
ปลัดอุตสาหกรรมลงพื้นที่ จ.ตาก เร่งแก้ไขปัญหาแคดเมียมตามแผน 7 พ.ค. 2567 เน้นขนย้าย เน้นรวดเร็ว ปลอดภัย ผ่านกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน
วันที่ 22 เมษายน 2567 นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2567 ผู้ว่าราชการจังหวัดตากได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับแผนการแผนการบริหารจัดการการขนย้ายกากตะกอนแร่ ผลการดำเนินการ และผลตรวจวัดต่าง ๆ พร้อมกับรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและชุมชนรอบข้างโรงงาน ณ โรงเรียนบ้านคลองห้วยทราย ตำบลหนองบัวใต้ อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก
ภายหลังจากที่ประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาและการขนย้ายกากตะกอนแร่แคดเมียมเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน เห็นชอบให้เร่งการเริ่มดำเนินการขนย้ายให้เร็วขึ้นจากแผนเดิมที่วางแผนไว้ว่าจะเริ่มทำการขนย้ายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 โดยบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) จะเร่งปรับปรุงซ่อมแซมบ่อฝังกลบกากตะกอนแร่ให้มีความมั่นคงแข็งแรงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก
ขณะเดียวกันจะเร่งทำการปูพื้นอาคารโกดังเก็บแร่ ซึ่งจะใช้เป็นอาคารจัดเก็บพักคอยกากตะกอนแร่ด้วยวัสดุป้องกันการรั่วซึม พร้อมจัดทำระบบรวบรวมน้ำและบ่อตกตะกอน ป้องกันการปนเปื้อนและการรั่วซึมของกากตะกอนแร่ลงสู่ผิวดิน ตามข้อเสนอแนะของประชาชนรอบโรงงานที่ตั้งของบ่อฝังกลบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสามารถเริ่มทำการขนย้ายกากตะกอนแร่ทั้งหมดมาจัดเก็บพักคอยในอาคารโกดังเก็บแร่ รอการปรับปรุงซ่อมแซมบ่อฝังกลบแล้วเสร็จ และจะทำการขนย้ายไปฝังกลบอย่างปลอดภัยโดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ รถที่จะใช้ในการขนส่งและวิธีการขนย้ายกากตะกอนแร่ คณะทำงานมีมติให้บริษัททำการขนย้ายกากตะกอนแร่ที่บรรจุถุงในลักษณะ Double Bag ด้วยรถบรรทุกที่มีวัสดุปิดคลุมมิดชิดร่วมกับการขนย้ายด้วยรถขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ในช่วงแรก ซึ่งรถที่ใช้เป็นรถที่มีการขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมการขนส่งทางบกมีการติดตั้งระบบ GPS และควบคุมการขนส่งด้วยระบบ Manifest
สำหรับการแก้ไขปัญหาเรื่องแคดเมียมนั้น ดำเนินการมาตั้งแต่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 ครม.ได้เห็นชอบตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เสนอต่อ ครม. ให้กระทรวงอุตสาหกรรมแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหากากตะกอนแร่จากจังหวัดตาก โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ
โดยให้มีหน้าที่และอำนาจในการสืบสวน แสวงหาข้อเท็จจริง รวมทั้งกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหา กำกับดูแลการขนย้ายกากตะกอนแร่กลับไปยังสถานที่ฝังกลบเดิมในจังหวัดตาก และยังมอบหมายให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ชี้แจงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ต่อสาธารณชน
ทั้งนี้ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 83/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาและการขนย้ายกากตะกอนแร่แคดเมียมเพื่อไม่ให้
ส่งผลกระทบต่อประชาชน ตามมติ ครม. ดังกล่าว พร้อมกำชับให้ทุกฝ่ายเร่งดำเนินการ โดยคณะทำงานได้มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567
