
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รายงานนโยบายต่อรัฐสภาว่า มีแนวโน้มจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง และครั้งละสูงกว่าที่คาดไว้ ด้านสมาชิกวุฒิสภาตั้งคำถามว่า เฟดวินิจฉัยปัญหาเงินเฟ้อถูกต้องหรือไม่ และสามารถควบคุมเงินเฟ้อโดยไม่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและตลาดงานได้หรือไม่
สำนักข่าว Reuters รายงานข่าวธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด (Fed) รายงานนโยบายการเงินต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ว่าธนาคารกลางสหรัฐมีแนวโน้มจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งกว่าที่คาดไว้ เพื่อตอบสนองต่อตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ยังคงแข็งแกร่ง และพร้อมที่จะขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้น หากข้อมูลทางเศรษฐกิจทั้งหมดที่กำลังจะมีการเปิดเผยในช่วงปลายสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้าบ่งชี้ว่าจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มงวดขึ้น
- บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1 มิ.ย.นี้ ใครมีสิทธิรับวงเงินค่าซื้อสินค้า 900 บาท
- ตรวจหวย ตรวจผลรางวัล ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวด 1 มิ.ย. 66 (อัพเดต)
- “เหล้า-เบียร์” เจ๊กอั้ก ! ร่างกฎหมายใหม่ คุมเข้ม-สุดโหด
“ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดออกมาแข็งแกร่งเกินคาด ซึ่งบ่งชี้ว่าระดับสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยน่าจะสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้” เจอโรม พาวเวลล์ (Jerome Powell) ประธานธนาคารกลางสหรัฐบอกกับรัฐสภา
ในขณะที่ความแข็งแกร่งอันเกินคาดของเศรษฐกิจนั้นอาจเป็นผลมาจากสภาพอากาศในฤดูหนาวที่ค่อนข้างอบอุ่น ทำให้ไม่ต้องใช้พลังงานมากเท่าที่คาด และผลกระทบตามฤดูกาลอื่น ๆ เจอโรม พาวเวลล์กล่าวว่า อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเฟดจำเป็นต้องดำเนินการมากขึ้นเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อลงให้ได้ อาจจะมีการกลับไปขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% อีก
“หากข้อมูลทั้งหมดบ่งชี้ว่า การรัดเข็มขัดเร็วขึ้นรับประกันได้ว่าจะกดดอกเบี้ยลงได้ เราก็พร้อมที่จะเพิ่มอัตราการขึ้นดอกเบี้ย” พาวเวลล์กล่าว
ความเห็นดังกล่าวเป็นการให้ความเห็นครั้งแรกของพาวเวลล์ นับตั้งแต่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นอย่างคาดไม่ถึงในเดือนมกราคม 2566 และเป็นการยอมรับว่า “กระบวนการทลายเงินเฟ้อ” ที่เขาพูดถึงซ้ำ ๆ ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่น
สมาชิกวุฒิสภาตอบโต้พาวเวลล์ด้วยการตั้งคำถามกว้าง ๆ และเป็นความเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เฟดวินิจฉัยปัญหาเงินเฟ้ออย่างถูกต้องหรือไม่ และสามารถควบคุมเงินเฟ้อโดยไม่สร้างความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและตลาดงานได้หรือไม่
สมาชิกสภาจากพรรคเดโมแครตมุ่งไปที่ว่า องค์กรภาคธุรกิจที่มีกำไรสูงอาจมีบทบาทในการทำให้เงินเฟ้อยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง กล่าวคือมีธุรกิจที่ไม่ยอมปรับลดราคาลง แม้ว่าเฟดจะมีมาตรการอย่างไรก็ตาม
วุฒิสมาชิก เอลิซาเบธ วอร์เรน (Elizabeth Warren) แห่งรัฐแมสซาชูเซตส์กล่าวว่า เฟดกำลังเดิมพันกับชีวิตผู้คนผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งคาดการณ์ล่าสุดของธนาคารกลางจะนำไปสู่อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 จุดเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นความสูญเสียตำแหน่งงานในระดับที่เกิดขึ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอดีต
“คุณอ้างว่ามีทางออกเดียวคือเลิกจ้างคนงานหลายล้านคน” วอร์เรนกล่าว
“คนทำงานจะอยู่สุขสบายขึ้นไหม ถ้าเราเลิกทำงานของเรา (ไม่ขึ้นดอกเบี้ย) แล้วอัตราเงินเฟ้อดีดตัวขึ้นอีก” พาวเวลล์โต้
ด้านวุฒิสมาชิก เชอร์ร็อด บราวน์ (Sherrod Brown) สมาชิกพรรคเดโมแครตจากรัฐโอไฮโอกล่าวว่า “การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะไม่หยุดยั้งธุรกิจจากการหาผลประโยชน์ในวิกฤตเหล่านี้ด้วยการขึ้นราคาสินค้าอย่างแน่นอน”
ทั้งนี้ คำพูดของเจอโรม พาวเวลล์ ทำให้ตลาดมั่นใจมากขึ้นว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) วันที่ 21-22 มีนาคมที่จะถึงนี้ จะทำให้เกิดการปรับราคาขึ้นอย่างรวดเร็วในตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากนักลงทุนเดิมพันว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50%
ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอยู่ที่ช่วง 4.50%-4.75% ก่อนหน้านี้ ณ เดือนธันวาคม 2565 เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นไปถึงจุดสูงสุดที่ 5.10% แต่ตอนนี้นักลงทุนคาดว่าจะได้เห็นจุดสูงสุดเพิ่มขึ้นไปที่ 5.60%