เงินบาทผันผวนหนัก ก.พ. เดือนเดียวอ่อนค่า 2.10 บาท ต่อดอลลาร์

เงินบาท ค่าเงินบาท ดอกเบี้ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยเงินบาทเดือน ก.พ.พลิกอ่อนค่า 6% หรืออ่อนค่าแล้ว 2.10 บาทต่อดอลลาร์ หลังเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อ-ตัวเลขเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อออกมาดีกว่าคาด หนุนเงินดอลลาร์แข็งค่า ด้านธนาคารกสิกรไทย มองระยะสั้นเงินบาทอ่อนค่าแตะระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

แนวโน้มค่าเงินบาทในเดือนกุมภาพันธ์พลิกกลับมาอ่อนค่าประมาณ 6% จากสิ้นเดือนมกราคมอยู่ที่ 33.01 บาทต่อดอลลาร์ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 35.10 บาทต่อดอลลาร์หรือเคลื่อนไหวอ่อนค่าราว 2.10 บาทต่อดอลลาร์ และหากเทียบตั้งแต่สิ้นปี-ปัจจุบัน (YTD) พบว่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงประมาณ 1.4% จากระดับ 34.61 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 35.10 บาทต่อดอลลาร์ หรืออ่อนค่าประมาณ 0.49 บาทต่อดอลลาร์

โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทพลิกจากแข็งค่ามาอ่อนค่า จะเห็นว่าธีมใหญ่จะเป็นเรื่องของนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจากเดิมตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

อย่างไรก็ดี ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในหลาย ๆ ตัวออกมาค่อนข้างดีกว่าตลาดคาด เช่น ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Non-Farm Payrolls) ดัชนี PMI และโดยเฉพาะดัชนี PCE +5.4% YoY ในเดือนมกราคม 66 สูงกว่าระดับ 5.3% ในเดือนธันวาคม 65 ขณะที่ ดัชนี PCE พื้นฐาน +4.7% YoY ในเดือนมกราคมสูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 4.4% และ 4.6% ในเดือนธันวาคม

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่เฟดได้ออกมาส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะยังคงมีต่อไป ทำให้ตลาดกลับมาทบทวนคาดการณ์ใหม่ ซึ่งเป็นแรงหนุนให้ค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น และสวนทางกับตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4/2565 ของไทยที่ออกมา 1.4% ต่ำกว่าคาดการณ์ ทำให้ค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่า อย่างไรก็ดี ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนได้รับรู้ถึงนโยบายการเงินของเฟดพอสมควร ซึ่งอาจจะเห็นค่าเงินมีการปรับฐานได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยคาดว่าในระยะสั้นแนวโน้มค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าไปแตะที่ระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ได้

“ค่าเงินบาทในเดือน ม.ค.แข็งค่า เพราะตลาดคาดว่าเฟดจะหยุดขึ้นดอกเบี้ย แต่ตัวเลขต่าง ๆ ออกมาดีกว่าคาด และมาตอกย้ำจากคำพูดของเจ้าหน้าที่เฟดที่ส่งสัญญาณว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะยังมีต่อไป ทำให้ดอลลาร์กลับมาแข็งค่า และเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งในเดือน ก.พ.อ่อนค่า 6% ล้างการแข็งค่าในเดือน ม.ค. ดังนั้นธีมใหญ่ที่มีผลต่อค่าเงินยังคงเป็นเรื่องเฟด แต่เงินบาทก็มีโอกาสปรับฐานได้”