ทำไมคนไทยจ่ายค่าไฟแพง รมว.พลังงานตอบชัด ๆ

สุพัฒนพงษ์ ค่าไฟ

สุพัฒนพงษ์ เปิดเบื้องหลัง มติ กกพ. ทบทวนค่าเอฟทีภาคอุตสาหกรรม ไม่ได้เสียงแข็ง-เสียงอ่อน แจง ค่าพร้อมจ่าย คือ ความพร้อมจ่าย ขอความร่วมมือ กกร. อย่าให้รัฐบาลทำคนเดียว  

วันที่ 2 มกราคม 2566 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงเหตุผลทำไมคนไทยจ่ายค่าไฟฟ้าแพงว่า ค่าไฟแพงเพราะต้นทุนวัตถุดิบเชื้อเพลิงแพง ถ้าย้อนกลับไปดูช่วงโควิด – 19 ราคาค่าไฟเราถูก ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ติดลบด้วยซ้ำ ตอนนั้นกำลังการผลิตเกิน

ความพร้อมจ่าย ไม่ใช่ ค่าพร้อมจ่าย

ผู้สื่อข่าวถามว่าคนตั้งข้อสังเกต คือ ประชาชนต้องอุ้มค่าพร้อมจ่ายจริงแค่ไหน นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า อย่าเรียกว่า อุ้มค่าพร้อมจ่าย เป็นเรื่องของความพร้อมจ่าย ซึ่งมีต้นทุน ต้องไปดูประเทศอื่น จำนวนไฟดับแต่ละปีมากน้อยแค่ไหน แล้วดับแต่ละครั้งนานแค่ไหน ความพร้อมจ่ายจะทำให้การดับ หรือ การดับนานน้อยลงไป ยิ่งมีความพร้อมจ่ายสูง การดับแต่ละครั้งจะต่ำ การดับในระยะนาน ๆ ก็จะน้อย เป็นความสำคัญและบทบาทของความพร้อมจ่าย

“เปิดปุ๊บ ติดปั๊บ หากจะดับก็อย่าดับนาน หากจะดับก็อย่าดับบ่อย ไม่ยากเลย จะไม่มีค่าพร้อมจ่ายเลยก็ได้ แต่ดับบ่อย ดับแล้วนาน ค่าพร้อมจ่ายมีความสำคัญ อย่ากล่าวหาว่าไม่ดี ถ้าอยากค่าพร้อมจ่ายต่ำ ๆ ไม่ยาก ไฟก็ปิดบ่อย ประเทศที่จะมีการลงทุน มีความมั่นใจกับนักลงทุน ค่าพร้อมจ่ายจะสูง สิงคโปร มาเลเซีย ไปดูได้”นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ค่าพร้อมจ่ายมีมานานแล้ว ตั้งแต่โควิด-19 แต่ตอนหลังเศรษฐกิจดีขึ้น การใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ต้นทุนที่นำไฟฟ้าเข้ามาแพง ไม่เกี่ยวกับค่าพร้อมจ่าย โดยเฉพาะแก๊สธรรมชาติจากเดิม 10 กว่าเหรียญต่อล้านบีทียู (หน่วยความร้อน)

ตอนนี้ 40 กว่าเหรียญต่อล้านบีทียู หรือ เพิ่มขึ้นมา 4 เท่า ภาคครัวเรือนค่า ft ขึ้นมาเท่า ๆ กัน แต่จากการเจริญเติบโตและการพัฒนาพบว่า ภาคครัวเรือน อัตราการเติบโตไม่ได้สูงขึ้น ลดลง ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องฟื้นตัว แน่นอนก็ขึ้นมาเรื่อย

“ค่าพร้อมจ่ายต้องเท่าเทียมกันทั้งประเทศ เปิดปุ๊บ ติดปั๊บ ดับก็ต้องดับไม่นาน และอย่าบ่อย ซึ่งเราอยู่อันดับต้น ๆ ของเอเชียที่มีคุณภาพที่ดี แต่ถ้าอยากจะได้แบบเวียดนาม อินโดฯ ไม่ยาก ดับบ่อยและดับนาน ค่าเฉลี่ยนานที 10 ชั่วโมง”นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวถึงกรณีการไปเทียบต้นทุนกับเวียดนาม ว่า ประการแรก อย่าไปดูแค่ราคาอย่างเดียว ต้องดูคุณภาพของการบริการด้วย ประการที่สอง ต้องไปดูพื้นฐานของประเทศที่เอามาเปรียบเทียบใช้น้ำในการผลิตไฟฟ้ามาก ประเทศไทยทำได้หรือไม่ ใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 50 %

ประเทศไทยสัดส่วนกระจาย น้ำน้อย ใช้แก๊สเยอะ ก็ต้องดูที่มาของไฟด้วย ว่าที่มาของไฟแตกต่างกันอย่างไร และประการที่สาม อัตราค่าไฟ เวลายกประเทศอื่นที่ระบุกันมา ครัวเรือนสูงกว่าอุตสาหกรรม พาณิชย์สูงกว่าอุตสาหกรรม จะเป็นไปได้เหรอ

“ผมไล่ทีละเรื่อง สามเรื่องด้วยกัน หนึ่ง ความพร้อมจ่าย ติดดับ คุณภาพบริการแตกต่างกัน สอง ฐานที่มา แตกต่างกัน สาม โครงสร้างราคาแบบของเขา เวลาพูดมา 2.80 บาท ไม่ใช่ครัวเรือนได้ 2.80 บาทนะ ที่เขาพูดมาอุตสาหกรรม ครัวเรือนจ่าย 4 บาท ครัวเรือนและพาณิชย์จ่ายสูงกว่าอุตสาหกรรม ถามว่าถ้าเราเลือกแบบนี้ในประเทศไทย ทำได้ไหม โครงสร้างแบบนี้ หยิบมาต้องหยิบให้มันเข้าใจในบริบทของเข้าด้วย”นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า แล้วก็บวกผิดด้วย คือ ที่ไปบอกว่าเกิน 60 – 70 % มันบวกผิดอยู่แล้ว เราคำนวณกันมา 35 %  เพราะเอาโรงไฟฟ้าฐานที่มีความพร้อมจ่าย 100 % บวกกับโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ โดยไม่คำนึงว่า โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ผลิตอยู่แค่ 4 – 5 ชั่วโมงต่อ 1 วัน บวกกับกำลังการผลิตของพลังงานลม โดยไม่คำนึงว่าลมก็ผลิตได้ไม่กี่ชั่วโมง บวกกับเขื่อน ก็ไม่ได้บอกว่า ผลิตน้ำได้เต็มที่ จากน้ำ 100 % ตลอด 24 ชั่วโมง แล้วแต่ฤดูกาล เพราะฉะนั้นที่เหลือทั้งหมดไม่ใช่เป็นกำลังการผลิตที่พร้อมจ่าย

“ถ้าไม่มีโรงไฟฟ้าพร้อมจ่าย ใช้โซลาร์เซลล์ ใช้ลม เปิดมีดับ ดับแล้วอาจจะนาน เราถึงเรียกว่าโรงไฟฟ้าฐานบ้าง โรงไฟฟ้าที่จะต้องมีความพร้อมจ่ายบ้าง แต่ที่เกินเยอะ เพราะคำนวณผิด เอาบวกกัน โรงไฟฟ้าฐานผลิตได้ 24 ชั่วโมง อีกโรงหนึ่งผลิตได้แค่ 4 ชั่วโมง คุณเอาสองอันบวกกัน

อันนี้ 100 อันนี้ 100 เท่ากับ 200 กำลังการผลิต ไม่ใช่เพราะมันผลิตไม่ได้ทั้งวัน กำลังการผลิตจริง ๆ ที่จะเทียบเท่ากับเปิดปุ๊บ ติดปั๊บ มันจะมีไม่ถึงเท่ากับสองอันมาบวกกัน”นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

เบื้องหลังลดค่าไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม

นายสุพัฒนพงษ์ยังกล่าวถึงเบื้องหลังการทบทวนค่า Ft ลดลง 35.52 สตางค์ต่อหน่วยภาคอุตสาหกรรมเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.65 จากเดิมที่ต้องจ่าย 5.69 บาทต่อหน่วย เหลือ 5.33 บาทต่อหน่วย ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ได้บอกว่า “ตรึง” แต่นายกฯ ให้กลับไปดูว่ามีทางใดที่จะลดราคาไฟฟ้าลงได้

