ราคาน้ำมันดิบ (2 ก.พ. 66) ปรับลด หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐเพิ่ม

ราคาน้ำมันดิบ
Photo by Patrick T. FALLON / AFP

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสและเบรนต์ปรับลด หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐปรับเพิ่มขึ้น

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคา ดังนี้ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสและเบรนต์ปรับลด หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ม.ค. 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.1 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 452.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 4 แสนบาร์เรล นับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน อีกทั้งปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.6 ล้านบาร์เรล และน้ำมันดีเซลคงคลังสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.3 ล้านบาร์เรล

โดยราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสซื้อขายเมื่อ 1 ก.พ. 2566 อยู่ที่ 76.41 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -2.46 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันเบรนต์อยู่ที่ 82.84 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -1.65 เหรียญสหรัฐ

ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.25 เพื่อให้ได้เป้าหมายที่ระดับ 4.50-4.75 ในการประชุมเมื่อวันพุธที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงในรอบ 40 ปีของสหรัฐ ขณะเดียวกัน เฟดระบุว่า แม้อัตราเงินเฟ้อผ่อนคลายลง แต่ก็จะยังคงเดินหน้าปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอยู่

คณะกรรมการร่วมด้านการตรวจสอบระดับรัฐมนตรี (JMMC) ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) มีมติเสนอให้คงนโยบายปัจจุบันในการปรับลดกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรล/วันไปจนถึงสิ้นปี 2566

ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันปริมาณการนำเข้าน้ำมันเบนซินของจีนลดลง อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในอินโดนีเซียมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น เพื่อเตรียมสำหรับการเดินทางช่วงรอมฎอน ในเดือน มี.ค.

ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังปริมาณการส่งออกน้ำมันดีเซลของญี่ปุ่นลดลง ประกอบกับอุปทานมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น หลังยุโรปห้ามนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากรัสเซียตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. 66