กพช. เคาะเพิ่มผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 12,700 MW

กพช.

มติที่ประชุม กพช. เพิ่มแผนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 12,700 MW ทั้งแสงอาทิตย์ ลม และขยะอุตสาหกรรม พร้อมทั้งรับซื้อเพิ่มอีก รวมถึงชะลอการจำแนกค่าไฟฟ้าสาธารณะออกจากค่าไฟฟ้าฐาน ดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส สำหรับที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมแปร์ และใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วย ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน

วันที่ 9 มีนาคม 2566 นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่าที่ประชุมรับทราบแผนการเพิ่มผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด จากแผน PDP 2018 rev.1 ที่ได้เสนอไว้ ในช่วงระหว่างปี 2564-2573 ที่ 10,000 เมกะวัตต์

โดยได้มีการปรับเพิ่มการผลิตเป็น 12,700 เมกะวัตต์ เพื่อเป็นการปรับให้เหมาะกับกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เราต้องการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดให้มากขึ้น และลดการจ่ายค่าความพร้อม (AP) ซึ่งจะนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งการรับซื้อตรงนี้จะเป็นการลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้จะการลดแผนรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว จากเขื่อนที่มีประเด็นอยู่ โดยจะเอาจากที่เหมาะสม ที่จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งตามแผนงานเดิมที่มีข้อตกลงกันไว้จะรับซื้อ 15,000 เมกะวัตต์ ลดไป 700 เมกะวัตต์ เนื่องจากในปี 2571 ยังไม่มีโครงการใดสามารถที่จะเข้าระบบได้ตามเป้าหมาย

“ส่วนใหญ่จะเป็นการเพิ่มจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และเพิ่มในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม นอกนั้นจะยังคงไว้ตามเดิม เรื่องการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) จากเดิมเปิดไปแล้ว 2,368 เมกะวัตต์ จะเปิดรับซื้อเพิ่มอีก 2,632 เมกะวัตต์ รวมเป็น 5,000 เมกะวัตต์

ส่วนพลังงานลม เปิดไปแล้ว 1,500 เมกะวัตต์ จะเปิดเพิ่มอีก 1,000 เมกะวัตต์ รวมเป็น 2,500 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม เปิดรอบแรกไปแล้ว 100 เมกะวัตต์ และจะเปิดรับซื้อเพิ่มเติมอีก 30 เมกะวัตต์ รวมเป็น 130 เมกะวัตต์”

นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบในหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และขยะอุตสาหกรรมเพิ่มเติมและต่อเนื่อง ที่ได้มีการเปิดไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งจะมีกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนด้านเชื้อเพลิง เนื่องจากในการเปิดรอบแรกของ กกพ. มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก โดยเราจะมีการเปิดรับเพิ่มเพื่อรับซื้อจากก๊าซชีวภาพน้ำเสียและของเสีย พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ในรูปแบบนอนเฟิร์มเป็นไปตามเงื่อนไขเดิมและระเบียบ รวมถึงอัตราในการรับซื้อของ กกพ. เดิม

โดยมอบหมายให้ กกพ. รับไปดำเนินการ อย่างไรก็ตามจากการเปิดรอบแรก 335 เมกะวัตต์ แต่ยังไม่มีผู้ผ่านการคัดเลือก จึงเปิดรับซื้อไฟฟ้ารอบใหม่ในอัตราเดิม

นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบให้การไฟฟ้าผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงสายส่ง เพื่อรองรับการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตามแผนเพิ่มไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด
และที่ประชุม ยังรับทราบร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โรงไฟฟ้าน้ำงึม 3 ในลาว ปริมาณขายไฟฟ้า 468 เมกะวัตต์ กำหนด COD เดือน ม.ค. 2569 และโรงไฟฟ้าเซกอง 4A และ 4B ปริมาณขายไฟฟ้า 347 เมกะวัตต์ กำหนด COD เดือน ม.ค. 2576 โดยทั้ง 2 โครงการมีอายุสัญญา 27 ปี

ที่ประชุมได้รับทราบผลการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยในปี 2564-2568 ซึ่งเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับมติที่ กพช. มีไว้แล้วในวันที่ 25 ธ.ค. 2563 และ 1 เม.ย. 2564 โดยหลักการ นโยบายที่กำหนดโครงสร้างของไฟฟ้าจะต้องคงอัตราค่าไฟฟ้าฐานเดิม เท่ากับค่าพลังงานไฟฟ้าและค่าความต้องการไฟฟ้า ในการกำหนดค่าไฟฟ้าขายปลีกและคงอัตราค่าไฟฟ้าขายส่ง เพื่อที่จะไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในวงกว้าง และสอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤติพลังงานในปัจจุบันด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ

และชะลอการจำแนกค่าไฟฟ้าสาธารณะออกจากค่าไฟฟ้าฐาน และให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ดำเนินการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าสาธารณะที่ครบถ้วน เพื่อจำแนกค่าใช้จ่ายให้ชัดเจนและเหมาะสม และกำหนดให้มีการดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส โดยการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมแปร์และใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วย ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน