สุรชาติ : จุดเสื่อม 2 พรรค 3 ป. ภูมิใจไทยไม่ยอมให้ประยุทธ์เหยียบเป็นนายกฯ

สุรชาติ บำรุงสุข
สุรชาติ บำรุงสุข
คอลัมน์ :สัมภาษณ์พิเศษ
ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

ปี 2566 การเมืองเข้าสู่ศึกสงคราม การแข่งกันเองระหว่างพรรคทหารเก่า กับพรรคทหารใหม่ ในนามพรรคพลังประชารัฐ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พี่ใหญ่ 3 ป. กับผู้น้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-รมว.กลาโหม ว่าที่แคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ

เมื่ออำนาจ 3 ป.หันหลังให้แก่กัน ไม่ว่าความสัมพันธ์นั้นจะตัดขาด-ไม่ขาด ย่อมเขย่าการเมืองทั้งกระดาน ส่งผลไปถึงศึกเลือกตั้ง

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข” นักวิชาการรัฐศาสตร์ ด้านความมั่นคง ผู้ช่ำชองด้านการทหาร อ่านโจทย์ใหญ่การเมือง 2566 ยามที่ 3 ป.หันหลังให้กัน และต้องมาฟาดฟันกันเองในสนามรบ (เลือกตั้ง)

6 ชิง ในสนามการเมือง

“ศ.ดร.สุรชาติ” วิเคราะห์ฉากทัศน์การเมืองปี 2566 ว่า 1.การเลือกตั้งจะเกิดขึ้น ทุกอย่างถูกกำหนดไว้แล้ว สิ่งที่เราต้องมองคือการยุบสภาหลังปีใหม่ น่าจะอยู่ช่วงตรุษจีน และลากถึงช่วงสุดท้ายก่อนสุดทางนิดหนึ่ง

ข้อดี เราเห็นทุกฝ่าย รวมถึงอดีตผู้นำรัฐประหาร เตรียมเล่นการเมืองในระบบพรรค ไม่พาการเมืองไทยย้อนกลับไปสู่เส้นทางรัฐประหารแบบเก่า รวมทั้ง ส.ส.รู้ว่าการเลือกตั้งมาแน่ ๆ เราจึงเห็นทุกอย่างทุ่มลงสู่พื้นที่ทั้งหมด เรียกว่า ชิงเสียง ชิงคน ชิงพื้นที่ ชิงทรัพยากร ชิงการนำ และชิงความได้เปรียบ

ดังนั้น เมื่อการเลือกตั้งเกิดขึ้น จะมีความหมายถึงการสิ้นสุดของระบอบเดิมที่มาจากการรัฐประหารหรือไม่ ถ้าฝั่งสืบทอดอำนาจแพ้ แล้วแพ้ใหญ่

เรียกว่าการเมืองรอบหน้าจะเป็น The post Prayut regime หรือการเมืองยุคหลังประยุทธ์ ซึ่งเราอาจเห็นการเปลี่ยนผ่านจริง ๆ ถ้าระบอบรัฐประหารถึงจุดพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้ง

2.หลายฝ่ายเชื่อว่าทหารไม่ถูกผลักออกมาจากกรมกอง บทเรียนรัฐประหาร 2557 ถึงปัจจุบัน ผู้นำทหารมีความตระหนักพอสมควรว่า เมื่อกองทัพเข้ามามีบทบาททางการเมืองจะมีผลกระทบกับสถาบันทหาร ดังนั้น แม้ผลการเลือกตั้งออกมา รัฐบาลเดิม หรือปีกผู้นำรัฐประหารเดิมไม่ชนะ จะไม่มีอาการปลุกกระแสอย่างกรณีประธานาธิบดีทรัมป์ ในสหรัฐ หรือประธานาธิบดีโบลโซนาโร่ ในบราซิล