กระทรวงพลังงานไม่ได้คิดทั้งหมด เป็นเรื่องของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เสนอตัวเลข เรามีความเห็นกลับไป ประกอบกับที่นายกฯสั่งการให้ไปดูว่าจะลดอะไรได้อีก เราก็มีข้อคิดเห็นกลับไป มีข้อเสนอแนะกลับไปและเอกชนก็ขอตรึงคู่กันไป

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า สมมุติฐานที่เราจะลดได้ คือ หนึ่ง เรามองว่า ราคาที่มองไปข้างหน้าของเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2566 ราคาน้ำมันดีเซลน่าจะทรงตัว ส่วน กกพ.มองราคาย้อนหลังในอดีต แต่เรานำราคาในอนาคต ที่เป็นราคาตลาดล่วงหน้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ก็อยู่ในระดับราคาที่ไม่สูงมาก รวมถึง กกพ.มองว่าราคาแก๊สมีแนวโน้มอ่อนตัวลง จากการทำการบ้านของปตท.

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า กกพ.มีวิธีคิด คำนวณตามตัวเลข ไม่ได้บอกว่า กระทรวงพลังงานพอใจ (หัวเราะ) แล้วถึงแสดงข้อคิดเห็นออกไป ขอให้ กกพ. มี hearing การทำของ กกพ.ไม่ใช่อำเภอใจ ถามที่สภาฯ ที่ตอบมา ที่นักธุรกิจกลับมาแล้วเสียงออกมาอย่างพร้อมเพรียง ก็เพราะเป็นกระบวนการ hearing ส่งมาที่กระทรวงพลังงาน ก็ตอบไปเหมือนกัน เพียงแต่ว่า เราไม่จำเป็นต้องไปเสียงดัง

เราคิดว่า น่าจะต้องปรับปรุง เราก็บอกว่าควรจะใช้น้ำมันมากขึ้น ราคาน้ำมันสุมมุติฐานในอนาคตก็ไม่ควรจะสูงถึงขนาดนี้นะ ตลาดล่วงหน้สมองไว้ 37 บาทในอดีต เราก็มองว่าข้างหน้าเนี่ย มัน 34 35 35 กว่า ๆ เผื่อไว้หน่อยน่าจะดีกว่าไหม

เราก็มีเรื่องของขอความร่วมมือ ปตท.ให้ไปดูเรื่องราคาแก๊ส ว่าราคาล่วงหน้าเป็นอย่างไร มีลักษณะที่คงที่หรือลดลงจากเดิมเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ วันนี้ก็ไปรวบรวมและทบทวนกันใหม่ ไม่มีในเรื่องของตรึง

“เราไม่เคยเสียงแข็งและเสียงอ่อน เราบอกว่า การตรึงเป็นไปได้ยาก ส่วนจะขึ้นเท่าไหร่ ขึ้นแล้วพอใจ ไม่พอใจอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเสียงแข็งก็จะแข็งในเรื่องรอบนี้ช่วงสั้น ๆ ในสถานการณ์วิกฤตให้ช่วยครัวเรือนกันหน่อยนะ ส่วนผลกระทบเรื่องค่าไฟฟ้า ขึ้นค่า ft ก็จะพยายามดูให้ดีที่สุด”นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ขณะที่ภาคครัวเรือนไม่ได้เสียงไม่ดัง เพราะได้รับการดูแล อุตสาหกรรมเราเข้าใจ ว่าที่เสียงดังเพราะได้รับผลกระทบ แต่ผลกระทบอันนี้ พูดดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่โต แต่อยากจะให้เข้ามูลว่า พลังงานที่ใช้ในครัวเรือน เมื่อรวมจากพลังงานรวมทั้งหมดใช้ประมาณ 17 % ที่เหลือเป็นอุตสาหกรรม และขอความร่วมตรงนี้ก็เป็นช่วงสั้น ๆ ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่พีกที่สุด ของค่าพลังงานไฟฟ้า

“ทุกอย่างเป็นไปตามเทคนิค อยู่บนพื้นฐานของสมมุติฐาน ถกเถียงกันได้ ถ้าสมมุติฐานเดิมของ กกพ.ว่าอย่างไร ถ้าท่านนายกฯบอกลงมาหน่อย ก็รับความเสี่ยงกันขึ้นมาหน่อย หรือ ลงไปดูในรายละเอียดกันมากขึ้น มีตั้งแต่กรณี Low High Medium บางเค้าอาจจะบอกว่า โอ้โห้ ครั้งที่แล้ว คาดคะแนพลาดไป รอบนี้อาจจะต้องเผื่อ  ๆ ไว้หน่อย ในมุมมองของเราคิดว่า ใช้ค่ากลางก็ได้”นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

