ลุ้นตรึงดีเซล 32 บาทต่อ ถกควักเงินกู้ 5.5 หมื่นล้าน จ่อลดเก็บเงินเข้ากองทุน

ดีเซล

กองทุน ถกควักเงินกู้ 5.5 หมื่นล้านบาท พร้อมลดการเก็บเงินเข้ากองทุนตรึงดีเซลไม่เกิน 32 บาท/ลิตร ตั้งแต่ 21 ก.ค.เป็นต้นไป หลัง ครม.ไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีดีเซลจะสิ้นสุดลง 20 ก.ค.นี้ คาดมีความชัดเจนสัปดาห์หน้า

วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้เตรียมแนวทางรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ตามแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพของประชาชน หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาท/ลิตร สำหรับอุดหนุนราคาขายปลีกดีเซลในประเทศที่จะสิ้นสุดลงวันที่ 20 ก.ค. 2566 คาดว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) จะหารือให้ได้ข้อสรุปที่มีความชัดเจนภายในสัปดาห์หน้า

“ขณะนี้กองทุนชำระหนี้ให้ผู้ค้ามาตรา 7 ไปแล้วประมาณ 55,000 ล้านบาทที่ใช้เงินอุดหนุนราคาดีเซลไปก่อนหน้านี้ ทำให้เหลือเงินกู้อีกประมาณ 55,000 ล้านบาท ที่สามารถนำมาใช้อุดหนุนราคาน้ำมันได้จากเงินกู้ที่บรรจุเป็นหนี้สาธารณะแล้ว 1.1 แสนล้านบาท ซึ่งอย่างน้อยน่าจะเพียงพอที่ช่วยรักษาเสถียรภาพราคาดีเซลไว้ได้ 1-2 เดือน หรือจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่อาจเป็นช่วงเดือน ต.ค.ก็ได้”

โดยการพิจารณานี้อยู่ บนสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 85-87 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หรือไม่เกิน 90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ดีเซลสำเร็จรูปไม่เกิน 93 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

อย่างไรก็ตาม ยังเหลือวงเงินกู้ที่ยังไม่บรรจุเป็นหนี้สาธารณะอีกประมาณ 40,000 ล้านบาท จากกรอบวงเงินกู้ทั้งสิ้น 1.5 แสนล้านบาท

Advertisment

ทั้งนี้ ล่าสุด ณ วันที่ 13 ก.ค. 2566 กองทุนสามารถเก็บเงินในส่วนของดีเซลได้ 3.82 บาท/ลิตร ดังนั้นกองทุนอาจนำเงินที่เก็บได้ในส่วนของดีเซลนี้ไปช่วยเป็นส่วนลดทดแทนภาษีที่หมดอายุลงด้วย หากราคาน้ำมันผันผวน จนสร้างความเดือดร้อนต่อการดำรงชีพของประชาชน โดยปัจจุบันโครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลเรียกเก็บภาษีอยู่ที่ 1.34 บาท/ลิตร เนื่องจากได้รับส่วนลดภาษีประมาณ 4.65 บาท/ลิตร จากอัตราภาษีก่อนได้รับส่วนลดอยู่ที่ 5.99 บาท

หากต้องคืนภาษี 4.65 บาท/ลิตร โดยที่ไม่มีการอุดหนุนใด ๆ ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. 2566 เป็นต้นไป ราคาขายปลีกดีเซลจะปรับขึ้นทันที 4.65 บาท/ลิตร อยู่ที่ 36.59 บาท/ลิตร หรือเกือบ 37 บาท/ลิตร จากปัจจุบันราคาขายปลีกดีเซลหน้าปั๊มอยู่ที่ 31.94 บาท/ลิตร

สำหรับฐานะกองทุน ณ วันที่ 9 ก.ค. 2566 กองทุนติดลบลดลงเหลือ 52,270 ล้านบาท จากที่เคยติดลบสูงสุด 1.3 แสนล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบลดลงเหลือ 6,598 ล้านบาท ส่วนบัญชีก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ติดลบลดลงเหลือ 45,672 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หลังจากประเทศไทยมีรัฐบาลใหม่แล้ว จะเป็นช่วงปลายปีนี้ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวในหลายประเทศจึงมีความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสูง ประกอบกับซาอุดิอาระเบียประกาศลดกำลังการผลิตลง เป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวขึ้น ดังนั้นปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกขณะนั้นเป็นหลัก ว่ากองทุนจะสามารถรักษาระดับราคาดีเซลไม่ให้เกิน 32 บาท/ลิตรไปได้นานแค่ไหน อีกทั้งต้องติดตามผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สัปดาห์หน้าที่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามที่คาดไว้ ซึ่งจะส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบตลาดโลกอ่อนตัวลงหรือไม่อย่างไร

Advertisment