แบงก์มองเงินบาทอ่อนค่า หลุด 35 บาท ลุ้นตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ-จีน

ค่าเงินบาท ดอลลาร์ ค่าเงิน

แบงก์ประเมินกรอบเงินบาทเคลื่อนไหวที่ระดับ 34.50-35.25 บาทต่อดอลลาร์ จับตาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ-จีน-สงครามรัสเซีย-ยูเครน หนุนเงินบาทอ่อนค่า ด้านฟันด์โฟลว์ยังไหลออกต่อเนื่อง หนุนเงินบาทโอกาสหลุดกรอบ 35 บาทต่อดอลลาร์

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 27 กุมภาพันธ์-3 มีนาคม 2566) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 34.50-35.15 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบแนวต้านได้

สำหรับไฮไลต์ข้อมูลเศรษฐกิจ โดยในฝั่งสหรัฐ ตลาดรอดูแนวโน้มเศรษฐกิจผ่านตัวเลขสำคัญ ๆ ทั้งในส่วนรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต อุตสาหกรรม และภาคการบริการ โดย ISM (Manufacturing & Services PMIs) และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อประเมินมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และทิศทางนโยบายการเงินของเฟด

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดจะรอประเมินทิศทางของอัตราเงินเฟ้อยูโรโซน CPI ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB)

และในส่วนฝั่งเอเชีย ตลาดจะรอติดตามภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต อุตสาหกรรม และภาคการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งคาดว่าอานิสงส์ของการเปิดประเทศอาจช่วยหนุนให้ภาคการบริการของจีนกลับมาขยายตัวในอัตราเร่งขึ้น

นอกจากนี้ ปัจจัยความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ สงครามรัสเซีย-ยูเครนก็อาจเป็นสิ่งที่สามารถกดดันบรรยากาศในตลาดการเงินได้ หากสถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 20-24 ก.พ. 66) พบว่าตลาดหุ้นขายสุทธิ -1.93 หมื่นล้านบาท และตลาดพันธบัตร (บอนด์) ขายสุทธิ -5 พันล้านบาท

ทั้งนี้ บรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) และดัชนีหุ้นไทยก็ยังคงอยู่ในช่วงปรับฐาน โดยเฉพาะในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบซื้อหุ้นไทยกลับ โดยคาดว่าสัปดาห์หน้าตลาดหุ้นขายสุทธิ 5 พันล้านบาท

ขณะที่ตลาดบอนด์ ยังคงเห็นแรงขายบอนด์จากนักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มชะลอลงบ้าง อย่างไรก็ดี นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบกลับเข้ามาซื้อบอนด์ไทย จนกว่าจะเห็นสัญญาณการกลับมาแข็งค่าขึ้นที่ชัดเจนของเงินบาท หรือทิศทางบอนด์ยีลด์ในฝั่งสหรัฐเริ่มทรงตัว หรือย่อตัวลงได้บ้าง ซึ่งประเมินขายบอนด์สุทธิ 5 พันล้านบาท

“ปัจจัยที่ต้องจับตาสำหรับทิศทางเงินบาทคือ การเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ รวมถึงทิศทางราคาทองคำ เนื่องจากโฟลว์ธุรกรรมเทรดทองคำยังมีผลกระทบต่อเงินบาทพอสมควร นอกจากนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยล่าสุด จะเห็นได้ว่านักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่อง และหากยังไม่เห็นโอกาสที่เงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน นักลงทุนต่างชาติก็อาจจะยังไม่รีบเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย”

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารประเมินกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 27 กุมภาพันธ์-3 มีนาคม 2566) เคลื่อนไหวอยู่ที่ 34.60-35.25 บาทต่อดอลลาร์

โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ดัชนี ISM ภาคการผลิต และภาคบริการ เดือนกุมภาพันธ์ของสหรัฐ ข้อมูลภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนมกราคมและกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) และความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ

“ในระยะนี้ความกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ ยังมีแนวโน้มหนุนค่าเงินดอลลาร์ในตลาดโลก อย่างไรก็ดี ตลาดได้ปรับทบทวนมุมมองซึ่งสะท้อนการคาดการณ์ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง รวม 0.75% ในปีนี้ไปแล้ว ขาขึ้นของเงินดอลลาร์อาจจำกัดเช่นกัน หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่จะประกาศออกมาสอดคล้องหรือชะลอตัวมากกว่าคาด”