และได้มีการประชุมคณะทำงานฯ อย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่ 18 เมษายน 2567 โดยเป็นการประชุมแบบเปิดที่เน้นการมีส่วนร่วม เปิดให้ประชาชน ผู้นำชุมชนรอบโรงงานที่ตั้งของบ่อฝังกลบ ผู้ช่วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร เขต 1 จังหวัดตาก ผู้แทนสภาทนายความ และสื่อมวลชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อร่วมกันหาทางออกและแก้ไขปัญหาให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการและข้อห่วงใยของประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด
โดยที่ประชุมคณะทำงานฯ ได้สรุปรายงานข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับกรณีกากตะกอนแร่ทั้งหมด ตั้งแต่ความเป็นมาของเหมืองแร่และโรงถลุง ข้อมูลการตรวจพบกากตะกอนแร่ การดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด การดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อมูลการตรวจวัดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน
โดยพบว่าผลการตรวจวัดคุณภาพดิน น้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยรอบบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) จังหวัดตาก ซึ่งเป็นสถานที่ฝังกลบกากตะกอนแร่ ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน สะท้อนให้เห็นว่า การฝังกลบตะกอนแร่ของบริษัทเดิมตามมาตรการ EIA มีมาตรฐานและมีความปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ
ขณะเดียวกัน คณะทำงานได้ปรับแผนการบริหารจัดการการขนย้ายกากตะกอนแร่ทั้งหมดที่ตรวจพบในจังหวัดสมุทรสาคร ชลบุรี และกรุงเทพฯ กลับไปฝังกลบในบ่อคอนกรีตของบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) จังหวัดตาก เพื่อให้มีความสอดคล้องและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนรอบโรงงานที่ตั้งของบ่อฝังกลบ
ซึ่งมีข้อห่วงใยเรื่องความมั่นคงแข็งแรงขอบ่อฝังและความเสี่ยงและการปนเปื้อนของกากตะกอนแร่ลงสู่ผิวดินบริเวณอาคารโกดังเก็บแร่ ประกอบการพิจารณาร่วมกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่เสนอให้มีการจัดเก็บกากตะกอนแร่ที่ทำการตรวจพบและทำการขนย้ายด้วยตู้คอนเทนเนอร์โดยเร็วที่สุด
ดร.ณัฐพลกล่าวต่อว่า จากผลการประชุมปรับแผนการบริหารจัดการการขนย้ายกากตะกอนแร่ทำให้แผนมีความครอบคลุมขั้นตอนต่าง ๆ อย่างครบถ้วน ตั้งแต่การขนย้ายกากตะกอนแร่ที่ตรวจพบกลับมาจัดเก็บพักคอยในอาคารโรงเก็บแร่ พร้อมดำเนินการปรับเสถียรก่อนที่จะทำการฝังกลบในบ่อคอนกรีต และทำการปิดบ่อฝังกลบอย่างปลอดภัยตามหลักวิชาการ รวมถึงการติดตามคุณภาพน้ำใต้ดินจากจุดเฝ้าระวังที่กำหนดไว้ในรายงาน EIA ตลอดจนแผนเผชิญเหตุฉุกเฉินเพิ่มเติมในกรณีที่อาจมีอุบัติเหตุจากการขนย้ายกากตะกอนแร่
อย่างไรก็ตาม คณะทำงานจะทำการประเมินปัญหาและอุปสรรคในการขนย้ายและการฝังกลบเพื่อพิจารณาปรับปรุงแผนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การขนย้ายสามารถดำเนินการไปได้ด้วยความรวดเร็ว มีความปลอดภัย เป็นไปตามกฎหมาย และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
นอกจากนี้ คณะทำงานได้เร่งรัดการตรวจสอบ สืบสวน แสวงหาข้อเท็จจริง และการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด อีกทั้งได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดช่องทางการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจร่วมกันที่ถูกต้องของประชาชนต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนการเผยแพร่มาตรการและแผนการดำเนินงาน รวมถึงผลการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบไปในทิศทางเดียวกัน
“คณะทำงานฯ มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขและจัดการกับปัญหาดังกล่าวให้เร็วที่สุด ทุกหน่วยงานได้เร่งหารือ ประสานงาน และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถขนย้ายกากตะกอนแร่ที่ตรวจพบกลับมาฝังกลบที่จังหวัดตากด้วยความรวดเร็วและมีความปลอดภัย ผ่านกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการและข้อห่วงใยของประชาชนให้มากที่สุด