เทรนด์สวนสัตว์โลกเปลี่ยน ปรับสวนสัตว์คลองหกเป็น “ฟิวเจอร์ซู”

สวนสัตว์คลองหก

ส่องสวนสัตว์คลองหก งานก่อสร้างเฟสแรกคืบหน้า 25% ตามสัญญาระยะเวลาดำเนินการ 900 วัน ด้านองค์การสวนสัตว์ฯ ขอปรับแบบใหม่ในส่วนแสดงสัตว์โซนเอเชีย-แอฟริกา กับปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีเล่าเรื่องสมัน-ทุ่งน้ำรังสิต เหตุออกแบบไว้นาน 3 ปี เทรนด์สวนสัตว์โลกเปลี่ยน จาก Modern Zoo มาเป็น Future Zoo ให้สวนสัตว์คลองหกเป็นแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ Biodiversity Park ส่วนโครงการก่อสร้างเฟส 2 โซนออสเตรเลีย-อเมริกาใต้จะเริ่มเปิดประมูลในปี 2569

โครงการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ (คลองหก) บนที่ดินพระราชทาน 300 ไร่ ต.รังสิต อ.ธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ดำเนินการครบ 1 ปีเต็ม หลังจากที่ ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณจำนวน 10,974,647,858 บาท เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 แบ่งการดำเนินโครงการออกเป็น 2 ระยะ กล่าวคือเฟสแรก (2566-2568) วงเงิน 5,383.82 ล้านบาท กับ เฟสที่สอง (2569-2571) วงเงิน 4,340.15 ล้านบาท

กำหนดการเปิดให้ชมเฟสแรกในปี 2569 และเปิดเต็มโครงการในปี 2571 โดยการดำเนินการก่อสร้างปัจจุบันเสร็จไปแล้วคิดเป็นร้อยละ 25 จากระยะเวลาการดำเนินการทั้งหมด 900 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายนปี 2568

งานเสร็จ 25%

นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลัง ครม.อนุมัติงบประมาณในเดือนกรกฎาคม 2565 องค์การสวนสัตว์ก็ได้เปิดประมูลเพื่อหาผู้ก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ โดยได้ลงนามในสัญญาจ้างโครงการก่อสร้างในเดือนเมษายน 2566 กับกิจการร่วมค้า RSDT ในเดือนเมษายน 2566 เป็นการก่อสร้างในเฟสที่ 1 ระยะเวลาก่อสร้าง 900 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2568 ขณะนี้มีการดำเนินการก่อสร้างไปได้แล้ว 25%

ทั้งนี้ กิจการร่วมค้า RSDT ประกอบไปด้วย บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DITTO, บริษัทสยาม ทีซี เทคโนโลยี จำกัด บริษัทย่อย, บริษัททีม คอลซัลติ้ง เอนจิเนียริ่งแอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEAMG, บริษัทสยามทีซี เทคโนโลยี่ และบริษัทโรลลิ่ง คอนเซปต์ อินโนเวชั่น จะดำเนินการก่อสร้างอาคาร 7 แห่ง ได้แก่ อาคารต้อนรับ, อาคารเฉลิมพระเกียรติ, อาคารจัดแสดง และอาคารสำนักงาน

โดยส่วนด้านหน้าของสวนสัตว์บริเวณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ จะเป็นสวนสาธารณะ พื้นที่ประมาณ 40 ไร่ ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์โดยไม่มีการเก็บค่าเข้า และจะเป็นสวนสุขภาพไปในตัว ส่วนการจัดแสดงสัตว์ในเฟสแรกจะแบ่งเป็น 2 โซนก่อน ได้แก่ โซนเอเชียกับโซนแอฟริกา ทั้งหมดนี้จะต้องเสร็จภายใน 900 วันเช่นกัน

Advertisment

โดยบริษัท Ditto จะเข้ามารับผิดชอบด้านซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชั่น เทคโนโลยีดิจิทัลทวิน ดาต้าเซ็นเตอร์ ระบบจำหน่ายตั๋ว-จองตั๋ว และไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ด้าน Team Group จะเข้ามาดูการบริหารโครงการก่อสร้าง ระบบสาธารณูปโภคและการบริหารจัดการน้ำ ส่วน บริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Ditto ที่มีประสบการณ์ในการจัดทำพิพิธภัณฑ์มาก่อน จะเข้ามาช่วยดูเรื่องส่วนการจัดแสดง นิทรรศการ การจัดดิสเพลย์