หรือนำไปสู่วิกฤตที่ชวนทหารออกมายึดอำนาจใหม่ ซึ่งพูดได้ชัดว่าทหารหลายส่วนไม่ต้องการเข้ามามีบทบาทอย่างนั้น

จับตาจุดจบพรรคทหาร

3.ถ้าแพ้จะมีนัยยะทางประวัติศาสตร์ของพรรคทหาร พอผู้นำทหารแตกกัน พรรคทหารจึงอ่อนแอตามไปด้วย

ถ้ารอบนี้พรรคทหารเป็นฝ่ายแพ้ทางการเมือง อาจมีนัยยะถึงความสิ้นสุดของพรรคทหาร จะทำให้พรรคพลังประชารัฐถดถอย แม้จะมีการตั้งพรรคทหารขึ้นมาใหม่ คือพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งอิงอยู่กับผู้นำทหาร

ไม่ว่าพรรคทหาร 1 หรือพรรคทหาร 2 เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ทางการเมืองในสนามเลือกตั้ง ก็จะส่งสัญญาณว่าการเมืองไทยมาถึงจุดจบของพรรคทหารอีกครั้งหนึ่งหรือไม่

4.ผู้นำรัฐประหารเดิมยังมีเอกภาพมากน้อยต่อกันเพียงใด ช่วงหลังเราเห็นภาพสะท้อนของผู้นำทหาร 3 ส่วนไม่ค่อยเหมือนเดิม การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะให้คำตอบถึงเอกภาพ หรือรอยร้าวในหมู่ผู้นำรัฐประหารเดิม สภาพที่เรากำลังเห็นคือ อาการ 1 ป.สู้กับ 2 ป. ไม่ใช่ 3 ป.แบบเดิมที่ยืนด้วยกัน

สิ่งที่ต้องตามดูต่อ ความหมายของการแยกตัวออก หลายฝ่ายอาจมองว่าเป็นการแยกกันเดินรวมกันตี เพื่อเอาชัยชนะมาให้ฝ่ายผู้นำทหาร

แต่เอาเข้าจริง ๆ ต้องคิดอีกอย่างว่า วันนี้แยกกันเดิน ชิงดาวคนละดวง ไม่ได้เดินบนวัตถุประสงค์เดียวกัน

ทุนใหญ่-คนรุ่นใหม่หนุนใคร

5.ทุนใหญ่ในการเมืองไทย ช่วงหลังเป็นทุนการเมือง ไม่ใช่ทุนปกติ ไม่ต่างกับทุนใหญ่ในรัสเซีย อาศัยอำนาจของทุนไปอิงกับอำนาจรัฐ เป็นโอลิการ์กไทย (Thai Oligarchs) คำถามคือ ทุนใหญ่หรือทุนการเมืองไทยชุดนี้จะสนับสนุนใคร

หรือปีกที่เป็นฝ่ายค้าน และปีกที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยชนะเลือกตั้ง ทุนใหญ่ในประเทศไทยจะมีบทบาทในการแสดงออกทางการเมืองอย่างไร รวมถึงคำถามที่ใหญ่ที่สุดคือ ทุนใหญ่จะเป็นปัจจัยของการขัดขวางกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในประเทศไทยหรือไม่

6.บทบาทของคนรุ่นใหม่ จะมีทิศทางการเมืองไปในทางที่เป็นคุณกับพรรคใด First voter ของปี 2566 จะอยู่ในกระแสการเมืองใคร จะเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะเมื่อการเมืองเปิดขึ้น คนรุ่นใหม่อีกส่วนหนึ่งก็จะมีเวทีมากขึ้น

7.ขวาไทยจะไปสุดทางอีกเท่าไหร่ แนวโน้มของความเป็นขวาไทยในช่วงหลังเป็นขวาจัด เกิดการรวมความคิดระหว่างอนุรักษนิยม กับจารีตนิยม เป็นเหมือนกลุ่มสุดโต่งทางการเมือง

