FTA ไทย-ยูเออีนัดแรก ถก 20 ประเด็นขีดเส้นจบปี 2566

การค้าเสรี

ปิดฉากเจรจา FTA ไทย-ยูเออี รอบแรก 16-18 พ.ค.นี้ พาณิชย์ลุยหารือ 20 ประเด็นร้อน ขีดเส้นได้ข้อสรุปภายในปี’66 มั่นใจช่วยกระตุ้นตลาดการค้าตะวันออกกลาง เชื่อมโยง GCC 2 หมื่นล้าน แง้มแผนศึกษาโอกาสเปิดเจรจา FTA อิสราเอล-กลุ่มประเทศ GCC ฉบับต่อไป

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะ เปิดเผยว่า ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 นี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย H.E. Dr. Thani Bin Ahmed Al Zeyoudi รัฐมนตรีแห่งรัฐประจำกระทรวงเศรษฐกิจ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

จะร่วมกันประกาศนับหนึ่งการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership Agreement : CEPA) กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ที่ จ.ภูเก็ต จากนั้นคณะเจรจาจะเปิดเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ CEPA นัดแรก ในวันที่ 16-18 พฤษภาคมนี้ โดยทางยูเออีจะเป็นเจ้าภาพการจัดการเจรจา

สำหรับกรอบการเจรจา CEPA จะครอบคลุมประเด็นทั้งหมด 20 ประเด็น อาทิ การค้าสินค้า ลดหรือเลิกมาตรการและอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีให้มากที่สุด การค้าบริการ เปิดตลาดการค้าบริการ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการค้าดิจิทัล

ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกและความร่วมมือทางการค้าผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการค้าดิจิทัล งานด้านทรัพย์สินทางปัญญา ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม ลดอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า กฎระเบียบการค้า สิ่งแวดล้อม แรงงาน ส่งเสริมการใช้มาตรฐานระหว่างประเทศที่มีความเหมาะสมและปฏิบัติได้ เป็นต้น

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

“ไทย-ยูเออีมีเป้าหมายจะสามารถสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายในครึ่งปี 2566 นี้ หากมีการสรุปเจรจาเอฟทีเอแล้วเสร็จจะนำสรุปผลที่ได้มาแปล เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ จากนั้นก็จะเข้าสู่ขบวนการต่าง ๆ ตามขั้นตอน เพื่อนำไปสู่การให้สัตยาบัน ในการเกิดผลบังคับใช้ต่อไป”

ทั้งนี้ ความตกลง CEPA นับเป็นฉบับแรกที่ประเทศไทยมีเอฟทีเอด้วยกับในกลุ่มตลาดตะวันออกกลาง ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจาไปเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา โดยกรอบการเจรจาดังกล่าวทางกรมได้จัดทำขึ้น

และได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนไปก่อนหน้านี้ ซึ่งทางเอกชนให้ความสำคัญและสนับสนุนการเปิดการเจรจาเอฟทีเอ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าของไทยเพิ่มส่วนแบ่งในตลาด เปิดตลาดการค้าใหม่

“ตลาดยูเออี เป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจและการค้าในตะวันออกกลาง เป็นตลาดที่มีผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร รวมทั้งยังมีนโยบายการลงทุนที่เปิดกว้าง

และอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนอย่างเต็มที่ สามารถดึงดูดนักลงทุนยูเออีมายังประเทศไทย และที่สำคัญ ยูเออียังสามารถเป็นประตูการค้าสู่กลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council : GCC) ซึ่งมีสมาชิก 6 ประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางทางการค้า ธนาคาร คมนาคมในตะวันออกกลางอีกด้วย และแหล่งขนถ่าย ส่งต่อสินค้าไปยังประเทศอื่น”

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

รายงานศึกษาระบุว่า ประเทศไทยเมื่อมีเอฟทีเอไทย-ยูเออี จะทำให้เศรษฐกิจไทย (GDP) ขยายตัว 318-357 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ยูเออีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในตลาดโลก และอันดับที่ 1 ในตะวันออกกลาง โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับยูเออีมีมูลค่า 20,824.22 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 73.90% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปยูเออี มีมูลค่า 3,420.23 ล้านเหรียญสหรัฐ

สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และไม้ และไทยนำเข้าสินค้าจากยูเออี มีมูลค่า 17,403.99 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ และเครื่องเพชรพลอย

นางอรมนกล่าวว่า นอกจากการเปิดเจรจาเอฟทีเอไทย-ยูเออีแล้ว กรมยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการทำเอฟทีเอไทย-อิสราเอล และการทำเอฟทีเอไทย-ซาอุดีอาระเบีย โดยในส่วนของซาอุฯเป็นประเทศที่มีความสำคัญในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) ที่มี 6 ประเทศสมาชิก ประกอบด้วย (ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน โอมาน ยูเออี กาตาร์ และคูเวต) ซาอุฯจะช่วยประสานงานและผลักดันร่วมกับประเทศไทย เพื่อให้เกิด FTA ไทย-GCC ต่อไปในอนาคต