่ได้ถึง 40 ล้าน แต่คนที่มาต้องคุณภาพ เข้าไปได้ไม่เกินกี่คน ต้องอยู่นานขึ้น ไม่ใช่มาทัวร์ ดู ๆ ๆ แล้วก็กลับ”

เคาะประตูค่ายรถอีวีสหรัฐ

“สุพัฒนพงษ์” กางแผนโรดโชว์เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศปีหน้า-ช่วงคาบเกี่ยวก่อนการเลือกตั้งและรัฐบาลรักษาการ ขาเข้า (inbound) จะเกิดปรากฏการณ์ใหญ่ 3 ปรากฏการณ์

ปรากฏการณ์แรก ในช่วงรัฐบาลรักษาการ สหรัฐอเมริกาจะจัดการประชุมสุดยอดซัมมิตของสภาหอการค้าสหรัฐ ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี หมุนเวียนกันไปในภูมิภาคอาเซียน โดยไทยจะเป็นประเทศแรก ๆ และใช้ไทยเป็นศูนย์กลางในการเข้ามาพักอาศัย ประชุม และเป็น satellite ในการบินไปภูมิภาคอาเซียน เป็นช่วงจังหวะที่ดีที่สุดของโอกาสในการลงทุน

ปรากฏการณ์ที่สอง ในช่วงต้นปี-ก่อนเลือกตั้ง สหพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (keidanren) และปรากฏการณ์ที่สาม สหภาพยุโรปมีตารางมาแวะเวียนแล้วค่อนข้างจะชัดเจน ซึ่งได้บอกประธาน กกร. และทุกฝ่ายไว้แล้วว่า “ต้องจับให้อยู่”

ขาออก (outbound) การโรดโชว์ต่างประเทศ คือ ม.ล.ชโยทิต กฤษดากร ผู้แทนการค้าไทย และหัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ มองไว้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

“เปิดศักราชใหม่เริ่มจากสหรัฐก่อน เพราะจะมาเยือนเราอยู่แล้ว ทำความเข้าใจกับเขาว่าเราจะก้าวไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ และมีศักยภาพอย่างไร”

รวมถึงสหรัฐจะเป็นเจ้าภาพจัดงานเอเปคในปีหน้า สหรัฐเห็นตรงกันกับประเทศไทยว่า BCG ดี และจะใช้เป็นธีม BCG in Action หรือ BCG Execution เป็นภาคต่อจากการที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานเอเปค

นอกจากนี้ยังจะไปพบ นักลงทุนที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ของเรา เช่น อีวี อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัลเทคโนโลยีคลาวด์ AWS ซึ่งประกาศตัวอยู่แล้วก็ไปตอกย้ำ

“อีวีเจ้าใหญ่ ๆ ของอเมริกาที่มาดม ๆ เวียนไปเวียนมาอยู่ ก็ไปเคาะประตู เปิดหน้าร้าน วันนี้เราจะเปิดหน้าร้าน จุดขายของเราคือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน”

นายกรัฐมนตรีประกาศปี 2050 ว่า ในเมื่อสหรัฐ พร้อมประกาศเรื่องนี้อย่างจริงจัง บางบริษัทที่เป็นดิจิทัลเทคโนโลยี ประกาศปี 2030 ด้วยซ้ำ เราก็จะใช้จุดนี้เป็นจุดขาย

“ถามว่าทำไมประเทศไทยถึงใช้ความเป็นกลางทางคาร์บอนเป็นจุดขายเพราะประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ไม่ค่อยกลาง ประเทศอื่นมีความยากลำบากกว่า คำด่าของเราที่บอกไฟแพงวันนี้ อาจจะเป็นกุศลในอนาคตก็ได้ เพราะเราใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดกว่าถ่านหินเท่าตัว”

วันนี้ที่อยู่ในเมืองไทยก็มีฟอร์ด อยู่ระหว่างตัดสินใจว่าจะตั้งฐานการผลิตอีวีพวงมาลัยขวาที่ไหนดี เราก็ต้องแข่ง ตอนนี้เขาดูแอฟริกา ภูมิภาคอาเซียนด้วย ฟอร์ดจะเป็นอีวีสมบูรณ์แบบเหมือนกัน รวมถึงเทสลา

