เงินเฟ้อสหรัฐ มกราคม 2566 ชะลอลงติดต่อกันเดือนที่ 7 และต่ำสุดในรอบ 15 เดือน

เงินเฟ้อสหรัฐ มกราคม 2023
AFP/ Yuki IWAMURA

เงินเฟ้อทั่วไปสหรัฐ เดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ 6.4% ชะลอลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 และต่ำสุดในรอบ 15 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 แต่ยังสูงกว่าที่คาด และห่างไกลเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% เป็นเหตุผลสนับสนุนให้เฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไปตามที่ประกาศไว้ 

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักสถิติแรงงาน (Bureau of Labor Statistics) กระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริกา แถลงดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index : CPI) ประจำเดือนมกราคม 2566 ท่ามกลางการจับตามองของทั่วโลก

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของสหรัฐในเดือนมกราคม 2566 เพิ่มขึ้น 6.4% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) ซึ่งหมายถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ 6.4% 

และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมกราคม 2566 เพิ่มขึ้น 0.5% ซึ่งเป็นการเพิ่มจากดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธันวาคม 2565 ที่ลดลง 0.01% จากเดือนก่อนหน้านั้น (พฤศจิกายน 2565) 

นัยสำคัญของตัวเลขชุดนี้ คือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมกราคม 2566 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และเป็นอัตราต่ำที่สุดในรอบ 15 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ซึ่งอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 6.2% แต่ก็ยังคงสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์และตลาดคาด และยังห่างไกลเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% 

สำนักงานสถิติแรงงานบอกว่า ค่าที่พักอาศัยเป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักมากที่สุดในการหนุนให้ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น โดยคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของดัชนีราคาที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด รองลงมาคือ ราคาอาหาร น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ 

สำหรับในเดือนมกราคม 2566 นี้ ค่าที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 7.9% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 0.7% จากเดือนก่อนหน้า ส่วนราคาอาหารเพิ่มขึ้น 10.1% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 0.5% จากเดือนก่อนหน้า และราคาพลังงานเพิ่มขึ้น 8.7% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 2.0% จากเดือนก่อนหน้า 

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานที่ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน (Core Consumer Price Index : Core CPI) เพิ่มขึ้น 5.6% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งหมายถึงอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ 5.6% ต่ำที่สุดในรอบ 12 เดือนนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 และเพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 

CNBC รายงานว่า สำนักงานสถิติแรงงานออกรายงานอีกฉบับระบุว่า ราคาสินค้าและบริการที่สูงขึ้น หมายถึงการสูญเสียมูลค่าที่แท้จริงของรายได้ของคนทำงาน โดยรายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงในเดือนมกราคม 2566 มีมูลค่าลดลง 0.2% จากเดือนก่อนหน้า และลดลง 1.8% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า

แม้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่ตัวเลขของเดือนมกราคมยังแสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงเป็นแรงผลักด้านลบในระบบเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้

ธนาคารกลางสหรัฐจะพยายามแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 41 ปีในฤดูร้อนปี 2565 โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงแล้ว 8 ครั้ง นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 และจะขึ้นต่อเนื่องไปอีก 2-3 ครั้ง 

ณ ตอนนี้ตลาดคาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีกสองครั้งในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนมีนาคมและพฤษภาคม ซึ่งนั่นจะทำให้ผู้กำหนดนโยบายการเงินมีเวลาเฝ้าดูผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้างก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะดำเนินการต่อไป ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อยังไม่ถอยกลับลงใกล้เป้าหมาย ก็อาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น 

เจฟฟรีย์ โรช (Jeffrey Roach) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ LPL Financial ให้มุมมองว่า อัตราเงินเฟ้อกำลังผ่อนคลายลง แต่หนทางสู่การลดอัตราเงินเฟ้อนั้นไม่น่าจะราบรื่นนัก “เฟดจะไม่ตัดสินใจจากรายงานเพียงฉบับเดียว แต่เห็นได้ชัดว่ามีความเสี่ยงมากขึ้นที่อัตราเงินเฟ้อจะไม่เย็นลงเร็วพอเท่าที่เฟดจะพอใจ” 

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เจอโรม พาวเวลล์ (Jerome Powell) ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้พูดถึง “disinflationary” หรือกระบวนการทลายอัตราเงินเฟ้อที่กำลังทำงานอยู่ แต่ตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนมกราคมที่ลดลงเพียงเล็กน้อย แสดงให้เห็นว่าธนาคารกลางสหรัฐยังมีงานต้องทำต่อไป และตัวเลขดัชนีค้าปลีกที่จะประกาศในวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ เป็นอีกชุดข้อมูลสำคัญที่เฟดจะนำไปพิจารณา

มาเรีย วาสซาลู (Maria Vassalou) หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุนรวมหลายสินทรัพย์ของ Goldman Sachs Asset Management กล่าวว่า ความแข็งแกร่งของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานบ่งชี้ว่าเฟดยังมีงานอีกมากที่ต้องทำเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย 2% และหากยอดค้าปลีกยังแข็งแกร่ง เฟดอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึงอัตรา 5.5% เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้ได้  

ทั้งนี้ มีคาดการณ์และเชื่อกันอย่างกว้างขวางว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยแบบตื้น ๆ เป็นอย่างน้อยในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดจาก Atlanta Fed คาดการณ์การเติบโตของจีดีพีสหรัฐในไตรมาสแรกของปีนี้ไว้ที่ 2.2% หลังจากที่ผ่านปี 2565 มาอย่างแกร่งเกินคาด เติบโตได้ 2.9% ในไตรมาสสุดท้ายของปี