อียูรุกไทยหนักด้านปัญหาแรงงานประมง จ้างองค์การแรงงานระหว่างประเทศวิจัยโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่งในแรงงานเรือประมงและอุตสาหกรรมอาหารทะเล 11 จังหวัด ระบุ 1 ใน 3 ของแรงงานได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และ 1 ใน 4 ค่าจ้างบางส่วนมีการจ่ายล่าช้าเป็นเวลาหลายเดือน
รายงานข่าวจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เปิดเผยว่า จากรายงาน ILO พบว่าทั่วโลกมีการใช้แรงงานทาสสมัยใหม่ โดยปี 2559 มีแรงงานเกือบ 25 ล้านคน ถูกใช้แรงงานเยี่ยงทาสในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และ 1 ใน 10 ของแรงงานเหล่านี้ทำงานในอุตสาหกรรมการประมงและการเกษตร ดังนั้นเพื่อยุติการใช้แรงงานบังคับในอุตสาหกรรมการประมงและอาหารทะเล องค์การ ILO จึงได้ตั้งโครงการวิจัยสิทธิจากเรือสู่ชายฝั่งขึ้นในไทย โดยสหภาพยุโรป (อียู) เป็นผู้ว่าจ้างวิจัย ทั้งนี้มีการออกแบบสอบถามแรงงานดังกล่าวใน 11 จังหวัดชายทะเลของไทยจำนวน 434 คน ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนปีที่ผ่านมา และจะมีการวิจัยอีกครั้งในปี 2562
ผลการวิจัยที่สำคัญพบว่า กรณีการทำร้ายร่างกายมีน้อยลง การจ้างแรงงานอายุน้อยกว่า 18 ปีมีน้อยมากไม่ถึงร้อยละ 1 แรงงานข้ามชาติกว่าร้อยละ 43 มีสัญญาว่าจ้างที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพิ่มขึ้นกว่า 4 ปีที่ผ่านมา แรงงานประมงบางคนได้รับค่าจ้างแต่ละเดือนสูงขึ้น ส่วนการละเมิดแรงงานที่ยังพบอยู่อย่างต่อเนื่อง ประมาณร้อยละ 34 ของแรงงานประมงและอาหารทะเลไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ยังมีความไม่เท่าเทียมเรื่องค่าจ้างระหว่างหญิงชาย โดยร้อยละ 52 ของแรงงานหญิงได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ร้อยละ 24 ในภาคประมงแจ้งว่าถูกนายจ้างยึดค่าจ้าง บางคนถูกยึดค่าจ้างเป็นเวลา 12 เดือนหรือมากกว่านั้น และร้อยละ 34 แจ้งว่าถูกยึดเอกสาร ILO จึงขอเสนอแนะให้รัฐบาลไทย องค์การนายจ้าง สหภาพแรงงาน ภาคประชาสังคมและผู้ซื้ออาหารทะเลทั่วโลกร่วมมือกันผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายไทยให้มีประสิทธิภาพและให้เป็นอุตสาหกรรมที่นำไปสู่งานที่ดีมีคุณค่า
“จากการสำรวจในปี 2560 มีแรงงานที่ระบุว่ามีสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรในจำนวนที่มากขึ้นกว่าเมื่อ 2-3 ปีก่อน และแทบไม่พบแรงงานอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดในอุตสาหกรรมการประมง แต่การละเมิดสิทธิบางอย่างก็ยังคงมีอยู่ เช่น 1 ใน 3 ของแรงงานภาคประมงหรืออาหารทะเลไทยได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 1 ใน 4 ของแรงงานประมงระบุว่าค่าจ้างบางส่วนของตนมีการจ่ายล่าช้าเป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งเรื่องนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากการไม่จ่ายค่าจ้างให้แรงงานเป็นตัวชี้วัดการบังคับใช้แรงงานอันหนึ่งของ ILO” นายแกรห์ม บัคลีย์ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชาและ สปป.ลาว กล่าว
รายงานข่าวกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ ILO เคยสำรวจค่าจ้างเฉลี่ยรายเดือนก่อนหักค่าใช้จ่ายของแรงงานประมงในปี 2556 มีรายได้ 6,483 บาท ในการสำรวจปี 2560 มีค่าจ้าง 9,980 บาท อย่างไรก็ตาม มีการหักค่าจ้างแรงงานประมงสูงขึ้นจากร้อยละ 42 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 48 ในปี 2560 และค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนหลังหักของแรงงานประมงในการสำรวจนี้คือ 7,730 บาท ซึ่งต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย