
ธุรกิจช็อกค่าไฟงวดใหม่ แพงกระฉูด ยูนิตละ 4.68 บาท นายกฯ “ยอมไม่ได้” เรียกบอร์ดพลังงานประชุมด่วน ก.พลังงานประสานเสียง กดราคาเหลือ 4.20 บาท/หน่วย 3 สมาคมเอกชนนัดถกด่วน 6 ธ.ค.นี้ ชี้ราคาแพงกว่าเวียดนาม-อินโดนีเซีย โรงแรมโอดแบกต้นทุนเพิ่ม
มติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ครั้งที่ 53/2566 วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) และมีมติเห็นชอบให้ปรับค่าเอฟทีขายปลีกสำหรับเรียกเก็บในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 เท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 69.07 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย จึงทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นจากงวดปัจจุบัน ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย
นายกฯ กร้าวรับไม่ได้ค่าไฟขึ้น
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการทราบมติดังกล่าวว่า “อัตรา 4.68 บาท ไม่ได้หรอกครับ สูงเกินไป ผมในฐานะประธาน (คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ) หรือ กพช. จะต้องมีการเรียกประชุม ไม่ยอมหรอกครับ ต้องเข้าไปคุยรายละเอียดทั้งหมด เพราะเป็นเรื่องของงบประมาณด้วย แต่ขึ้นไปถึง 4.68 บาท คงไม่ไหว เยอะเกินไป”
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “แนวโน้มค่าไฟจะขึ้นจาก 3.99 บาท/หน่วย แต่ไม่ถึง 4.68 บาทแน่นอน ต้องทำให้ได้ ส่วนเรื่องการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน เป็นอีกจุดหนึ่งที่ต้องมีการพูดคุยกัน”
กดราคาได้ 4.20 บาท/หน่วย
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้ออกมาระบุว่า กระทรวงเตรียมหารือกับ กกพ. และสำนักงบประมาณ เพื่อให้พิจารณาทบทวนการคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ Ft (เอฟที) รอบเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ใหม่ ว่าจะมีส่วนใดที่สามารถปรับลดได้บ้าง
“ยอมรับว่าสถานการณ์ด้านราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ทำให้การผลิตก๊าซธรรมชาติลดน้อยลง จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถกลับมาผลิตในภาวะปกติได้ในช่วงเดือน เม.ย. 2567 แต่กระทรวงพลังงานก็จะพยายามหาทางลดค่าไฟให้ได้ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะลดค่าไฟฟ้าให้เหลือได้ประมาณ 4.20 บาทต่อหน่วย” นายประเสริฐกล่าว
นายประเสริฐกล่าวว่า จะมีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น โดยการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งที่มีต้นทุนต่ำ รวมทั้งจะหารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อของบฯ กลางมาช่วยเหลือ เพื่อลดค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มเปราะบางต่อไป
เปิดสูตรคำนวณค่าไฟ 4.68 บ.
ทั้งนี้ อัตราค่าไฟ 4.68 บาทนั้นเป็นผลจากที่ กกพ.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 10-24 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งแนวทางนี้เป็นแนวทางเลือกที่ 3 จากทั้งหมด 3 แนวทางประกอบด้วย
กรณีที่ 1 (จ่ายคืนภาระต้นทุนค้างทั้งหมด) แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาทในงวดเดียว รวมเท่ากับ 216.42 สตางค์ต่อหน่วย แล้วเมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วยแล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.95 บาทต่อหน่วย
กรณีที่ 2 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 1 ปี) แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อทยอยชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 งวด งวดละจำนวน 31,926 ล้านบาท รวมเท่ากับ 114.93 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 4.93 บาทต่อหน่วย
และกรณีที่ กกพ.พิจารณาใช้คือ กรณีที่ 3 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 2 ปี) แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อทยอยชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 6 งวด งวดละ 15,963 ล้านบาท รวมเท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 4.68 บาทต่อหน่วย
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญต้องติดตามแผนการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ว่าจะมีกำลังการผลิตกลับมาเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ตามเป้าหมายได้หรือไม่ จากปัจจุบันที่ 200-400 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน รวมถึงวิธีการจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในรูปแบบสัญญาระยะยาว ซึ่งมีความมั่นคงและราคาย่อมเยา แทนการซื้อในตลาดจร (LNG spot)
กกร.ถกด่วน 6 ธ.ค.
