คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ ผู้เขียน : กษมา ประชาชาติ
การดำเนินนโยบายด้านพลังงาน ที่มีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศ นอกเหนือไปกว่าการตรึงหรือไม่ตรึงราคาพลังงานได้แล้ว มีความเคลื่อนไหวในภาคพลังงานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประเด็นที่น่าจับตามองทั้งในส่วนของไฟฟ้าและน้ำมัน
เรื่องแรกภาคธุรกิจไฟฟ้า ตอนนี้กระทรวงพลังงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) การยกร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ (PDP) 2024 ซึ่งการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องผ่านทางออนไลน์ไปแล้ว
โดยหลักการสำคัญของ PDP ฉบับใหม่มุ่งเน้นเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียน (RE) เพิ่มเป็น 51% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ เพื่อให้สอดรับกับทิศทางโลกที่กำลังสู่การพัฒนาสังคมคาร์บอนต่ำ ทำให้ตลาดส่งออกของไทย เรียกร้องให้มีการใช้พลังงานสะอาดในการผลิตสินค้าส่งออกไปให้พวกเขา
แต่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ สนพ.ทบทวนปรับรายละเอียดของแผน PDP ใหม่ เพราะแม้ว่าจะเพิ่มสัดส่วน RE เป็น 51% แต่ไส้ในของ RE ที่เพิ่มมากลับเป็นการนำเข้าไฟฟ้าพลังงานน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนการเพิ่ม RE ในประเทศยังน้อย และที่สำคัญยังมีการเปิดให้จัดหาไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าก๊าซขนาดใหญ่เข้าสู่ระบบอีกกว่า 6 พันเมกะวัตต์
ล่าสุด “สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ.” หนึ่งในผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ยื่นหนังสือถึงนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ให้ทบทวน PDP ด้วยเช่นกัน โดยสาระสำคัญระบุว่า แผนนี้จะทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าโดย กฟผ.ลดลงเหลือเพียง 17% เสี่ยงต่อความมั่นคงไฟฟ้า และสถานะของ กฟผ.
ในฝั่ง “น้ำมัน” รมว.พลังงาน ได้จัดทำร่างกฎหมายฉบับใหม่ เพื่อจะดึง “อำนาจ” ในการกำหนดเพดานภาษีเกี่ยวกับน้ำมันกลับมาไว้ที่กระทรวงพลังงานอีกครั้ง โดยให้กระทรวงการคลังทำหน้าที่เสมือนเป็น “เครื่องมือ” จัดเก็บภาษีเท่านั้น
เหตุผลสำคัญที่ต้องมีการปรับแก้ไขกฎหมายนี้ เพราะจากวิกฤตด้านราคาพลังงานที่เกิดขึ้น ทำให้กองทุนน้ำมันฯต้องแบกภาระในการดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมัน เกินหน้าตักไปแล้วนับแสนล้าน ทั้งที่เรื่องการพยุงราคาควรเป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น
สาเหตุที่ต้องใช้กองทุนมาเป็นเครื่องมือแบบนี้ เป็นเพราะโครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศไทย ที่มีองค์ประกอบที่แตกต่างไปจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน โดยต้นทุนน้ำมัน 1 ลิตร ไม่เพียงจะมีต้นทุนที่มาจากเนื้อน้ำมันแต่ไทยยังมี “ภาษี” ต่าง ๆ แฝงอยู่ในราคาน้ำมันอีกหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นภาษีท้องถิ่นและภาษีสรรพสามิต
โดยเฉพาะ “ภาษีสรรพสามิต” ของไทย ถือว่าสูงที่สุดในอาเซียน ไทยเก็บ 5.99 บาท สิงคโปร์ 5.54 บาท และเวียดนาม 1.70 บาท ทั้งที่อัตรารายได้ของไทยต่ำกว่าสิงคโปร์ 10 เท่า แต่ภาษีสรรพสามิตน้ำมันของไทยกลับสูงกว่าสิงคโปร์
สิ่งที่ รมว.พลังงานจะเดินไปคือการยกร่างกฎหมายใหม่ขึ้นมาครอบคลุมในส่วนของ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯจะถูกยุบทิ้ง และจึงดึงอำนาจในการกำหนดอัตราภาษีที่มีผลต่อราคาน้ำมันมาไว้ในกฎหมายฉบับนี้ โดยมีการบริหารจัดการผ่านคณะกรรมการ ซึ่งมี รมว.พลังงานเป็นประธาน เรื่องนี้จึงน่าจับตามองพอ ๆ กับการหาข้อสรุปของแผน PDP ว่าจะเป็นอย่างไร