ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม จากความกังวลรัสเซียลดกำลังการผลิตและการส่งออกน้ำมัน
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคา ดังนี้ ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม จากคาดการณ์ที่ว่ารัสเซียจะปรับลดการผลิตและการส่งออกน้ำมันในเดือนหน้า โดยก่อนหน้านี้รัสเซียได้ประกาศลดกำลังการผลิตในเดือน มี.ค.ลง 500,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งคิดเป็น 5% ของผลผลิตของรัสเซีย หรือ 0.5% ของการผลิตทั่วโลก นอกจากนี้แหล่งข่าวระบุว่ารัสเซียจะลดการส่งออกไปยังท่าเรือทางตะวันตกลง 25% หรือคิดเป็น 625,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณที่มากกว่าการผลิตที่ลดลง อีกทั้งตลาดยังคาดว่ากลุ่มโอเปก จะลดการผลิตลง เพื่อจำกัดการลดลงของราคาน้ำมัน
โดยราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสซื้อขายเมื่อ 24 ก.พ. 2566 อยู่ที่ 76.32 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น +0.93 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันเบรนต์อยู่ที่ 83.16 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น +0.95 เหรียญสหรัฐ
Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 24 ก.พ. ปรับลดลง 7 แท่นมาอยู่ที่ระดับ 600 แท่น ในขณะที่แท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติคงที่ อยู่ที่ระดับ 151 แท่น
รายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐครั้งล่าสุดระบุว่า เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ยังคงกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อและสภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัว ซึ่งส่งสัญญาณถึงการคุมเข้มทางการเงินเพิ่มเติม โดยแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย สนับสนุนให้ดัชนีดอลลาร์ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 2.5% ในเดือนนี้
ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากความต้องการใช้น้ำมันของอินโดนีเซียและมาเลเซียที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อีกทั้งน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐปรับลดลง 1.86 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 240.1 ล้านบาร์เรล
ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากการส่งออกน้ำมันดีเซลที่ลดลงของจีน เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาได้รับแรงกดดันจากน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ ปรับเพิ่มขึ้น 6.84% แตะระดับ 8.21 ล้านบาร์เรล