แรงงานค้างขึ้นทะเบียนล้านคน พ้นเส้นตาย 31 มี.ค.โทษจับ-ปรับ

แรงงานต่างด้าวค้างขึ้นทะเบียนเฉียดล้านคน ก.แรงงาน เปิดให้บริการ 24 ชม. ถึง 31 มี.ค.นี้ บิ๊ก “อดุลย์” ลั่นไม่ยืดเวลา พ้นเส้นตายพบทำผิด กม.เจอจับ-ปรับ สภาหอการค้า-สภาอุตฯ อ้อนขอผ่อนผัน หวั่นกระทบเอสเอ็มอี-รายย่อย

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากที่ได้เปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ One Stop Service (OSS) ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. 2561 เพื่อจัดทำทะเบียนประวัติและขออนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย แต่ยังไม่มีใบอนุญาตทำงานถูกต้อง รวม 1,687,473 คน ถึงวันที่ 22 มี.ค. 2561 ดำเนินแล้วเสร็จ 727,902 คน หรือ 43.13% เหลือที่ต้องดำเนินการอีก 959,571 คน

รับจดทะเบียนต่างด้าว 24 ชม.

ดังนั้นเพื่อให้ทันวันที่ 31 มี.ค. 2561 ที่จะครบกำหนดการลงทะเบียน กระทรวงแรงงานได้เตรียมแผนการรองรับโดยปรับลดขั้นตอนกระบวนการทำงานของศูนย์ OSS โดยแบ่งแรงงานต่างด้าวเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่พิสูจน์สัญชาติ 500,000 คน ให้มารายงานตัว และตรวจลงตราวีซ่าอยู่ในราชอาณาจักรได้ถึง 31 มี.ค. 2563 และขออนุญาตทำงาน โดยออกใบรับอนุญาตทำงานชั่วคราวถึง 30 มิ.ย. 2561 ให้ไปตรวจสุขภาพ ทำทะเบียนประวัติทำงานให้แล้วเสร็จ เพื่อทำงานได้ถึง 31 มี.ค. 2563 ส่วนกลุ่มที่ยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติ 400,000 คน ให้มาดำเนินการที่ศูนย์ OSS ทุกขั้นตอน ภายใน 31 มี.ค. 2561

โดยให้ศูนย์ OSS เปิดบริการ 24 ชั่วโมง ในจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก ตั้งแต่ 23-31 มี.ค. 2561 รวม 4 ศูนย์ ใน จ.เชียงราย, ราชบุรี, ระนอง และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่กระทรวงแรงงาน อีก 3 ศูนย์ ได้แก่ เพชรเกษม 65, ไอทีสแควร์ และห้างสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี จะให้บริการตั้งแต่ 08.00-22.00 น.

ย้ำไม่ขยายเวลาเพิ่มเจอจับ-ปรับ

นอกจากนี้ยังเพิ่มช่องทางโดยการยื่นคำขอรายงานตัวทางอินเทอร์เน็ต ผ่านเว็บไซต์กรมการจัดหางาน http://www.doe.go.th ตั้งแต่ 08.30 น. วันที่ 26 มี.ค. 2561 ถึง 24.00 น. วันที่ 31 มี.ค. 2561 และจัดเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำการลงทะเบียนออนไลน์ ผ่านสายด่วน 1506 สามารถให้บริการได้วันละ 10,000 คน

ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าจะไม่มีการขยายเวลาให้อีก จึงขอให้นายจ้าง ผู้ประกอบการ และแรงงานต่างด้าว มาลงทะเบียนตามกำหนด เพราะหลังครบกำหนดจะตรวจจับ ปรับ โดยแรงงานต่างด้าวจะมีความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ข้อหาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน โทษปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 50,000 บาท แล้วจะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร

นายจ้างผิดข้อหารับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต โทษปรับ 10,000-100,000 บาท ต่อต่างด้าวที่จ้าง 1 คน ทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท ต่อต่างด้าวที่จ้าง 1 คน และห้ามจ้างแรงงานต่างด้าว 3 ปี

ชี้นายจ้าง-ต่างด้าวนิ่งนอนใจ

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับลดขั้นตอนภายในศูนย์ OSS จะดำเนินการเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่พิสูจน์สัญชาติแล้ว 1) กรณีไม่มีโรงพยาบาลมาตรวจในศูนย์ OSS ให้นัดตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลที่กำหนด หากยังไม่ได้ผลการตรวจสุขภาพ ให้นำใบนัดตรวจสุขภาพ และใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานยื่นศูนย์ OSS กรณีมีโรงพยาบาลมาตรวจให้ตรวจในศูนย์ OSS 2) ยื่นแบบกรอกข้อมูลทะเบียนประวัติ (ท.บ.1) และแบบคำขอจดทะเบียน (ท.ต.1)

