สัมภาษณ์พิเศษ
มันสำปะหลังในปี 2567 จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการคาดการณ์ว่ามีพื้นที่เก็บเกี่ยว 8.682 ล้านไร่ ลดลง 6.32% จากปีที่ผ่านมา 9.268 ล้านไร่ ส่วนผลผลิต 26.883 ล้านตัน ลดลง 12.20% จากปีที่ผ่านมา 30.617 ล้านตัน คิดเป็นผลผลิตต่อไร่ 3,096 กิโลกรัม ลดลง 6.27% จากปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 3,303 กิโลกรัม โดยผลผลิตจะเริ่มออกตั้งแต่ในช่วงเดือนกันยายน และจะมากสุดในช่วงเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนมีนาคมของทุกปี
ตัวเลขผลผลิตที่ลดลงปีนี้ ไม่ใช่ปีแรก แต่เป็นการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จากในอดีตไทยเคยผลิตได้เฉลี่ยที่ 33-35 ล้านตัน/ปี เท่ากับว่า ไทยผลิตลดลงแล้ว เกือบ 10 ล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจาก “ปัญหาโรคใบด่าง” ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบันที่การแพร่ระบาดขยายวงไปมากกว่า 30 จังหวัดแล้วจะส่งผลกระทบต่อชาวไร่ มากกว่า 7 แสนครัวเรือน ควรจะแก้ไขอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายรังษี ไผ่สอาด” นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ถึงอนาคตมันสำปะหลังของประเทศไทย
ปัญหาใบด่างยืดเยื้อ 3 ปี
ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูเพาะปลูกของชาวไร่มัน ผลผลิตจะออกสู่ตลาดประมาณเดือนกันยายนเป็นต้นไป และจะออกมากที่สุดในช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจากการประเมินผลผลิตปี 2567 นี้ คาดว่าจะมีปริมาณ 30 ล้านตัน ในพื้นที่เพาะปลูก 9 ล้านไร่ ซึ่งลดลงจากอดีตที่มีพื้นที่เพาะปลูกถึง 11 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 33-35 ล้านตัน
“ผลผลิตลดลง มาจากปัญหาหลัก คือ เกิดจากโรคใบด่าง ที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตและพื้นที่เพาะปลูกลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการติดตามพบว่าปัญหาโรคใบด่าง ปัจจุบันน่าจะกระจายไปมากกว่า 30 จังหวัดทั่วประเทศ ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังจากหน่วยงานของรัฐบาล ส่วนหนึ่งยังเกิดจากเกษตรกรไม่แจ้งพื้นที่การระบาดให้กับหน่วยงานรัฐ เพราะกังวลว่าจะไม่มีรายได้ ไม่ได้รับการชดเชยจากภาครัฐ ทำให้ปัญหานี้ยังคงเรื้อรังต่อเนื่อง ไม่ได้รับการแก้ไขสักที”
งบฯแก้ใบด่าง 650 ล้าน ไม่คืบ
ก่อนหน้านี้แม้ทางสมาคมจะมีการเสนอของบประมาณไป 650 ล้านบาท สำหรับทำระบบน้ำหยดให้เกษตรกร และสำหรับซื้อท่อนพันธุ์มันสะอาด ช่วยเหลือเกษตรกรในการทำลายพื้นที่ระบาด แต่ยังไม่ถูกเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) ซึ่งรอมาเป็นปียังไม่มีการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณาเลย
“ผลกระทบจากการไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณที่ขอไว้ อนาคตจะทำให้โรคระบาดของโรคใด ๆ ยังถูกกระจายไป มีแนวโน้มที่จะมีมากกว่า 30 จังหวัดทั่วประเทศ ผลผลิตจะลดลงต่อเนื่อง จากตอนนี้ไม่ทราบตัวเลขความเสียหายว่ามีมากน้อยแค่ไหน เพราะไม่ได้มีการรายงาน ข้อมูล ตัวเลขเลย”
ตอนนี้ภาคเอกชนและชาวไร่มันจะต้องแก้ไขและช่วยเหลือกันเอง ขณะนี้ได้มีการขยายท่อนพันธุ์สะอาด ซึ่งก็ต้องใช้ระยะเวลา 1 ปีกว่าจะสามารถแจกจ่ายให้กับเกษตรกรได้ ตอนนี้ทำได้แค่รอ คาดว่าปีหน้าถึงจะได้รับท่อนพันธุ์ไปแจกจ่ายให้กับเกษตรกรได้
ครึ่งปีแรกส่งออกแผ่ว
ตอนนี้ไม่ใช่เพียงปัญหาผลผลิตและพื้นที่การเพาะปลูกลดลง แต่ปัญหาการส่งออกมันสำปะหลังลดลงก็เป็นส่วนหนึ่ง โดยปริมาณการส่งออกมันเส้นและแป้งมันของไทยในปี 2567 ตั้งเป้าไว้ 4 ล้านตัน แต่ปัจจุบันพบว่าการส่งออกทำได้เพียงแค่ 2 ล้านตันเท่านั้น
และโดยปกติในช่วงไตรมาส 3 การส่งออกจะต้องอยู่ 75-80% แต่ตอนนี้ส่งออกได้เพียง 60% ของเป้าหมายทั้งหมด ขณะที่สินค้าแป้งมันก็เช่นกัน เรามีเป้าหมายส่งออก 4 ล้านตัน ปัจจุบันส่งออกได้เพียง 2 ล้านตันเท่านั้น
จีนแห่ปลูกมัน ผลิตเอทานอล
ตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่สำคัญของไทย อยู่ที่ประเทศจีน มีสัดส่วนเกิน 90% แต่ปัจจุบันพบว่าจีนได้มีการพัฒนาและยกระดับสินค้าเกษตร เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
ทั้งยังมีการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยตอนนี้โรงถ่านหินในจีนสามารถผลิตเอทานอล ที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นได้แล้ว ซึ่งทดแทนการนำเข้ามันเส้น ดังนั้น มันสำปะหลังที่นำเข้าจะไปอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเท่านั้น และที่สำคัญก็ต้องแข่งขันกับราคาข้าวโพดในจีนด้วย สะท้อนให้เห็นแล้วว่า มันสำปะหลังของไทยกำลังทำตลาดได้ลำบากขึ้น และหากจีนลดการนำเข้า ราคาข้าวโพดถูก จะยิ่งส่งผลกระทบทำให้ไทยส่งออกมันสำปะหลังยาก ตัวเลขส่งออกที่ไม่เติบโต
ราคามันสำปะหลัง “ดิ่ง”
สถานการณ์ราคามันสำปะหลังในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 หลังจากภาพการส่งออกชะลอตัวลง ราคาส่งออก F.O.B. เฉลี่ยที่ 235-240 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน 270-280 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งเมื่อคิดเป็นมันเส้นเฉลี่ย 7.00-8.00 บาทต่อ กก. ลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ราคา 8.00-8.50 บาท คิดทอนกลับมาเป็นราคาหัวมันสดเฉลี่ยที่ 2-3 บาทต่อกิโลกรัม ลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่เคยขายได้ 3.00-3.45 บาทต่อ กก. และยังเป็นราคาที่เกษตรกรเกือบจะขาดทุนจากต้นทุนการผลิตที่ 2.50 บาทต่อ กก.
อย่างไรก็ตาม จากนี้ยังคงต้องรอติดตามสถานการณ์ราคาในช่วงที่ผลผลิตออกเยอะในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งอาจจะมีผลทำให้ราคาลดลงไปอีก
ชาวไร่ปรับตัว ดันส่งออก
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สมาคมชาวไร่มันสำปะหลัง ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 55 จังหวัดทั่วประเทศ หรือประมาณ 7 แสนครัวเรือน ไม่ได้รอรับความช่วยเหลือจากรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ได้มีการส่งเสริมและพัฒนาปลูกมันสะอาดเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งทำตลาดด้วยตัวเอง
ล่าสุดผู้นำเข้ามันสำปะหลังจากมณฑลเจียงซูของจีน ได้ติดต่อและประสานงานจะนำเข้ามันเส้นของไทย ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการเข้ามาดูงาน และผลผลิตแล้ว ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) จะนำเข้ามันเส้น จากสมาคม ที่ต้องรวบรวมผลผลิตและส่งออก โดยได้ทำคำสั่งซื้อเข้ามาแล้ว 6 แสนตัน โดยคาดว่าจะสามารถทยอยส่งออกได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 นี้เป็นต้นไป
“การทำการค้าครั้งนี้มีลักษณะเหมือนการทำบาร์เตอร์เทรด เขารับซื้อมันสำปะหลังของไทย และไทยก็มีการเจรจาจะนำเข้ากลุ่มเครื่องยนต์ทางการเกษตรจากทางบริษัทจีนที่มีการประสานงานแล้ว เป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ในพื้นที่การเกษตร เพราะอนาคตต้องยอมรับว่า เรื่องคาร์บอนเครดิต หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการทำการส่งออกในอนาคต จะต้องไม่มีสิ่งปนเปื้อนเกิน 1% มันเส้นจะต้องสะอาดถึงจะมีการรับซื้อ แต่การันตีว่าเกษตรกรที่นำมาขายจะได้ราคาดีกว่าท้องตลาดแน่นอน ทำให้เกษตรกรไทยจะต้องคำนึงและให้ความสำคัญในเรื่องนี้”
“ตอนนี้ชาวไร่ไม่รอรัฐบาลหรือหน่วยงานของภาครัฐแล้ว เราพร้อมที่จะไปทำตลาดเองได้ เพราะเรามีใบอนุญาตจากหน่วยงานที่ดูแลถูกต้อง ไม่รอพ่อค้าคนกลางรับซื้อ ไม่ได้คาดหวังและรอรัฐบาล”
ปัญหาที่ผ่านมา ทั้งเรื่องของตลาด โรคใบด่าง ท่อนพันธุ์ขาดแคลน ยังไม่ได้รับการแก้ไข เอกชน ชาวไร่ต้องดูแลกันเอง เพราะไม่เพียงรัฐไม่ให้การสนับสนุนข้อเสนอที่พวกเราขอให้ส่งเสริมใช้มันสำปะหลังภายในประเทศ โดยขอให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ E20 เพราะจะมีความต้องการใช้มันสำปะหลังประมาณ 3 ล้านตัน แต่รัฐกลับส่งเสริมใช้เพียง E10 ซึ่งใช้มันสำปะหลังเพียง 1 ล้านตัน การใช้มันสำปะหลังลดลง ราคามันสำปะหลังจึงถูกกดราคา ส่งออกตอนนี้ก็เจอปัญหาอีก