
การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน จัดเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญเร่งด่วนที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อรัฐสภา ในวันที่ 11 กันยายนที่่ผ่านมา โดยนโยบายดังกล่าวสอดคล้องกับการหาเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ลดราคาทันที” ของพรรคเพื่อไทย ที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้ จนกลายเป็นที่มาที่ว่า การลดราคาน้ำมัน-ค่าไฟฟ้า จะต้องทำทันทีและอย่างเร่งด่วนตามที่ให้สัญญาไว้กับประชาชน
ทว่าชุดนโยบาย “ทำทันที” ดังกล่าวในทางปฏิบัติจำเป็นต้องผ่านการหารือกับ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จากโควตาพรรคร่วมรัฐบาลพลังประชารัฐ แต่ก็มีนโยบายที่สอดคล้องกันกับพรรคเพื่อไทย จนเป็นที่มาของ มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ของกระทรวงพลังงานที่เสนอต่อ ครม.ใน 2 ด้าน คือ มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง กับมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า
โดยมาตรการแรก กระทรวงพลังงานจะทำการ “ตรึง” ราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยใช้ 2 กลไกด้วยกัน คือ ภาษีสรรพสามิต กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนน้ำมันเบนซินกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางช่วยเหลือแบบ “พุ่งเป้า” ไปยังกลุ่มเปราะบาง โดยในระหว่างนี้ กระทรวงพลังงานจะเข้าไปกำกับดูแลราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินให้มี “ค่าการตลาด” ที่เหมาะสม หรือประมาณ 2 บาท/ลิตร รวมไปถึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ก็จะทำการ “ตรึงราคาขายปลีก” ไว้ที่ระดับ 423 บาท/ถัง 15 กก. ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมถึง 31 ธันวาคม 2566 ผ่านกลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เช่นกัน
ส่วนมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า ซึ่งหมายถึง การปรับลดอัตราค่าไฟฟ้ารอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 (ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือค่า Ft) จากอัตรา 4.45 บาท/หน่วย ให้ลดลงเหลือ 4.10 บาท/หน่วยนั้น กระทรวงพลังงานร่วมกับ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการคิดราคาก๊าซธรรมชาติ หรือ pool gas ให้ไม่เกินค่าประมาณการคงที่ หรือประมาณ 305 บาท/ล้าน BTU และให้นำ “ส่วนต่าง” ราคาที่เกิดขึ้นจริงกับราคาที่เรียกเก็บไปทยอยเรียกเก็บคืน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถปรับลดราคาค่าไฟฟ้าลงได้ รวมไปถึงการพิจารณาแนวทางการขยายระยะเวลาการใช้คืนหนี้ค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ.รับภาระไว้ในอดีตออกไปอีก
ใช้มุขเก่าลดภาษีสรรพสามิต
เป็นที่น่าสังเกตว่า นโยบายการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ของรัฐบาลที่ออกมาในขณะนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่อง “ระยะสั้น” กล่าวคือจะสิ้นสุดลง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 หรืออีก 3 เดือนข้างหน้าเท่านั้น ในส่วนของน้ำมันดีเซลนั้น ไม่ใช่การ “ลดราคา” แต่เป็นการ “ตรึงราคา” ไว้ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร จากราคาปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 31.94 บาท/ลิตร หรือเกือบ 32 บาท
โดยการตรึงราคาครั้งนี้ ครม.ได้มีมติให้ความเห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ไปเรียกร้อยแล้ว โดยสาระสำคัญของกฎกระทรวงฉบับนี้ก็คือ การปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตลง 2.50 บาท/ลิตร ตามชนิดของน้ำมันดีเซล ซึ่งจะส่งผลให้น้ำมันดีเซลลดราคาขายปลีกลงทันทีในวันที่ 20 กันยายน เหลือลิตรละ 29.44 บาท หรือต่ำกว่า 30 บาท/ลิตร ตามนโยบายของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า ในช่วงฤดูหนาวราคาพลังงานในตลาดโลกจะต้องปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่การปรับลดภาษีสรรพสามิตเพื่อให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล “ต่ำกว่า” 30 บาท/ลิตรนั้น คิดจากฐานราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ 87.27 เหรียญ/บาร์เรล ดังนั้นหากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับขึ้นอีกในช่วง 3 เดือนข้างหน้าไม่ว่าจะจากสาเหตุใด การลดภาษีสรรพสามิตที่ 2.50 บาท (ปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่ 5.99 บาท/ลิตร) อาจจะไม่เพียงพอต่อการตรึงราคาไว้ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร
ในส่วนนี้จำเป็นที่จะต้องใช้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้ามาอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล แต่ภาระก็จะตกแก่กองทุน จากปัจจุบัน (10 ก.ย. 2566) ที่ฐานะกองทุนยังติดลบสุทธิอยู่ที่ -59,085 ล้านบาท แบ่งเป็น ติดลบบัญชีน้ำมัน -14.311 ล้านบาท และติดลบบัญชี LPG อีก -44,774 ล้านบาท หากจำเป็นที่จะต้องให้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้ามาอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล รวมไปถึงราคาก๊าซ LPG ที่กำหนดให้ตรึงราคาขายปลีกถัง 15 กก.ไว้ที่ระดับ 423 บาท/ถัง ก็ยิ่งจะเป็นการสร้างภาระให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบเพิ่มขึ้นจนเกินไปกว่าความสามารถในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันไว้ได้
ส่วนการเข้าไปกำกับ “ค่าการตลาด” ของน้ำมันด้วยความหวังที่ว่า จะช่วยลดราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงลงได้นั้น ปัจจุบันพบว่า ค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลอยู่ที่ประมาณ 1.966 บาท/ลิตร หรือยังไม่เกิน 2 บาท ขณะที่น้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ E10-91 มีค่าการตลาดอยู่ที่ 2.7904-2.9813 บาท/ลิตร ส่วนแก๊สโซฮอล์ 95 E20 กับแก๊สโซฮอล์ 95 E85 มีค่าการตลาดอยู่ที่ 3.3194-5.4360 บาท/ลิตร ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรับบาลในอดีตที่จะส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมัน E20-E85 เพิ่มขึ้น
ดังนั้นหากกระทรวงพลังงานจะเข้ามา “กำกับ” ค่าการตลาดไว้ไม่ให้เกิน 2 บาท/ลิตรจริง ๆ แล้วก็จะสามารถลดราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินเฉพาะ E10 กับแก๊สโซฮอล์ 91 ลงได้ประมาณ 1 บาท/ลิตร แต่ก็จะกระทบกับรายได้ของสถานีบริการน้ำมันโดยตรงที่ย่อมต้องการ ค่าการตลาด ที่มากกว่า 2 บาท/ลิตรขึ้นไป
บีบ กฟผ.ให้ส่วนลดค่าไฟ
ด้านการลดราคาค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนจากที่จะต้องเรียกเก็บ 4.45 บาท/หน่วย ลงเหลือ 4.10 บาท/หน่วย หรือลดลงไป 35 สตางค์/หน่วยนั้น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น
วิธีการที่สามารถทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงมาได้ทันทีก็คือ การทำให้ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือค่า Ft ที่จะเรียกเก็บในงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ลดลง ด้วยการนำเงินส่วนต่างต้นทุนเชื้อเพลิงที่ กฟผ.แบกรับภาระไว้แทนประชาชนตลอดปี 2564 ต่อ 2565 คิดเป็นค่าภาระที่เกิดขึ้นจริงประมาณ 138,485 ล้านบาท ที่จะต้องแบ่งทยอยใช้คืน 6 งวดออกไปก่อน (ใช้คืนไปแล้ว 1 งวด) ด้วยการให้นำเอาเงินส่วนที่จะต้องทยอยคืนให้ กฟผ.ประมาณ 23,428 ล้านบาท (คิดรวมอยู่ในค่า Ft 38.31 สตางค์) มาใช้เป็น “ส่วนลด” ในการคำนวณค่า Ft งวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566
ด้วยวิธีการนี้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนก็จะลดลงเหลือ 4.10 บาท/หน่วยได้ทันที แต่ผลเสียก็จะต้องอยู่กับ กฟผ. เพราะไม่ว่าจะเป็นการขยายงวดการชำระหนี้ หรือการนำเงินที่จะต้องใช้คืน กฟผ. จากการแบกรับภาระส่วนต่างต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในอดีตมาเป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนนั้น กฟผ.จะต้องเสี่ยงกับภาวะการขาดสภาพคล่อง การกระทบต่อแผนการชำระหนี้เงินกู้ และกำไรที่ กฟผ.จะต้องนำส่งรัฐ หลังจากที่เคยเลื่อนระยะเวลาการนำส่งรัฐมาแล้ว
โดยมาตรการเร่งด่วนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง กับมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า ที่รัฐบาลชุดนี้จะนำมาใช้ในปัจจุบันเพื่อให้ราคาพลังงานลดราคาลงทันทีนั้น แท้ที่จริงก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมาดำเนินการตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา เพราะ “เป็นมาตรการที่ย้ายปัญหาจากที่หนึ่งไปเพิ่มให้อีกที่หนึ่ง” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาน้ำมันที่ภาระตกอยู่กับ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือเรื่องของค่าไฟฟ้าที่ภาระถูกผลักไปไว้ที่ กฟผ.
แต่สุดท้ายแล้วเมื่อระยะเวลาการ “ลดทันที” สิ้นสุดลง ภาระที่ถูกผลักออกไปเหล่านี้ก็จะย้อนกลับมาที่ประชาชน จะต้องจ่ายคืนราคาพลังงานที่ลดลงไป ไม่ว่าจะเป็นรูปของการเรียกเก็บเงินเข้า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันในอนาคต หรือการจ่ายหนี้ค่าเชื้อเพลิงคืนให้กับ กฟผ. ในลักษณะของการบวกเพิ่มเข้าไปในค่า Ft ในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567
- เอกชนยิ้ม ครม.เศรษฐา ลดค่าไฟฟ้า-น้ำมัน ฟรีวีซ่า เชื่อ GDP ปีนี้แตะ 3%
- เศรษฐาโชว์มติ ครม. ลดค่าไฟ-น้ำมัน-วีซ่าฟรีจีน และคาซัคสถาน
- ครม.เคาะลดราคาน้ำมัน-ค่าไฟถึงสิ้นปี’66 คงภาษี VAT 7% ต่ออีก 1 ปี
- แบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 งวด รัฐบาลถอย เปิดเป็นทางเลือก รับแบบเดิมได้
- รมช.คลัง เร่งหาข้อสรุปแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จ่อรื้องบฯปี’67