ที่ศูนย์ OSS 3) ตรวจลงตรา (VISA) ตรวจคนเข้าเมือง ที่ศูนย์ OSS 4) ขออนุญาตทำงานที่ศูนย์ OSS เพื่ออยู่และทำงานได้ถึง 31 มี.ค. 2563 จากนั้นหลัง 31 มี.ค. 2561 ให้จัดทำทะเบียนประวัติและตรวจสุขภาพให้แล้วเสร็จภายใน 30 มิ.ย. 2561

กลุ่มที่ยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติ 4 แสนคน ให้ดำเนินการทุกขั้นตอนภายในศูนย์ OSS ตามปกติ จนได้บัตรชั่วคราว หรือบัตรสีชมพู จากนั้นต้องพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายใน มิ.ย. 2561 นำไปยื่นสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือกรมการจัดหางาน สามารถทำงานได้ถึงเดือน มี.ค. 2563 สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้แรงงานเข้ามาพิสูจน์สัญชาติกระจุกตัวช่วงโค้งสุดท้าย เนื่องจากนายจ้าง และแรงงานต่างด้าวนิ่งนอนใจ ไม่มาดำเนิน

กทม.แชมป์ขึ้นทะเบียนต่างด้าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ข้อมูลแรงงานต่างด้าวคงเหลือที่ต้องมาจัดทำทะเบียนประวัติและขออนุญาตทำงานที่ศูนย์ OSS รวม 959,571 คนนั้น หลัก ๆ มี กทม. 259,389 คน ชลบุรี 83,476 คน สมุทรปราการ 73,057 คน และสมุทรสาคร 55,405 คน

ขณะที่การพิสูจน์สัญญาติแรงงานต่างด้าวทั้งหมด 645,206 คน แบ่งเป็น เมียนมา 191,291 คน กัมพูชา 267,820 คน และลาว 29,191 คน ดำเนินการแล้วเสร็จ 156,904 คน คงเหลือ 488,302 คน

ส่วนการจัดเก็บข้อมูลพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลของแรงงานต่างด้าว (Iris Scan) 3 ประเภทกิจการ คือ ประมงทะเล, แปรรูปสัตว์น้ำ และกิจการต่อเนื่องกับประมง ใน 22 จังหวัดชายทะเล มีเป้าหมายดำเนินการทั้งหมด 166,825 คน ดำเนินการแล้วเสร็จ 163,161 คน หรือ 97.80% คงเหลือ 3,664 คน แบ่งเป็น ประมงทะเล 1,642 คน แปรรูปสัตว์น้ำ 2,022 คน จำนวนที่เหลือคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 31 มี.ค. 2561

สภาหอฯขอยืดเวลา 

ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการเห็นว่าการขึ้นทะเบียนอาจไม่ทันกำหนด เพราะแรงงานต่างด้าวมีจำนวนมาก จึงขอให้พิจารณาขยายระยะเวลาขึ้นทะเบียนออกไปอีกระยะหนึ่ง

ส่วนนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กรณีมีแรงงานยังค้างขึ้นทะเบียนจำนวนมาก เอกชนเชื่อว่ารัฐมีวิธีผ่อนปรน คือ 1.เลื่อนเวลาขึ้นทะเบียน 2.เปิดให้แจ้งชื่อและจำนวนแรงงานที่ต้องการขึ้นทะเบียน จากนั้นจึงค่อยยื่นตรวจเอกสาร หรือแจ้งก่อนตรวจทีหลัง

ร้านอาหารหมดห่วง 

นางลัดดา สำเภาทอง นายกสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหาร กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการเร่งลงทะเบียนต่อเนื่อง เพราะแรงงานต่างด้าวมีความสำคัญกับธุรกิจ ได้วางแผนการรับมือระยะสั้น โดยจะดึงกลุ่มพาร์ตไทม์ซึ่งมีมากช่วงซัมเมอร์เข้ามาทดแทนชั่วคราว

เชียงใหม่ยันไม่มีปัญหา

ความเคลื่อนไหวในต่างจังหวัด นายมนูญ สุขศรีจันทร์ แรงงานจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตัวเลขแรงงานต่างด้าวทั้งหมดที่ทำงานใน จ.เชียงใหม่ มีประมาณ 150,000 คน แบ่งเป็น เข้ามาถูกต้องตามกฎหมาย 70,000 คน โดยนำเข้าภายใต้ MOU มีเอกสารครบ อีก 80,000 คนเข้ามาอยู่อาศัยและทำงานไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนใหญ่อยู่ในภาคธุรกิจก่อสร้างและภาคเกษตร เช่น สวนส้ม สวนสตรอว์เบอรี่ สวนลิ้นจี่ เกษตรทั่วไป ขณะนี้พบว่ามีแรงงานยังคงค้างขึ้นทะเบียน 30,000-40,000 คน