และบริษัทโรลลิ่ง คอนเซปต์ จะเข้ามาดูเรื่องต้นไม้ สิ่งแวดล้อม สวนพฤกษศาสตร์ การปลูกป่า จัดหาต้นไม้ที่ตรงกับพื้นที่ที่สัตว์อยู่ในสภาพธรรมชาติดั้งเดิม ซึ่งในส่วนนี้เป็นงานที่ใหญ่มากในการหาต้นไม้ ทั้งในประเทศและนอกประเทศเข้ามาปลูกในบริเวณสวนสัตว์ทั้งหมด

Advertisment

ขอปรับแบบส่วนแสดงสัตว์-เทคโนโลยี

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแบบของสวนสัตว์คลองหกได้ถูกออกแบบมาก่อนหน้าที่จะเปิดประมูลมาไม่ต่ำกว่า 2 ปี รวมกับการดำเนินการก่อสร้างเฟส 1 มาแล้วเกือบ 1 ปีเต็ม ขณะที่โลกและสวนสัตว์สมัยใหม่ได้เปลี่ยนแปลง Concept ไปมากแล้ว ดังนั้น สวนสัตว์แห่งใหม่ที่คลองหกจึงมีความ “จำเป็น” ที่จะต้องปรับแบบให้สอดคล้องกับสวนสัตว์สมัยใหม่มากขึ้น

โดยในประเด็นนี้ นายอรรถพร ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้มีการปรับแบบสวนสัตว์คลองหกเฉพาะโซนแสดงสัตว์ (Zoo Zone) ใน 2 ส่วนสำคัญคือ ลักษณะของการจัดแสดงสัตว์ กับการปรับเทคโนโลยีในส่วนแสดงประกอบด้วย

การปรับใช้เทคโนโลยีให้ล้ำไปสู่โลกของสวนสัตว์ในอนาคตมากขึ้น จากเดิมที่กำหนดใช้เทคโนโลยี 4 D ในห้อง Auditorium เพื่อแสดงเรื่องราวของทุ่งน้ำรังสิต ได้ปรับเปลี่ยนใหม่เป็นให้เป็นภาพเคลื่อนที่ไปพร้อม ๆ กับผู้เข้าชมสวนสัตว์ เป็นภาพเคลื่อนที่ตามผู้เข้าชม เล่าเรื่องไปเรื่อย ๆ

“การใช้เทคโนโลยี 4 D มาอธิบายเรื่องราวของทุ่งน้ำรังสิต โดยผู้เข้าชมนั่งอยู่กับที่มัน Out ไปแล้วกว่าจะถึงเวลาที่สวนสัตว์คลองหกเปิดเต็มรูปแบบในปี 2570 คนคงไม่มานั่งรอดูหนัง 4 D คนอาจจะเข้ามาถึงแล้วเดินผ่านห้อง Auditorium ไปเลย

ดังนั้น การเล่าเรื่องทุ่งน้ำรังสิตจะต้องเปลี่ยนไป โดยใช้ภาพเคลื่อนที่ไปพร้อมกับผู้เข้าชมโดยใช้สื่อผสมเล่าเรื่องราวทุ่งรังสิตในอดีตที่มีความสมบูรณ์ น้ำเอ่อล้นมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา พอน้ำลดลงเปลี่ยนภาพเป็นทุ่งหญ้าระบัด สัตว์ป่าจากนครนายก-เขาใหญ่ ลงมาหากิน มีการเติมเทคนิคเรื่องของกลิ่น สายลม ฝน อุณหภูมิลงไป 26-27 องศา

แล้วตัดภาพเคลื่อนที่มาสู่การเข้ามาของความเจริญในทุ่งรังสิตเป็นเมือง โลกร้อนขึ้น อุณหภูมิในช่วงที่้เดินผ่านก็จะร้อนขึ้นเป็น 31-32 องศา กลายเป็นมลพิษ ทำให้โลกร้อนขึ้น ซึ่งเราต้องช่วยกัน สัตว์ป่าหายไป ทุ่งรังสิตกลายเป็นทุ่งอุตสาหกรรม” นายอรรถพรกล่าว

แต่การเล่าเรื่องของทุ่งรังสิตยังดำเนินต่อไปว่า “เรายังพอมีเวลาด้วยการกลับมารักษาทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศร่วมกัน โดยสวนสัตว์เป็น 1 ในพื้นที่ที่จะทำให้สัตว์ในอดีตกลับมา ฟื้นคืนชีวิตเริ่มจากที่นี้ไปสู่โลก ตัดกลับมาผู้เข้าชมก็จะหลุดเข้ามาสู่โซนสวนสัตว์ ซึ่งเป็นโซนเอเชียกับโซนแอฟริกา จะเห็นพร้อม ๆ กัน

