กรมปศุสัตว์ชี้ สัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้า ไม่มีการฉีดวัคซีน 80% ยันไม่เคยพูดเรื่องเซ็ทซีโร่สุนัข-แมว

กรมปศุสัตว์ชี้ สัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้า ไม่มีการฉีดวัคซีน 80% แนะเจ้าของนำสุนัขและแมวมาฉีดวัคซีนซ้ำกระตุ้นภูมิคุ้มกันถึง 1 พ.ค.นี้ ที่ปศุสัตว์จังหวัดฟรี พร้อมยันไม่เคยพูดถึงเรื่องเซ็ทซีโร่สุนัขและแมว

นายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยในงานแถลงข่าวสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ว่า จาการตรวจสอบพบว่า สุนัขและแมวที่ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า 80% ไม่มีประวัติการฉีดวัคซีนมาก่อน และบางตัวไม่มีการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าซ้ำในสุนัขและแมวเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งกรมปศุสัตว์กำหนดให้เจ้าของสัตว์นั้น ต้องนำมาฉีดวัคซีนปีละ 1 ครั้ง ทำให้เมื่อได้รับเชื้อแม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็เสี่ยงเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ ดังนั้นจึงอยากขอความร่วมมือให้ผู้เลี้ยงสัตว์ นำสัตว์มาฉีดวัคซีนซ้ำที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดหรืออำเภอ รวมทั้งหน่วยเคลื่อนที่ของสำนักเขต โดยไม่มีค่าใช้จ่ายถึงวันที่ 1 พ.ค.2561

อย่างไรก็ตามทุกปีมีการนำเข้าวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าจากบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศกลุ่มยุโรป จำนวน 10 ล้านโดส เป็นการจัดซื้อของกรมฯ 1 ล้านโดส อีก อีก 9 ล้านโดสเป็นของคลินิก หรือโรงพยาบาลสัตว์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ วัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่มีการตรวจพบว่าไม่ได้มาตรฐาน ส่วนที่เป็นกระแสข่าวว่าวัคซีนไม่ได้มาตรฐานนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2560 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เรียกเก็บออกจากท้องตลาด รวมถึงให้บริษัทผู้นำเข้าทำลายทิ้งทั้งหมด ซึ่งบริษัทดังกล่าวไม่ได้มีการซื้อขายวัคซีนกับกรมฯ แล้ว อย่างไรก็ตาม กรมฯ ได้ร่วมกับองค์การอาหารและยา(อย.) และกระทรวงสาธารณสุข ในการตรวจสอบคุณภาพของวัคซีนอย่างเข้มงวด อีกทั้ง กรมฯ กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย ซึ่งต้องดูทั้งในเรื่องคุณภาพ

“กรณีกระแสข่าวเซ็ตซีโร่โดยการกำจัดสุนัขและแมวจรจัดให้หมดจากประเทศนั้น จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน เพราะประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ และทางกรมปศุสัตว์ไม่เคยมีการพูดถึงเรื่องเซ็ตซีโร่ อย่างไรก็ตามการกำจัดสัตว์ที่อาจจะเป็นโรคพิษสุนัขบ้านั้น อยู่ในการพิจารณาของสัตวแพทย์ว่า อยู่ในกรณีที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดต่อไปยังสัตว์และคนหรือไม่ ส่วนสุนัขหรือแมวจรจัดที่อยู่ในวัดนั้น ถือเป็นความรับผิดชอบของวัดที่ต้องควบคุมพื้นที่เลี้ยงไม่ปล่อยสัตว์ออกมานอกขอบเขตด้วย ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์จะช่วยเหลือในเรื่องอาหาร และสถานที่เลี้ยงให้มีขอบเขตชัดเจน”

สำหรับทางด้านกฎหมาย กรมปศุสัตว์มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 ว่าด้วยหากในที่สาธารณะปรากฏสุนัข-แมว ที่ไม่มีเจ้าของ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ในท้องถิ่นจับสัตว์ดังกล่าวไปเลี้ยงเพื่อดูอาการ 5 วัน เพื่อประกาศหาเจ้าของ อีกทั้ง ปัจจุบันมีกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข ให้ส่วนท้องถิ่นกำหนดว่าการเลี้ยงสัตว์ว่าต้องไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ และพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ 2557 ที่จะผลักดันโดยเพิ่มมาตราย่อยในการควบคุมสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของในชุมชน ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะทำประชาพิจารณ์ในวันที่ 28 มี.ค. 2561 นี้

“โรคพิษสุนัขบ้าสามารถระบาดได้ทั้งปี แต่ในช่วงฤดูร้อน สุนัขและแมวจะวิ่งไปไหนมาไหนตลอดเวลา ทำให้ฤดูร้อนมีการระบาดได้สูงสุดในรอบปี ทั้งนี้ สถานการณ์การระบาดเริ่มลดลงเป็นที่น่าพอใจ ส่วนหนึ่งเกิดจากความตระหนักของเจ้าของสัตว์และการดำเนินงานจากส่วนท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม การควบคุมหรือจับระเบียบพื้นที่การเลี้ยงให้เป็นที่ทางจะช่วยลดปัญหาการระบาดได้ในระยะยาว”