สมาคมประมงยื่นหนังสือถึงนายกฯ ยกเลิกระเบียบ IUU อุปสรรคประกอบอาชีพ

ประมง
ประมง

สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยออกโรงสนับสนุนสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย หลังพบ “เศรษฐา” ให้ยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับที่ออกตามใจสหภาพยุโรปเรื่อง IUU Fishing ทั้งเงื่อนไขการออกใบอนุญาตการใช้ทำประกันภัยเรือ ระบบติดตามเรือประมง (VMS) และวิธีการดำเนินการกับเรือต้องสงสัยผิดกฎหมายของศูนย์ FMC พร้อมเสนอแก้ระเบียบอีก 13 ฉบับรวด หลังพบเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง

หลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มารับฟังปัญหาของชาวประมงที่จังหวัดสมุทรสงคราม ในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ปรากฏทางสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยได้ทำหนังสือนำเสนอร่างกฎหมายประมงลำดับรองต่อนายกรัฐมนตรี โดยหนังสือฉบับดังกล่าวได้อ้างถึง พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ได้ถูกตราขึ้นอย่างเร่งรีบเพื่อตอบสนองต่อคณะกรรมาธิการยุโรป (The European Commission) ที่ได้มีคำแจ้งเตือนรัฐบาลไทยในขณะนั้นอย่างเป็นทางการในประเด็นของการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ IUU Fishing ส่งผลทำให้รัฐบาลไทยเร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายกฎระเบียบให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของสหภาพยุโรป

“การเร่งรีบแก้ไขกฎหมาย-กฎระเบียบที่เกี่ยวกับการประมงของไทยมีข้อบกพร่องมากมาย เพราะขาดข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติ ผลการบังคับใช้กฎหมายได้นำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มีต่ออุตสาหกรรมประมงและธุรกิจต่อเนื่อง ทำให้ชาวประมงประสบปัญหาและอุปสรรคในการประกอบอาชีพ ดังนั้นสมาคมจึงตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อรวบรวมปัญหาและจัดทำร่างเพื่อเตรียมเสนอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาแก้ไขทันที”

โดยมีกฎหมายประมงที่เสนอให้ “ยกเลิก” 3 ฉบับ ได้แก่ 1) กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอและการออกใบอนุญาตใช้เรือและการประกันภัยเรือสำหรับโดยสาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2561

2) ระเบียบกรมประมงเรื่อง แนวทางปฏิบัติกรณีตรวจพบการฝ่าฝืนกฎหมายของเรือประมงด้วยระบบติดตามเรือประมง (Vessel Monitoring System VMS) พ.ศ. 2558

และ 3) ระเบียบกรมประมงว่าด้วยการกำหนดวิธีการ ขั้นตอน ระยะเวลา และผู้รับผิดชอบของกรมประมงในการปฏิบัติตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการแจ้งเป้า การตรวจสอบ และการดำเนินคดีเรือต้องสงสัยว่ามีการกระทำความผิด โดยศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทำประมง (FMC) พ.ศ. 2566 ลงวันที่ 26 มกราคม 2566

ADVERTISMENT

นอกจากนี้สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยยังได้เสนอกฎหมายที่มีการแก้ไข รวมกฎหมาย โดยเสนอเป็นร่างกฎหมายฉบับใหม่จำนวน 13 ร่างประกาศเพื่อให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

ด้านนายผณิศวร ชำนาญเวช นายกกิตติคุณ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ผมไม่ได้เข้าร่วมประชุมกับนายกรัฐมนตรี แต่ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอของนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา เพราะสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งเราอยู่ในภาคผู้แปรรูปใช้วัตถุดิบจากสมาคมประมง

ADVERTISMENT

โดยหน้าที่เราคือฟีดแบ็กไปที่ประมง ว่าลูกค้าต้องการวัตถุดิบแบบไหนเพื่อจะส่งออกได้ “อดีตกุ้ง กก.ละ 12 เหรียญ สมัยที่ข้าวตันละ 300 เหรียญ หรือ กก.ละ 30 เซ็นต์ ทอนมาจะเห็นว่าต่างกันถึง 40 เท่า สมัยนั้นกุ้งทำรายได้มาก คนเปลี่ยนมาเลี้ยงกุ้ง จนกลายเป็นคอมโมดิตี้ เหมือนไวน์ฝรั่งเศส นาน ๆ ไปคนกินน้อยลง หลัง ๆ มีออสเตรเลียมาแข่งทำให้ราคาไวน์ลดลง บริบทการค้าปรับเปลี่ยนไปเช่นกัน”

สำหรับข้อเสนอของคุณมงคลที่ผ่านมา ไม่ใช่ไม่ให้ทำตาม IUU เพียงแต่ในรายละเอียดแนวปฏิบัติต้องชัดเจน เพราะคนที่ออกระเบียบ IUU คืออียูเรียกร้อง ซึ่งควรจะให้มีการทำข้อมูลการทำประมงโดยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในด้านประมง (เดิมข้อมูลทำโดยทหารเรือที่ไม่ใช่ชาวประมง) เพื่อให้ได้ข้อมูลในรายละเอียดที่สอดคล้องกับการทำการประมงมากที่สุด เพราะการทำประมงในแต่ละพื้นที่มีลักษณะแตกต่างกัน เช่น ไทยต่างจากสเปน กระแสน้ำอุ่น ความร้อน-เย็นต่างกัน เช่น เขตร้อนโตเร็ว ไม่มีใครตอบข้อมูลประมงได้ดีเท่ากับคนทำประมง เป็นต้น

“ในข้อเสนอที่กำหนด คือ เรื่องการลดจำนวนเรือ ไม่ได้ให้ลดวันที่จับปลาจาก 30 วัน เหลือ 20 วัน ซึ่งประเด็นนี้ชาวประมงยินดีเพราะปกติก็ออก 20 วันอยู่แล้ว มีข้างขึ้นข้างแรมอยู่แล้ว ไม่มีใครออกเรือ 30 วัน ส่วนอีกเรื่องคือประเด็นเรื่องทะเบียนเรือปลอม เช่น ทะเบียนหนึ่งทะเบียนมีเรือ 3 ลำ พอขอตรวจ เอา 1 ลำมาตรวจ อีก 2 ลำอยู่ในทะเล และพอเกิดปัญหาเรือชนกัน ถ่ายรูปมาได้ปรากฏเป็นลำเดียวกัน ซึ่งกรณีแบบนี้ปัญหาคือ เหรียญมี 2 ด้าน คนที่สั่งก็มีเหตุผล”