ถ้าปีกประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้ง สลิ่มจะยอมรับการเลือกตั้งอย่างไร หรือเกิดอาการเดียวกับทรัมป์ในสหรัฐ หรือโบลโซนาโร่ในบราซิลหรือไม่ จะเป็นโจทย์ที่น่าติดตาม

4 วิกฤตโลกกระทบไทย

8.ขบวนประชาธิปไตยไทยในปี 2566 อาจเป็นโอกาสดีที่มีการเลือกตั้ง คำถามคือ ขบวนจะขับเคลื่อนได้อย่างไร จะเกิดพันธมิตรประชาธิปไตยในรัฐสภาได้หรือไม่ คือปีกฝ่ายค้านสามารถจับมือร่วมกันได้ทั้งหมด หรือจะเกิดสภาวะอย่างไร คงเป็นคณิตศาสตร์การเลือกตั้ง

พันธมิตรทางการเมืองในอนาคตจะตอบได้ด้วยผลการเลือกตั้ง แต่น่าสนใจว่าปีกประชาธิปไตยในสภา และปีกประชาธิปไตยนอกสภา บนถนน จะขับเคลื่อนประเด็นอะไร หนึ่งในนั้นคือการปฏิรูปกองทัพ ตำรวจ ตามมาด้วยข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย เมื่อการเลือกตั้งมา 4 เรื่องเหล่านี้จะมีประเด็นมากขึ้น รวมถึงการปฏิรูปกฎหมายที่มีความเข้มงวด

9.การเมืองโลกในปี 2566 จะเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งในกรณีสงครามยูเครนยังไม่จบ โควิด-19 ยังไม่จบ ดังนั้น วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตพลังงาน วิกฤตอาหาร รวมถึงวิกฤตค่าครองชีพ ยังเป็นโจทย์ใหญ่ในเวทีโลก และเป็นโจทย์ใหญ่ที่มีผลกระทบกับตัวรัฐและสังคมไทย

คำถามคือ เราจะประคองตัวจากวิกฤตพลังงาน วิกฤตค่าครองชีพได้มากน้อยเพียงไร ไทยอาจประคองตัวได้มากที่สุด คือวิกฤตอาหาร ไม่ถึงขั้นที่เป็นโจทย์ขนาดใหญ่

10.โจทย์ที่ยังสำคัญทั้งกับโลก ภูมิภาคเอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือการแข่งขันกันระหว่างสหรัฐกับจีน ไม่มีใครเดาใจได้ว่าการแข่งขันนี้รุนแรงมากน้อยเพียงใด

ทำนาย สงคราม 2 ป.

จาก 10 โจทย์ใหญ่ “ศ.ดร.สุรชาติ” ลงรายละเอียดการปะทะกันระหว่างพรรคทหาร 1 (พลังประชารัฐ) กับ พรรคทหาร 2 (รวมไทยสร้างชาติ) ว่าไม่ใช่เป็นการ “จัดฉากเล่นละคร”

“แข่งกันโดยเงื่อนไขการเลือกตั้ง เมื่อตั้งพรรคการเมืองคำตอบมีอย่างเดียวคือชนะเลือกตั้ง คนที่ได้เสียงอันดับ 2 ดูดีแต่ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ได้เข้าสภา จึงทำให้พรรคทหาร 1 พรรคทหาร 2 ต้องแข่งกันเองโดยไม่มีทางเลือก ไม่เชื่อว่าเขาจะแบ่งพื้นที่ แบ่งพื้นที่กันลง น่าจะเป็นการตั้งพรรคเพื่อชิงเสียงจริง ๆ”

“ผมไม่อยากใช้คำว่าแตกหัก การเมืองไม่ถึงจุดอย่างนั้น แต่เอกภาพของผู้นำรัฐประหารเดิมไม่เหมือนเก่า และเป็นเอกภาพที่ลดลงเรื่อย ๆ”

