
ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงต่อเนื่องกว่า 1% หลังตลาดคลายกังวลอุปทานน้ำมันดิบโลกตึงตัว จากความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลง
วันที่ 21 สิงหาคม 2567 หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคามีดังนี้ ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงต่อเนื่องกว่า 1% หลังตลาดคลายกังวลอุปทานน้ำมันดิบโลกตึงตัว จากความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลง
โดย แอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้เยือนประเทศอียิปต์ เพื่อผลักดันให้มีความคืบหน้าในการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงและปล่อยตัวประกันในฉนวนกาซา ซึ่งจะมีการเจรจาภายในสัปดาห์นี้
โดยราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสซื้อขายเมื่อ 20 ส.ค. 2567 อยู่ที่ 74.04 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -0.33 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันเบรนต์อยู่ที่ 77.20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -0.46 เหรียญสหรัฐ
ราคาน้ำมันยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่ออุปสงค์เชื้อเพลิงจากจีน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก หลังตัวเลขทางเศรษฐกิจยังคงตกต่ำ โดยราคาบ้านใหม่ในเดือน ก.ค. 67 ลดลงในอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 9 ปี ขณะที่ตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรม
รวมทั้งอัตราการเติบโตของการส่งออกและการลงทุนลดลง อีกทั้งตัวเลขการว่างงานเพิ่มขึ้นเช่นกัน ขณะเดียวกัน ตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน ก.ค. 67 ปรับลดลงกว่า 2.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐ (API) เปิดเผยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 16 ส.ค. 67 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 0.347 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางจากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวลดลง 2.8 ล้านบาร์เรล
ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ แม้ว่าอุปสงค์น้ำมันเบนซินของภูมิภาคในช่วงฤดูร้อนจะลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่อุปทานภูมิภาคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นของญี่ปุ่นกลับมาดำเนินการตามปกติ หลังปิดซ่อมบำรุงในช่วงก่อนหน้า
ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากอุปสงค์ในภูมิภาคที่อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดีเซลยังคงมีแรงหนุนจากตัวเลขการส่งออกน้ำมันดีเซลจากจีนในเดือน ก.ค. 67 ซึ่งลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน ที่ 0.148 ล้านบาร์เรลต่อวัน