ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังเผยตัวเลข PCE หนุนเฟดเพิ่มดอกเบี้ย

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังเผยตัวเลข PCE หรือดัชนีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล หนุนเฟดเพิ่มดอกเบี้ย ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group ชี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 41.7% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. 

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานสภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/2) ที่ระดับ 34.92-94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (24/2) ที่ระดับ 34.8182 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าภายหลังกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 5.4% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายปี และสูงกว่าระดับ 5.3% ในเดือน ธ.ค. ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.7% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายปี และสูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับดังกล่าวตลอดทั้งปีนี้ โดยไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย จากเดิมที่คาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือน ธ.ค.

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 41.7% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. หลังจากที่เมื่อเดือนที่แล้วให้น้ำหนักเพียง 2.8% นอกจากนี้ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 67.0 ในเดือน ก.พ. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2565 โดยสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 66.4 จากระดับ 64.9 ในเดือน ม.ค.

สำหรับปัจจัยในประเทศ นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือน ม.ค. 66 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจเกือบทุกภูมิภาคในไทย กล่าวคือ ภาคตะวันออก, ภาคใต้, ภาคกลาง, กรุงเทพฯ และปริมณฑลปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าอยู่ในกรอบระหว่าง 34.92-35.16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.12-14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/2) ที่ระดับ 1.0553-57 ดอลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดลาดเมื่อวันศุกร์ (24/2) ที่ระดับ 1.0586-90 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทั้งนี้ GfK ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยตลาดเปิดเผยผลสำรวจว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเยอรมนีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ในเดือน มี.ค. เนื่องจากราคาพลังงานปรับตัวลดลง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -30.5 ในช่วงเข้าสู่เดือน มี.ค. จากระดับ -33.8 ในเดือน ก.พ. แต่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในผลสำรวจที่จัดทำโดยสำนักข่าวรอยเตอร์ที่ระดับ -30.4

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0534-1.0561 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0554-56 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/2) ที่ระดับ 136.26-27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (24/2) ที่ระดับ 135.11-14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่นักลงทุนยังคงจับตาความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ โดยนายคาซูโะ อุเอดะ ผู้ถูกเสนอชื่อเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะแถลงต่อวุฒิสภาญี่ปุ่นในวันนี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 136.02-136.54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 136.33-38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน (28/2), ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือน ม.ค. (28/2), สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือน ม.ค. (28/2) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (28/2), ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิตเดือน ก.พ. (1/3) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน (2/3), ดัชนี PMI/ISM ภาคบริการเดือน ก.พ. (3/3)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -11.5/-11.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.85/6.10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