จัดทริปโรดโชว์ยุโรป

นอกจากสหรัฐ ทริปโรดโชว์แถบยุโรป (EU) ที่ปักหมุดเอาไว้ คือ เยอรมนี เพื่อแสดงจุดยืนถึงความตั้งใจสนับสนุนความเป็นกลางทางคาร์บอน เป็นการขอความร่วมมือ เป็นพันธมิตรกัน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่มีจุดแข็งปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าประเทศอื่นในอาเซียน

“เบนซ์ตัดสินใจมาแล้ว เอ็มโอยูกับเบนซ์ BMW ต้องไปตาม ก็มาให้หมดครับ ทุกค่าย ไฮโดรเจนเราก็พร้อมจะสนับสนุน รวมทั้งการทำความตกลงการค้าการลงทุนกับซาอุดีอาระเบีย สานต่อกับญี่ปุ่นบ้าง”

นอกจากการสานสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่-เพื่อนเก่าแก่ที่จะไปกระชับไมตรีด้วยคือ ซาอุดีอาระเบีย ล่าสุดเรื่องท่องเที่ยว ทำเมืองท่องเที่ยว เมืองอมรา เขตทะเลแดง เน้นกลุ่มลูค้าเป้าหมายท็อปไฟฟ์

“เราบอกว่าให้ทำเมืองอมรา แฝดคู่กับหาดกมลา จังหวัดภูเก็ต เราจะหาพื้นที่ให้ ที่ราชพัสดุ หรือธนารักษ์ ที่เตรียมแผนสำหรับ Expo wellness ไว้ 100 กว่าไร่ รวมถึงเทคโนโลยีมาช่วย two country one happiness เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในเวลา 2 ปีจากนี้”

แม้เครื่องยนต์เศรษฐกิจทุกตัวกำลังจะติดเครื่อง-ขึ้นจากหล่มวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 แต่ในช่วงรอยต่อระหว่างงบประมาณเก่า-งบประมาณใหม่ จึงกังวลเรื่อง “สุญญากาศ” เบิกจ่ายล่าช้า-จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสะดุด

สิ่งที่อยากทำต่อ-สานต่อ

สิ่งที่ “สุพัฒนพงษ์” ทำอยู่-อยากทำต่อ คือ การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน คาดว่าปีหน้าของธนาคารพาณิชย์จะจบ แต่หนี้เกษตรกรค่อนข้างยาก แต่เกษตรกรรุ่นใหม่ ตอนนี้เราให้คนเข้าไปดูว่า พวกมีที่ มีดิน เราจะเอามาส่งเสริมอย่างไร

“คือมันเป็นเรื่องที่ต้องทำ มันเกิดจากโควิด ไม่แก้ให้เขาได้ยังไง เรารู้สึก guilty แต่มันมีทางออก ธนาคารแห่งประเทศไทยยืนยันกับผมแล้วว่า ปี 2566 หมด เขาไม่ได้ผิด ตกงานเพราะโควิด ห้ามยึดบ้านเขาเด็ดขาด”

“ใจผมอยากจะออก พ.ร.ก.ด้วยซ้ำไป สั่งซ่อนหนี้ เหมือนไม่มีเวลานี้ ปี’62 ปี’63 หายไปจากชีวิต หายไปแล้ว เหมือนกับว่า ผมจ่ายดอก จ่ายต้น ปี’62 มาจ่ายอีกทีปี’66 เชื่อว่าจะไม่มี moral hazard”

“ถ้าผมจะทำเรื่องนี้มันไม่ใช่ยุคนี้ ก็ต้องให้คนอื่นมาทำต่อ ถ้าผมมีโอกาสช่วย ผมก็ช่วยเรื่องพวกนี้ คืออะไรที่เป็นภารกิจที่ไม่ได้เหนื่อยมาก แล้วช่วยคนจำนวนมาก ก็ทำไป”

“วันนี้ที่ผมดูอยู่ เราทำหลายเรื่องแล้ว เช่น ประกาศ สคบ.ไม่ให้การเช่าซื้อรถยนต์เสียเปรียบ ถ้าจ่ายไปถึงจุดหนึ่งแล้วจะมาจ่ายปิดบัญชี ต้องลดดอกเบี้ยให้ครึ่งหนึ่ง หรือถ้าจ่ายไม่ได้ หรือไปขาย หรือคืน ต้องลดเบี้ย เพื่อสร้างความเป็นธรรมมากขึ้น”

เรื่องสวัสดิการสหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นไปได้ยังไง ข้าราชการเกษียนอายุเหลือเงินอยู่ 500 บาท มีการแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมสหกรณ์ แต่เรื่องของการออกเงื่อนไข หลักเกณฑ์ ระเบียบการบริหารจัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ยังไม่ออก ผ่านมา 2 ปีแล้ว

