ราคาน้ำมันดิบเคลื่อนไหวในกรอบแคบ จากความไม่แน่นอนเศรษฐกิจสหรัฐ

ราคาน้ำมันดิบ

ราคาน้ำมันดิบเคลื่อนไหวในกรอบแคบ จากความไม่แน่นอนของทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐ ท่ามกลางแรงหนุนจากความต้องการใช้จีน

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคา ดังนี้ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสและเบรนต์เคลื่อนไหวในกรอบแคบและปรับตัวลดลงเล็กน้อย หลังเฟดเผยดัชนีการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติกปรับลดลงสู่ระดับ -24.3 ในเดือน ก.พ. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ -7.4 โดยดัชนีที่ต่ำกว่าระดับ 0 บ่งบอกถึงภาคการผลิตที่อยู่ในภาวะหดตัว

โดยราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสซื้อขายเมื่อ 16 ก.พ. 2566 อยู่ที่ 78.49 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -0.10 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันเบรนต์อยู่ที่ 85.14 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -0.24 เหรียญสหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับ เงินเยน ยูโร และดอลลาร์ออสเตรเลีย ทำให้แรงซื้อจากนักลงทุนที่ถือสกุลเงินอื่นในตลาดน้ำมันปรับลดลง

กระทรวงแรงงานสหรัฐ เผยยอดผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานสิ้นสุด ณ วันที่ 11 ก.พ. ปรับลดลง 1,000 ราย สู่ระดับ 194,000 ราย ต่ำกว่าคาดการณ์ของ Reuter เพียงเล็กน้อย ที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 200,000 ราย

นักวิเคราะห์จากบริษัท OANDA กล่าวว่า ตลาดมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากจีน ขณะที่รัสเซียเตรียมปรับลดกำลังการผลิตลงในเดือน มี.ค. อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันตลาดยังถูกกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังที่อยู่ในระดับสูง

ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังคาดปริมาณการส่งออกจากจีนที่มีแนวโน้มปรับลดลง ท่ามกลางปริมาณการนำเข้าที่มากขึ้นจากออสเตรเลีย ที่ระดับ 60.7 ล้านบาร์เรลในปี’65 สูงกว่าปีก่อนหน้าที่ระดับ 50.76 ล้านบาร์เรล จากกิจกรรมขับขี่ในประเทศในช่วงฤดูร้อน

ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลปรับลดสวนทางราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังปริมาณสินค้าคงคลังในตะวันออกกลาง ปรับเพิ่มขึ้นราว 5.7% ณ วันที่ 15 ก.พ. สู่ระดับราว 1.8 ล้านบาร์เรล นับเป็นการปรับเพิ่มของระดับปริมาณคงคลังครั้งแรกในรอบ 4 สัปดาห์