พาณิชย์ เร่งเจรจา FTA ไทย-เอฟตา รอบ 10 มั่นใจ ปิดดีลปี 2567 นี้   

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เตรียมนำทัพผู้แทนไทยเข้าร่วมการเจรจา FTA ไทย-เอฟตา รอบ 10 ระหว่างวันที่ 19-23 ส.ค. 2567 นี้  เร่งเครื่องประชุม มั่นใจสรุปผลการเจรจาในปีนี้

วันที่ 16 สิงหาคม 2567 นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตนนำผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย เข้าร่วมการประชุมเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) หรือเอฟตา รอบที่ 10 ระหว่างวันที่ 19-23 สิงหาคมนี้ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

โดยการเจรจา FTA กับเอฟตา เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ต้องการเร่งรัดให้สำเร็จโดยเร็ว ซึ่งตั้งเป้าสรุปผลภายในปีนี้ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ กรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเร่งเจรจาเพื่อหาข้อสรุปในประเด็นคงค้างให้บรรลุเป้าหมายโดยเร็ว

การประชุมครั้งนี้ จะแบ่งเป็นการประชุมในภาพรวมและการประชุมกลุ่มย่อย 10 เรื่อง ได้แก่ 1) การค้าสินค้า 2) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 3) มาตรการเยียวยาทางการค้า 4) การค้าบริการ 5) การลงทุน 6) พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 7) ทรัพย์สินทางปัญญา 8) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 9) ข้อบททั่วไป ข้อบทสุดท้าย ข้อบทเชิงสถาบัน และการระงับข้อพิพาท และ 10) ความร่วมมือด้านเทคนิคและการเสริมสร้างศักยภาพ

โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานไทย ทั้งในสังกัดกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานภายนอก จะเข้าร่วมการประชุมเจรจาในประเด็นที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กรมศุลกากร กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ทั้งนี้ ในปี 2566 เอฟตา เป็นคู่ค้าอันดับที่ 16 ของไทย การค้าระหว่างไทยกับเอฟตา มีมูลค่า 9,882.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.72 ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปเอฟตา มูลค่า 4,385.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากเอฟตา มูลค่า 5,497.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องใช้สำหรับเดินทาง

สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ เนื้อสัตว์สำหรับบริโภค และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม

Advertisment