พาณิชย์ ผนึกหน่วยงานรัฐ แก้ต่าง CVD อินเดีย ให้สินค้าไทย

รณรงค์ พูลพิพัฒน์
รณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

กรมการค้าต่างประเทศ ผนึกกำลังหน่วยงานภาครัฐ แก้ต่างมาตรการตอบโต้การอุดหนุน CVD อินเดีย ช่วยเหลือผู้ส่งออกสินค้าของไทย

วันที่ 8 มีนาคม 2566 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 หน่วยงาน Directorate General of Trade Remedies (DGTR) กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมอินเดียได้ประกาศผลการไต่สวนชั้นที่สุด (Final Determination) กรณีการไต่สวนการอุดหนุน (Subsidy Investigation) สินค้า Saturated Fatty Alcohols ที่ส่งออกจาก 3 ประเทศคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย

ซึ่งผลปรากฏว่า DGTR ลดอัตราอากร CVD หรือมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty) ของไทยจากเดิมที่กำหนดในอัตรา 20-25% ของราคา C.I.F เหลืออัตรา 3%

สำหรับสินค้าที่ส่งออกจากบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ส่งออกรายเดียวของไทย และอัตรา 5% หากในอนาคตมีผู้ส่งออกรายอื่น ๆ โดยอินเดียเรียกเก็บอากร CVD จากไทยต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับอินโดนีเซีย (14-30%) และมาเลเซีย (3-11%) ซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งสำคัญ

โดยก่อนหน้านี้ DGTR ได้ประกาศร่างผลการไต่สวนชั้นที่สุดเมื่อเดือนกันยายน 2565 ระบุว่าสินค้าส่งออกจากไทยจะถูกกำหนดอัตราอากร CVD 20-25% ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงมาก อาจส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยต้องสูญเสียตลาดส่งออกในอินเดียได้

ที่ผ่านมา คต. ในนามตัวแทนของรัฐบาลไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้ผนึกกำลังร่วมกับหน่วยงานรัฐบาลของไทยที่ถูกกล่าวหาว่าให้การอุดหนุนกับผู้ส่งออก เช่น กรมการค้าภายใน กรมศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น เพื่อชี้แจงแก้ต่างต่อรัฐบาลอินเดีย

ทั้งผ่านการหารือร่วมกันสองฝ่ายระหว่างไทยและอินเดีย รวมถึงการทำข้อโต้แย้งเป็นหนังสือในนามของ คต. เพื่อเรียกร้องให้อินเดียไม่เรียกเก็บหรือเก็บอากร CVD ในอัตราต่ำลงตามความเป็นจริงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ส่งออกไทย

นอกจากนี้ ยังมีหนังสือจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เน้นย้ำให้อินเดียปฏิบัติกับผู้ส่งออกไทยอย่างเป็นธรรมและเป็นไปตามข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก (Word Trade Organization : WTO) มิเช่นนั้นไทยจำเป็นจะต้องดำเนินการตามสิทธิในการโต้แย้งกระบวนการไต่สวนของอินเดียต่อ WTO

ทั้งนี้ ในขั้นตอนต่อไป DGTR จะส่งผลการไต่สวนชั้นที่สุดไปให้รัฐบาลกลางอินเดียเพื่อพิจารณาการใช้บังคับมาตรการ CVD ต่อไป

ข้อมูลล่าสุดในปี 2565 (ม.ค.-พ.ย.) อินเดียเป็นตลาดส่งออกสินค้าดังกล่าวอันดับ 2 ของไทย (รองจากจีน) โดยมีมูลค่าการส่งออก 6.82 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 240.39 ล้านบาท) ขณะที่อินเดียนำเข้า Saturated Fatty Alcohols จากไทยเป็นอันดับ 5 รองจาก สิงคโปร์ มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ และอินโดนีเซีย

ดังนั้น การกำหนดอัตราอากร CVD ของไทยที่ร้อยละ 3 จึงเป็นผลสำคัญที่ทำให้ไทยได้เปรียบประเทศคู่แข่งขันและอาจเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดได้เพิ่มขึ้น สำหรับสินค้า Saturated Fatty Alcohols ใช้เป็นสารตั้งต้นที่นำไปใช้เป็นสารลดแรงตึงผิว (Surfactants) ซึ่งเป็นส่วนประกอบขั้นพื้นฐานในการผลิตผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน รวมถึงผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั่วไปภายในครัวเรือน

นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตสารทำละลาย สารแต่งรส แต่งกลิ่น ผงซักฟอก สารหล่อลื่น เครื่องสำอาง แชมพู สารช่วยให้พลาสติกอ่อนตัว (Plasticizer) สีทาบ้าน สารเคลือบสิ่งทอ เครื่องหนัง และหมึกพิมพ์

ทั้งนี้ ในอนาคตหากมีผู้ส่งออกรายใดต้องการส่งสินค้าดังกล่าวไปอินเดีย และไม่ต้องการถูกเก็บอากร CVD ในอัตราร้อยละ 5 ก็มีสิทธิยื่นขอทบทวนเพื่อให้มีอัตราอากรเฉพาะรายได้ โดยสามารถขอคำแนะนำได้จากกองปกป้องและตอบโต้ทางการค้า โทรศัพท์ 0-2547-5083 หรือสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมผ่านเว็บไซต์ www.thaitr.go.th

กรมการค้าต่างประเทศ มีความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการแก้ต่างกรณีที่ผู้ส่งออกไทยถูกไต่สวนมาตรการเยียวยาทางการค้า (Trade Remedy Measures) เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) และมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง AD/CVD (AC) จากรัฐบาลต่างประเทศ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และผู้ผลิต/ผู้ส่งออกไทย