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) วันที่ 6 ธันวาคม 2566 นี้ จะมีการหารือวาระเร่งด่วน เรื่องค่าไฟ เพราะการปรับค่าไฟเป็นเรื่องที่น่าช็อกรับปีใหม่เลยก็ว่าได้ สำหรับภาคอุตสาหกรรม
“ก่อนนี้รัฐบาลเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ทำให้ประชาชนและภาคการผลิตอุตสาหกรรมแบบพวกเราดีใจ ด้วยการปรับลดค่าไฟฟ้าลงเหลือ 3.99 บาท/หน่วย แม้จะยังสูงแต่ก็ถือว่ารัฐได้พยายามช่วย แต่ล่าสุด กกพ.มีมติเห็นชอบให้ปรับค่าเอฟทีขายปลีก สำหรับเรียกเก็บในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.68 บาท/หน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งเกือบแตะที่ 5 บาท/หน่วย”
“ค่าไฟมันสะวิงมาก ผู้ประกอบการตกใจมาก รัฐต้องรีบแก้เรื่องนี้ ตามที่เราเคยเสนอด้วยการตั้ง กรอ.พลังงาน เพื่อให้ภาครัฐและเอกชนช่วยกันวางแผน ถกกัน ร่วมกันหาทางออกที่จะนำไปสู่การปรับโครงสร้างพลังงานที่ยั่งยืน อย่างราคา 3.99 บาท/หน่วย ควรคงไว้ระยะหนึ่งก่อน ไม่ใช่แค่ช่วงสั้น ๆ แบบนี้ เพราะผลกระทบที่จะตามมานอกจากภาระต้นทุนของประชาชน ผู้ประกอบการแล้ว มันยังมีผลต่อนักลงทุนไม่น้อย ทุกวันนี้นักลงทุนต่างก็ถามว่าค่าไฟฟ้าของไทยทำไมแพงกว่าเวียดนามและอินโดนีเซีย ทำไมประเทศอื่นทำได้แล้ว “เหตุใดไทยถึงทำให้ค่าไฟถูกไม่ได้” นายเกรียงไกรกล่าว
โรงแรมโอดแบกต้นทุนเพิ่มอ่วม
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ต้นทุนค่าพลังงาน (ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส ค่าน้ำ) ถือเป็นต้นทุนสูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากต้นทุนค่าบุคลากร โดยคิดเป็นมูลค่าประมาณ 10-15% ของรายได้รวมทั้งหมด ซึ่งจะแปรผันตามอัตราการเข้าพักของโรงแรม หากรัฐบาลปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอีกครั้งจะยิ่งซ้ำเติมภาคธุรกิจโรแรมหนักขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาราคาแก๊สก็ได้ปรับตัวขึ้นไปแล้วกว่า 10%
“ผู้ประกอบการเราไม่อยากให้ปรับขึ้นอยู่แล้ว เพราะที่ผ่านมาเรายังอยู่ในช่วงระยะฟื้นตัวจากไวรัสโควิด รายเล็กอีกจำนวนมากยังไม่สามารถกลับมาทำธุรกิจได้ ขณะที่รายใหญ่ที่เห็นว่าธุรกิจเริ่มดีขึ้นนั้นก็แบกรับต้นทุนด้านดอกเบี้ยอยู่มหาศาลเช่นกัน หากรัฐปรับขึ้นค่าไฟเราก็ต้องยิ่งแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำไรของผู้ประกอบการ” นางมาริสากล่าว
และยกตัวอย่างกรณีของโรงแรมในกลุ่มเดอะ สุโกศล ว่า ในเดือนมิถุนายน 2566 อัตราการเข้าพักของโรงแรมกลับมาได้ในสัดส่วนประมาณ 60% เมื่อเทียบกับปี 2562 แต่ต้นทุนค่าแก๊สปรับตัวเพิ่ม 68% หรือปัจจุบันโรงแรมมีอัตราการเข้าพักประมาณ 75% แต่ต้นทุนค่าไฟเพิ่มขึ้น 5%
นางมาริสากล่าวด้วยว่า ข้อมูลดังกล่าวสอดรับกับข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ที่ระบุว่า ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2566) ในกลุ่มธุรกิจสำคัญส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสาขาท่องเที่ยวและบริการ โดยในส่วนของธุรกิจโรงแรมมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 29.4% อพาร์ตเมนต์และเกสต์เฮาส์เพิ่มขึ้น 15.5% และกลุ่มภัตตาคารและไนต์คลับที่เพิ่มขึ้น 15.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทุบซ้ำผู้เลี้ยงกุ้งอ่วมต้นทุนพุ่ง
ด้านนางสาวพัชรินทร์ จินดาพรรณ เลขาธิการสมาคมกุ้งไทย และประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งจันทบุรี กล่าวว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งภาพรวมปริมาณผลผลิตกุ้งปี 2566 ในพื้นที่ภาคตะวันออกทรงตัว มีประมาณ 69,900 ตัน เท่ากับปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าผลผลิตไม่เพิ่มขึ้น แต่เกษตรกรไม่สามารถปรับขึ้นราคากุ้งได้ เพราะสถานการณ์ทั่วโลกมีการเลี้ยงจนปริมาณผลผลิตเกินความต้องการ ราคาจึงตกต่ำ