ภท.ไม่เป็นบันไดให้ประยุทธ์

ถ้าเปลี่ยนเป็นขั้วใหม่ เพื่อไทย-ก้าวไกล มีความเป็นไปได้หรือไม่ “ศ.ดร.สุรชาติ” อ่านสมการการเมืองฉีกไปอีกทางว่า พรรคเพื่อไทยจับมือพรรคก้าวไกล ปีกนี้ขึ้น หรือเพื่อไทยชนะเอง ปีกขวาจัดคงมีปฏิกิริยา

หรือในทางกลับกัน พรรคภูมิใจไทยพรรคที่หวังว่าตนเองเป็นฝ่ายตั้งรัฐบาล และเป็นพรรคแกนหลัก ปฏิกิริยาการดูดที่เกิดขึ้น ตอบชัดว่าพรรคภูมิใจไทยเตรียมเป็นรัฐบาลหลังเลือกตั้ง 2566

การเป็นแฟกเตอร์สำคัญของพรรคภูมิใจไทย ปฏิเสธไม่ได้ เพราะเกมที่พรรคภูมิใจไทยเดินหวังเป็นพรรคหลัก ไม่ได้เป็นพรรครองแล้ว

ศ.ดร.สุรชาติเชื่อว่า มีโอกาสยากที่พรรคทหาร 1 พรรคทหาร 2 รวมกัน จะได้เสียงมากกว่าภูมิใจไทย

“แนวโน้มน่าจะเป็นไปได้ยาก ถ้าเราเชื่อว่าตัววัดบางตัว คือนิด้าโพลที่ทำโพลต่อเนื่อง เห็นคำตอบระดับหนึ่ง ว่าโอกาสของพรรคที่จะเป็นพรรคหลักเหลือแค่กี่พรรค จึงตั้งคำถามว่า หลังเลือกตั้ง 2566 อนาคตของพรรคทหาร 1 พรรคทหาร 2 ยังมีอยู่แค่ไหน”

แล้วถ้าหากพรรครวมไทยสร้างชาติ ขอแค่ ส.ส. 25 ที่นั่ง เพื่อเสนอชื่อนายกฯ ในสภาได้ จะเพียงพอให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ สมัย 3 ได้หรือไม่?

“ศ.ดร.สุรชาติ” ตอบว่า ผมไม่เชื่อ การแข่งขันการเมืองรอบนี้ สูตรนายกฯ คนกลาง สูตรรัฐบาลเสียงข้างน้อย พรรครวมไทยสร้างชาติอาจฝันเหมือนอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช ตั้งรัฐบาล 18 เสียง แต่การเมืองวันนี้ไม่ย้อนยุค เพราะพรรคใหญ่ไม่มีทางยอม

“พรรคภูมิใจไทยชนะ โอกาสที่จะเปิดทางให้ พล.อ.ประยุทธ์เหยียบพรรคภูมิใจไทยเป็นบันไดขึ้น ผมว่ารอบนี้ไม่มี รอบที่แล้วมีเพราะพรรคพลังประชารัฐมีเสียงมาก เขาเป็นฝ่ายดึง”

“แต่รอบนี้พรรครวมไทยสร้างชาติจะเข้าร่วมรัฐบาลก็ต้องเอาตัวเข้าไปเกี่ยวไว้กับเขา และถ้าอยู่ในสถานะ 20 เสียงบวก ก็อยู่ในสถานะที่ไม่ใหญ่ คำตอบได้อย่างเดียวคือ ได้รัฐมนตรีกี่ที่ แต่ถามว่าได้แค่ 20 กว่าเสียงแล้วได้นายกฯ ผมไม่เชื่อ ผมคิดว่าโมเดลคึกฤทธิ์ ปี 2518 ไม่ย้อนยุค”

