เอกชนห่วงค่าไฟ-น้ำมัน-ค่าแรง ฉุดต้นทุนการผลิต กระทบเศรษฐกิจไทย

เงินเฟ้อ ราคาพลังงาน น้ำมัน ค่าไฟฟ้า

ม.หอการค้าฯ เผยผลสำรวจภาคธุรกิจห่วงต้นทุนการผลิตพุ่งฉุดเศรษฐกิจไทย ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยเป็นปัจจัยบวกดันเม็ดเงินท่องเที่ยว ส่วนการเลือกตั้งเอกชนกังวลเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง เพราะมีผลต่อนโยบาย แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ

วันที่ 21 มีนาคม 2566 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ให้ความกังวลเรื่องของต้นทุนมากกว่าสถานการณ์การเลือกตั้งเป็นอย่างมาก เพราะมีผลต่อการประกอบธุรกิจ ที่มีปัจจัยของค่าไฟ ค่าแรง ค่าพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่วนสถานการณ์ธนาคารต่างชาติที่มีปัญหา มองว่าไม่ได้มีผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจและเศรษฐกิจภายในประเทศ และยังคงเชื่อมั่นธนาคารของประเทศไทยอยู่

“ส่วนการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนมองมีผลกระทบเชิงบวกมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจทำให้การจับจ่ายซื้อสินค้ามากขึ้น แต่ความกังวลส่วนใหญ่ของผู้ประกอบการยังอยู่ในเรื่องของต้นทุนเป็นสำคัญ”

อย่างไรก็ดี หลังจากมีการประกาศยุบสภา พร้อมกำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม ทำให้พรรคการเมืองมีเวลาหาเสียงในช่วงสั้น ช่างคาดว่าจะมีเม็ดเงินจากการเลือกตั้ง เพิ่มจากช่วงก่อนหน้านี้จาก 4-5 หมื่นล้านบาท เป็น 5-6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดเม็ดเงินสะพัดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 1-1.2 แสนล้านบาทเป็นอย่างต่ำ

และมีผลทำให้ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5-0.7 ภาพรวมปีนี้จึงยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจของประเทศจะขยายตัวได้ร้อยละ 3-4 แม้ปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกจะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย แต่การท่องเที่ยวรวมถึงเม็ดเงินจากการเลือกตั้งจะเป็นปัจจัยหนุนที่ดี

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจต่อภาคธุรกิจไทย จากกลุ่มตัวอย่าง 600 ตัวอย่างทั่วประเทศ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการภาคธุรกิจ พบว่าสถานะทางธุรกิจของผู้ประกอบการยังคงใกล้เคียงกับในปีที่ผ่านมา โดยมียอดขาย รายได้ กำไรค่อนข้างทรงตัว แต่สภาพคล่องรวมถึงการลงทุนลดลงเนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

โดยภาคธุรกิจมองว่าสภาพของธุรกิจจะสามารถปรับตัวเท่ากับในช่วงก่อนโควิด-19 ได้ประมาณไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย การท่องเที่ยวเป็นปัจจัยบวกที่ชัดเจน โดยเฉพาะการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีน เนื่องจากมีเม็ดเงินเข้าประเทศมากขึ้น ส่งผลกับการจ้างงานและการลงทุนที่จะฟื้นตัวขึ้น ประกอบกับการเลือกตั้งจะเป็นอีกปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ

แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยกดดันเศรษฐกิจ คือ การขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อที่กระทบเชิงลบ 92.5% ซึ่งเป็นผลต่อยอดขาย กำไร ต้นทุน ทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสปรับลดการซื้อวัตถุดิบ ลดกำลังการผลิต และเพิ่มราคาสินค้าและบริการ สิ่งที่ต้องการในภาครัฐสนับสนุน คือ การควบคุมราคาพลังงาน มีมาตรการเยียวยา ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

การปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนใหญ่ 53.6% มองว่าไม่กระทบขนาดที่สาม 34.1% มีผลกระทบต่อยอดขาย ต้นทุน กำไรและหนี้สิน นอกจากนี้ยังมีโอกาสผิดชำระหนี้ด้วย การปรับค่าแรงขั้นต่ำ 328-354 บาทต่อวัน ส่วนใหญ่ 77.4% มองว่าเหมาะสมและ 22.6% มองว่าไม่เหมาะสมค่าแรงควรอยู่ที่ 325 บาทต่อวัน

โดยสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐเข้าช่วยเหลือ คือ การควบคุมค่าแรงขั้นต่ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่เป็นภาระต่อต้นทุนการผลิต พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน กระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการขยายตัว มีสวัสดิการทางสังคมให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ หากเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 10% ส่วนใหญ่มองว่า 40.3% โอกาสที่จะปลดพนักงานน้อย 28.7%  ปานกลาง และโอกาสที่ปรับขึ้นราคาสินค้า 53.9% มีโอกาสที่จะปรับขึ้นสูงมาก และ 40.6% คือไม่แน่ใจ การปรับเพิ่มขึ้นของค่ากระแสไฟฟ้าจากเดิมมาอยู่ระดับปัจจุบันที่ 5.33 บาทต่อหน่วย ถือเป็นต้นทุนที่สูงของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs หากเป็นไปได้อยากให้ปรับค่าไฟลงมาเท่ากับในช่วงก่อนโควิด-19 หรือต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วย หากไม่สามารถลดลงได้อาจจำเป็นต้องมีการชะลอการลงทุน รวมถึงราคาดีเซลที่มีการปรับราคาสูงขึ้นเกินลิตรละ 30 บาทมีผลทำให้ผู้ประกอบการยอดขายลดลง ต้นทุนสูงขึ้น และไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้อีก

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจยังกังวลต่อนโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่นำมาหาเสียงในเวลานี้ เพราะบางเรื่องส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะนโยบายการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ถ้าชนะการเลือกตั้งและนำมาใช้จริง ผู้ประกอบการอาจไม่สามารถรับไหว

โดยมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลใหม่ คือต้องมีการดูแลต้นทุนการผลิตของภาคเอกชนให้ดี โดยเฉพาะราคาพลังงาน อัตราดอกเบี้ย ค่าจ้างขั้นต่ำ จะต้องมีการบริหารให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมไม่เป็นภาระของผู้ประกอบการมากจนเกินไป เพราะเวลานี้ภาระต้นทุนของผู้ประกอบการสูงอยู่แล้วการแบกรับภาระเพิ่มขึ้นไม่สามารถทำได้