ตรงนี้ก็จะปรับแบบใหม่เป็นการเปลี่ยนมุมให้เห็นโซนเอเชียก่อน มีไฮไลต์อยู่ที่โขลงช้างไทย ควายน้ำ จากทุ่งรังสิตในอดีตแล้วค่อยเดินไปสู่โซนแอฟริกาต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการปรับแบบในส่วนแสดงสัตว์ ด้วยการเพิ่ม “ต้นไม้” ให้มากขึ้นเพื่อให้ต้นไม้ทำหน้าที่ “กั้น” ระหว่างสัตว์กับคนดู จากที่มีคูน้ำ มีแบริเออร์ กำแพง ผนัง กั้น ก็นำต้นไม้เข้าไปปลูกเพิ่มขึ้น เหมือนผู้เข้าชมเดินอยู่ริมสวนมองข้ามไปเห็นสัตว์ป่า เป็นการปรับแบบโดยการเติมต้นไม้เข้าไป

“เราต้องทำให้ส่วนกั้นระหว่างสัตว์กับผู้ชมจางหายไปเสมือนไม่มีส่วนกั้น ตรงนี้เป็นเทรนด์สวนสัตว์ในอนาคต จากเดิมที่เป็น Modern Zoo หรือยกกรงออกมา แต่ก็ยังมีส่วนกั้น ให้กลายเป็น Future Zoo ซึ่งสวนสัตว์ที่สิงคโปร์ได้เริ่มทำแล้ว ด้วยการทำให้สวนสัตว์ไม่ได้เป็นที่ท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่เป็นพื้นที่พิเศษ ให้เป็นสถานที่เรียนรู้สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ บนโลกใบนี้ ซึ่งเราต้องปรับแบบให้สวนสัตว์คลองหกมีทิศทางไปในทางนี้ ต้องคิดทำไปถึงอนาคต เพื่อให้สวนสัตว์คลองหกเป็น Biodiversity Park การเรียนรู้ในสวนสัตว์สมัยใหม่” นายอรรถพรกล่าว

เฟส 2 เปิดประมูลปี 2569

ทั้งนี้ การปรับแบบสวนสัตว์คลองหกจะไม่กระทบกับโครงสร้างหลัก ๆ เดิมที่ออกแบบเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลสัตว์ คลังอาหารสัตว์ อาคารบริการ ยังอยู่ครบเหมือนเดิม ดังนั้น การปรับแบบในส่วนของการจัดแสดงสัตว์กับเทคโนโลยีจะต้องอยู่ในกรอบงบประมาณเฟสแรกเดิมที่ได้รับการอนุมัติไว้ที่วงเงิน 5,383.82 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 900 วันเหมือนเดิม

แต่แน่นอนว่าการปรับแบบจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อไม่ให้กระทบกับงบประมาณเดิม ก็จะใช้วิธีการปรับลดแบบโครงสร้างที่ไม่ใช่ส่วนสำคัญลง อาทิ ความกว้างของถนน พื้นที่บางอาคารที่มากเกินไปลงบ้าง รวมไปถึงการเลื่อนโครงสร้างอื่นที่ไม่สำคัญเอาไว้ในเฟสต่อไปก็ได้

“ถือเป็นการปรับแบบเล็กน้อยตามกรอบงบประมาณเดิม โดยการปรับแบบครั้งนี้จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดองค์การสวนสัตว์ฯ ก่อน แต่จะพยายามไม่ให้กระทบกับระยะเวลาการก่อสร้าง 900 วัน ส่วนการจัดสรรงบประมาณในแต่ละปีที่ต้องขออนุมัตินั้น

ในส่วนของงบฯ ปี 2567 ซึ่งรัฐบาลอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (ครม.เศรษฐา) ได้ล่าช้าออกไป ส่งผลให้การจัดสรรเงินงบประมาณอาจต้อง “เหลื่อมปีงบประมาณออกไป” ซึ่งในส่วนนี้จะกระทบต่อการเปิดประมูลโครงการก่อสร้างสวนสัตว์ (คลองหก) เฟสที่ 2 วงเงินงบประมาณ 4,340.15 ล้านบาท อาจจะต้องเลื่อนเปิดประมูลไปเป็นปี 2569 แทน” นายอรรถพรกล่าว