“20 เสียงได้นายกฯ เหรอ ผมว่าฝันไปหน่อย แล้วสำคัญอีกอย่างคือ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีจุดขาย จะขายความสงบผมว่าคนไม่ซื้อ ขายความสำเร็จไม่ปรากฏชัด ไม่มีคนเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์สร้างความสำเร็จเชิงนโยบายให้กับประเทศไทย ยกเว้นฝ่ายขวาจัด”

ศ.ดร.สุรชาติเชื่อว่า ตลอด 4 ปี พรรคภูมิใจไทยใช้หนี้ไปแล้ว จึงไม่ต้องเกรงใจบารมี พล.อ.ประยุทธ์

“เลือกตั้ง 2566 จะล้างหนี้ แล้วถ้าพรรคที่ พล.อ.ประยุทธ์อยู่เป็นพรรคขนาดกลางเล็ก มันไม่มีนัยยะอะไร ทำได้แค่อย่างเดียวคือ เอาตัวเข้าไปเกี่ยวกับพรรคใหญ่ แต่ถ้าถามว่าเอาตัวไปเกี่ยวกับพรรคใหญ่ เพื่อเหยียบพรรคใหญ่เดินขึ้นเป็นนายกฯ คำถามคือพรรคใหญ่จะยอมหรือ”
แล้วโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์กลืนเลือดกลับไปพรรคพลังประชารัฐ ศ.ดร.สุรชาติมองว่ากลับไปก็ไม่เหมือนเดิม

“วันนี้การเมืองมีข้อจำกัดแล้วล่ะ ถ้าไม่เป็น 3 ป.เหมือนเดิม โอกาสกลับไปก็ไม่เหมือนเดิม แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ระยะหลังมักประกาศว่าผมไม่ใช่คนพรรคพลังประชารัฐ แตกตัวเองออกจากพรรคพลังประชารัฐ”

พรรคเกิดใหม่ลำบาก

ส่วนอนาคตทางการเมืองของพรรคเกิดใหม่-พรรคเล็ก ศ.ดร.สุรชาติตอบง่าย ๆ ว่า มีคำตอบคำเดียว คือลำบาก

เพราะสนามเลือกตั้งรอบนี้เป็นการชิงของพรรคใหญ่ พรรคเพิ่งเกิดใหม่แทรกตัวลำบาก แม้มีตัวเก๋าอยู่ แต่ก็ไม่ง่าย ส่วนพรรคที่วันนี้ดิ้นรนและรอตายคือพรรคเล็ก เพราะพรรคใหม่ยังมีตัวคน มีกระแสอยู่บ้าง แต่พรรคเล็กไม่มีทั้งตัวคนและกระแส เป็นพรรครอตาย

โจทย์ใหญ่รัฐบาลใหม่

ศ.ดร.สุรชาติวิเคราะห์โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลใหม่คือ การฟื้นฟูประเทศ ฟื้นฟูชีวิตประชาชน ในการฟื้นฟูประเทศมีโจทย์เศรษฐกิจเป็นโจทย์ใหญ่ เมื่อดูแนวโน้มปี 2566 ภาวะปกติมีปัญหาเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยสูงในเวทีโลก ผลกระทบเราจะเห็นการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ถ้าสงครามยังมีอยู่จะเจอวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตพลังงาน วิกฤตอาหารแน่ ๆ รวมถึงประเด็นวิกฤตอากาศ

ยังเจอโจทย์วิกฤตด้านการต่างประเทศ ยังต้องการการปรับตัวมากพอสมควร เพราะช่วงที่ผ่านมาภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ และ รมว.ต่างประเทศ ทำให้บทบาทไทยในเวทีโลกหายไป รัฐบาลใหม่คงต้องรื้อฟื้นบทบาทไทยในเวทีโลก

แปลว่ารัฐบาลหน้ามีโจทย์ใหญ่ ๆ เยอะ และรัฐบาลหน้าที่เข้ามาจะมีงบประมาณเหลือให้บริหารประเทศเท่าไหร่ จากการเปิดโครงการประชานิยมของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์