รถบรรทุก 2 ล้านคันอ่วม เลิกอุ้มดีเซล ค่าขนส่งพ่นพิษของแพง รอรัฐบาลใหม่แก้

น้ำมัน+รถบรรทุก

สหพันธ์ขนส่ง ชี้ ขึ้นราคาดีเซล 5 บาท กระทบต้นทุนรถบรรทุก 2 ล้านคันทั้งระบบ เสี่ยงขาดสภาพคล่องหยุดวิ่ง ลามถึงราคาสินค้าแพงตาม หวังรัฐบาลใหม่ “ก้าวไกล-เพื่อไทย” ช่วยกู้วิกฤตพลังงาน

วันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ประกาศเลิกอุ้มภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาท/ลิตร ที่จะหมดอายุวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 นี้ จะส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลอาจจะพุ่งจาก 31.94 บาทต่อลิตร ไปที่ 36.59 บาทต่อลิตร หรือเกือบ 37 บาท ซึ่งอาจกระทบตั้งแต่ผู้ผลิตไปจนถึงผู้บริโภค

ขณะที่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เตรียมจะจัดแถลงข่าว วันที่ 18 กรกฎาคม 2566 ถึงแนวทางรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

โดยก่อนหน้านี้มีการระบุว่า สกนช. จะนำเงินที่เก็บได้ในส่วนของภาษีน้ำมันดีเซล 3.82 บาทต่อลิตร มาช่วยเป็นส่วนลดทดแทนจากภาษีสรรพสามิตที่จะหมดอายุ ซึ่งมีอัตราภาษีเดิมของน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 5.99 บาท ทำให้ต้องจ่ายภาษีส่วนนี้ 2.17 บาท ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลจะตรึงราคาที่ 32 บาทต่อลิตร

อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือนี้สามารถรักษาเสถียรภาพราคาดีเซลไว้ได้ 1-2 เดือน หรือจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่อาจเป็นช่วงเดือนตุลาคม รวมถึงปัจจัยจากฤดูกาล เพราะในช่วงปลายปีนี้ หลายประเทศทั้งในยุโรปและอเมริกาเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อย่างซาอุดีอาระเบียประกาศลดกำลังการผลิตลง ซึ่งจะกดดันให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวขึ้น อีกทั้งต้องติดตามผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามที่คาดไว้หรือไม่

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง

ADVERTISMENT

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์ขนส่งประเทศไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลยกเลิกมาตรการช่วยเหลือน้ำมันดีเซล จาก 32 บาทส่งผลให้ราคาสินค้าขยับขึ้นตามไปด้วย โดยหากราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้น
1 บาท จะทำให้ค่าบรรทุกเพิ่มขึ้น 3% ดังนั้นถ้าขึ้นถึง 5 บาทก็จะทำให้ค่าบรรทุกเพิ่มเป็น 15% ส่งผลกระทบต้นทุนของผู้ประกอบการรถบรรทุกทั้งระบบ ที่คาดว่าจะมีจำนวนกว่า 2 ล้านคัน

รวมถึงรถกระบะอีกเป็น 10 ล้านคัน ทำให้ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น กระทบต่อกำลังการผ่อนค่างวดรถสำหรับคนที่หมุนเงินไม่ทันจ่ายค่างวด จำเป็นต้องจอดสุดท้ายรถก็จะถูกยึด ทำให้พังไปทั้งระบบโลจิสติกส์

ADVERTISMENT

“เวลาน้ำมันปรับขึ้น สินค้าปรับขึ้น แต่เวลาน้ำมันลง ราคาสินค้าไม่ได้ลง แต่กลับกันถ้าเป็นรถบรรทุกมีการปรับขึ้นราคาค่าขนส่งเมื่อน้ำมันราคาแพง แต่เมื่อราคาน้ำมันราคาถูกลงก็ต้องปรับลดลง ในฐานะที่ทำธุรกิจกับคู่ค้าซึ่งเป็นพันธมิตรกันย่อมต้องพยายามพยุงราคาให้เหมาะสมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ถ้ามีการขยับราคาน้ำมันขึ้นไปอีก ผมเกรงว่าราคาสินค้าในท้องตลาดจะปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ยังไม่ปรับเพิ่มขึ้น เมื่อถึงเวลานั้นแล้ว ประชาชนอาจจะไม่กล้าใช้เงิน ส่งผลให้ไม่มีเงินหมุนเวียนในระบบ แล้วสุดท้ายประเทศชาติจะเดินต่อไปอย่างไร”

สถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจโลจิสติกส์ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐมากนักแม้ว่าจะเป็นช่วงโควิด ภาคขนส่งไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐเลย ไม่ว่าจะเป็นแผนการเงินสนับสนุน ไม่เหมือนกับสมัยอดีต นายอภิชาติกล่าวว่า หลังจากนี้ยังมีความเชื่อมั่นในพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมองเห็นอนาคตข้างหน้าที่จะลงมาดูแลเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะการบริหารจัดการและแก้ไขมาตรการที่ไม่เป็นธรรม และยังมีภารกิจ เรื่องการดูเรื่องความลักลั่นในการผลิตน้ำมัน ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำมันได้เอง แต่ทำไมต้องไปอ้างอิงราคาน้ำมันจากสิงคโปร์ หรือประเทศกลุ่มตะวันออกกลาง

“ผมคิดว่าตรงนี้มันไม่สมควรอิงสิงคโปร์ เพราะเป็นการเอื้อผลประโยชน์ระดับนายทุน แต่ในอดีตที่ผ่านมาประเทศของเราไม่มีโรงกลั่นน้ำมัน จึงเปิดทางเลือกให้โรงกลั่นเข้ามาลงทุนซึ่งกินเวลาเป็น 30-40 ปีแล้ว ปัจจุบันก็ได้กำไรมหาศาลไปหมดแล้ว ทำให้สมควรที่จะต้องมาทบทวนเรื่องสัญญากันใหม่ ว่าสามารถต่อรองเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนได้หรือไม่ เมื่อถึงตอนนั้นเราจะสามารถลดราคาพลังงานได้อย่างยั่งยืน”