“โครงการคนละครึ่ง เป็นอุบาย ถุงเงิน เป๋าตัง รู้หมด เงินใครเข้าออก กรมบัญชีกลางกำลังทำกันอยู่ ว่าจะทำจัดซื้อจัดจ้างผ่านเป๋าตัง ราคาลงแน่นอน ทำได้ก็กุศลแล้ว”

ซอฟต์พาวเวอร์ไม่ยากเลย เอกชนอยากทำ เราก็ตั้งกองทุนทำหนังให้ แบบคนละครึ่ง เอาบริษัทดัง ๆ มาเป็น success case ก่อน คัดเลือกหนังดี ๆ มาแล้วเอาเอกชนมาร่วมลงทุน อีกหน่อยจะเอาประชาชนมาร่วมลงทุนด้วย

แก้ บสย.เมื่อก่อนค้ำประกันได้แค่ธนาคารรัฐ ธนาคารพาณิชย์ ทำไมไม่ค้ำประกันกองทุน อีกหน่อยผมให้ประชาชนที่เคยได้ดอกเบี้ยธนาคาร 0.5% แล้วมาปล่อยกู้เสี่ยงหน่อย แต่ บสย.มาค้ำประกันความสูญเสีย

เราสร้างการต่อรองไปเรื่อย ๆ สหกรณ์ออมทรัพย์เราให้ธนาคารออมสินไปแข่งสู้กับเงินฝาก ไม่ต้องเอาเงินฝาก กู้ออมสินไปปล่อยต่อ เอาไป 2% เพราะตัดจากซองเงินเดือน มีอะไรที่ปลอดภัยกว่านี้ไหม

“แท็กติกไม่มีอะไร เป็นเรื่องของเวลา เรื่องไม่ได้ใหญ่ ทำเรื่องเล็ก ๆ อย่าทำเรื่องใหญ่ ต้องมีหลัก เอกชนทำ ก็จะทำให้ทุกอย่างเล็กลง ๆ โจทย์ก็จะง่ายขึ้น ๆ”

อนาคตหลังเลือกตั้ง

หลังการเลือกตั้ง “สุพัฒนพงษ์” ตั้งใจที่จะกลับไป “อยู่เลี้ยงหลาน” แต่ในทางสาธารณะ เขาตั้งใจอยู่บนพื้นที่เล็ก ๆ แต่เป็นทิศทางใหญ่ของประเทศ

“ผมก็ทำในสิ่งเรื่องเล็ก ๆ ที่ควรจะทำ เรื่อง productivity การเกษตร ง่ายนิดเดียว BCG ทำไปเถอะ เป็น proxy ของความยั่งยืน ชุมชนถึงบริษัทใหญ่ เหมือนลำธารเล็ก ๆ ที่ทำกันอยู่ทั่วประเทศไทย รวมเป็นแม่น้ำใหญ่ได้ แม่น้ำร้อยสาย”

ช่วงที่ “สุพัฒนพงษ์” กุมบังเหียนรองนายกรัฐมนตรีควบกระทรวงพลังงาน สิ่งที่เขาทำแล้วรู้สึกว่าดีต่อใจ คือ ในช่วงวิกฤตโควิด-ช่วงทำให้คนพ้นจากความทุกข์

“เขาอยากจะทำอะไรทำให้เขาทำให้ได้ ใครใคร่ทำอะไรแล้วคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีและทุ่มเท พยายามและรัฐบาลช่วยได้ ผมช่วย นั่นคือความที่ผมมีความสุข”

“ใครมีความคิดริเริ่มอะไร แต่ไม่ใช่พูดเฉย ๆ ทำ พร้อมที่จะทำ แล้วก็บอกว่า ขอเพียงรัฐช่วยเรื่องแค่นี้ และผมได้มีโอกาสทำให้เขา ผมก็มีความสุขแล้ว เพราะมันเป็นวิกฤตจริง ๆ”

“ผมเห็นด้วยกับวิธีคิดในการแก้วิกฤตด้วยความร่วมมือ ซึ่งพิสูจน์มาแล้วช่วงโควิด-19 เอกชนถ้ารวมตัวกันได้จริง มีแม่งาน มีคนที่มีจิตสาธารณะ”

“ถ้าผมช่วยได้ ผมก็ยินดีช่วย” สุพัฒนพงษ์ทิ้งท้าย