อย่าให้รัฐบาลทำคนเดียว

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า สำคัญที่สุด ตนให้แนวทางกับผู้บริหารกระทรวงพลังงาน คือ หนึ่ง ต้องเสถียรภาพ สอง ราคาต้องสะท้อนต้นทุนและแข่งขันได้กับประเทศเพื่อนบ้าน แต่การยกประเทศเวียดนาม 2.80 บาทต่อหน่วย คนก็เลย เอ๊ะ ทำไมไฟแพงจัง แต่ตนยังหา 2.80 ไม่เจอเลย เจอ 3 แบบ แต่เอาต่ำสุดและไม่พูดถึงคุณภาพการบริการ ทำไมไม่พูดสิงคโปร์ ทำไมไม่พูดฟิลิปปินส์ ทำไมไม่พูดให้ครบ

แต่เข้าใจได้ ไม่ใช่สมาคม เป็นคนคนเดียว อารมณ์ ความไม่พอใจ ความรู้สึก คิดได้ ไม่ว่ากัน แต่พอข่าวออกไป เราก็ไม่รู้จะทำยังไง พอออกไปแล้วก็บานปลายกันใหญ่ ถึงต้องอธิบาย และเรียกมาพูดคุย และ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ร่วมมือช่วยกันได้ อย่าให้รัฐทำคนเดียว สิ่งที่ กกร. ร่วมกับรัฐมีเรื่องทำอีกเยอะแยะเลยที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง หนึ่ง ประหยัด สอง ต้องเข้าใจก่อน กำลังการผลิตอย่าไปฝังใจ เข้าใจผิด

“อุตสาหกรรมมีแก๊สธรรมชาติที่ใช้อยู่แล้ว ไม่ใช่ในรูปของไฟฟ้า แต่ใช้ในรูปของพลังงานเชื้อเพลิง มาเจียดเอาแก๊สธรรมชาติที่อยู่ในประเทศไทยไปด้วย ทั้งที่สามารถใช้น้ำมันทดแทนได้ น้ำมันเตาก็ได้ น้ำมันดีเซลก็ได้ ขอความร่วมมือไปหลายครั้งแต่เงียบ เพราะราคาพอ ๆ กัน ได้ค่าถัวเฉลี่ยของแก๊ส และเพราะสะดวก”นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า พวกเราลดนำการนำเข้า ลดการใช้แก๊สและเอาน้ำมันดีเซลมาใช้ 400 กว่าล้านลิตรต่อเดือน ต้องใช้รถ รถคันหนึ่ง 3 หมื่นลิตร ไม่รู้จะคำนวณกันยังไง รถวิ่งกันปุเรง ๆ ๆ ไม่สะดวกหรอกครับ โรงไฟฟ้าออกแบบมาเพื่อใช้แก๊ส แต่ก็ต้องทน เพราะว่าถ้าใช้แบบเดิมก็แพงอีก เพราะแก๊สนำเข้าแพง ก็ต้องมาใช้เชื้อเพลิงอื่น ภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงอื่นได้พยายามหน่อยเถอะครับ ช่วยกัน ช่วยได้มากช่วยได้น้อย เอาที่ช่วยได้ ก็จะทำให้ราคาค่าไฟลงอีก ได้ถึงสองต่อ

“ถ้าอยากได้แบบ อุ๊ย เอาลงอีก คราวนี้มากันพร้อมหมดเลย มีธนาคารด้วย ธนาคารเนี่ย ลูกหนี้ธนาคารเลื่อนจ่ายเงินต้นไปสักปีหนึ่งได้ไหม เดี๋ยวเราลดให้เลย เลื่อนเลย ปีนี้ไม่ต้องจ่ายเงินต้น ปีนี้เดือดร้อน ปีเดียว ปีหน้าดีขึ้นแน่นอน 100 % รัฐบาลหน้าแสดงความยินดีด้วย ปลายปีนี้ก็ดีแล้ว เราจะเร่งการผลิตแก๊สในอ่าว”นายสุพัฒนพงษ์กล่าวทิ้งท้าย