
กระทรวงแรงงานสหรัฐขึ้นบัญชี TVPRA List สินค้าไทย 3 รายการ ปลาป่น-น้ำมันปลา-อาหารสัตว์ มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ พร้อมลดระดับประเมินแก้ปัญหาแรงงานของรัฐบาลไทยมาอยู่ในขั้นใช้ได้ระดับปานกลาง ด้าน รง.ปลาป่น-อาหารสัตว์วิ่งวุ่นขอพบ รมว.แรงงาน หารือขอแก้ข้อกล่าวหา
เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐ (DOL)ได้ออก รายงานการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดประจำปี 2567 (Findings on the World Forms of Child Labor หรือ TDA Report) โดยรายงานฉบับล่าสุดนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐ (DOL) ได้ปลด “สินค้ากุ้ง” ของประเทศไทยออกจาก บัญชีรายชื่อสินค้าที่เชื่อได้ว่าผลิตโดยการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ หรือ บัญชี TVPRA List และบัญชีรายชื่อสินค้าที่มีการใช้แรงงานเด็กบังคับหรือแรงงานเด็กขัดหนี้ หรือ EO List ประจำปี 2567
หลังจากที่ได้ประเมินร่วมกันแล้วเห็นว่า รัฐบาลไทย ภาคอุตสาหกรรม องค์กรประชาสังคม ได้ร่วมกันแก้ปัญหาแรงงานเด็ก แรงงานบังคับในภาคการผลิตสินค้ากุ้ง โดยการถอนสินค้ากุ้งออกจากบัญชี TVPRA List จะช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกกุ้งไทยมายังตลาดสหรัฐ
ทว่ารายงาน TDA Report ฉบับเดียวกันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐกลับเพิ่มรายการสินค้าไทยอีก 3 รายการ ซึ่งจัดอยู่ในหมวดสินค้าขั้นปลายน้ำที่มีส่วนประกอบจาก “ปลา” ที่ผลิตโดยการใช้แรงงานบังคับ ได้แก่ สินค้าปลาป่น, น้ำมันปลา และอาหารสัตว์ โดย สำนักกิจการแรงงานระหว่างประเทศ (ILAB) กระทรวงแรงงานสหรัฐ เชื่อว่า ปลาป่น-น้ำมันปลา-อาหารสัตว์ที่ผลิต-ส่งออกจากประเทศไทยนั้น มีการใช้ปัจจัยการผลิตที่ผลิตโดยใช้ แรงงานบังคับ โดยเฉพาะปลาที่ผลิตในไทย ซึ่งถูกเพิ่มเข้าไปในบัญชีรายชื่อ TVPRA List มาตั้งแต่ปี 2555 แล้ว
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมประเทศไทยได้รับการประเมินถึงการแก้ไขปัญหาทางด้านแรงงาน มีความก้าวหน้าอยู่ในระดับ “ปานกลาง” หรือ Moderate Advancement ในความพยายามที่จะขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็กในปี 2566 โดยในการประเมินระบุว่า แม้ประเทศไทยจะใช้ความพยายามอย่างเต็มที่แล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นไปตามเกณฑ์พื้นฐานของการคุ้มครองขั้นต่ำที่จะได้รับการประเมินให้อยู่ในระดับ “ก้าวหน้าอย่างมาก” หรือ Significant Advancement
ในเรื่องของการกำหนดอายุขั้นต่ำในการทำงานในประเทศไทยที่ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ประกอบกับกฎหมายไทยไม่ได้ให้การคุ้มครองแก่เด็กที่ทำงานเป็นแรงงานนอกระบบและแรงงานอิสระ และยังขาดการวิจัยและข้อมูลเกี่ยวกับความแพร่หลายของแรงงานเด็กในภาคส่วนที่มีความเสี่ยงสูงด้วย
งัด มรท. ไม่มีแรงงานเด็ก
นายอำนวย เอื้ออารีมิตร นายกสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย กล่าวว่า โรงงานปลาป่นไม่มีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ ตามที่ กระทรวงแรงงานสหรัฐ DOL กล่าวหา “อาจเป็นการเข้าใจผิด” ปัจจุบันโรงงานปลาป่นมีการใช้แรงงานน้อยมาก หรือไม่ถึง 20 คน เนื่องจากโรงงานก็ไม่ได้ผลิตเต็มกำลังการผลิตมาตั้งนานแล้ว โดยวัตถุดิบที่เข้าโรงงานปลาป่นเป็นปลา (ปลาเป็ด) ที่ได้มาจากเรือประมงพาณิชย์ ประมาณ 40% ที่เหลืออีก 60% มาจาก By-product อื่น ๆ
“ผมเข้าใจว่า ที่ปลาป่นเข้าไปอยู่ในบัญชี TVPRA List นั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจาก รายการปลา ที่ได้มาจากการทำประมงติดอยู่ในบัญชี TVPRA มาตั้งแต่ปี 2555 โดยปัจจุบันปลาก็ยังไม่ได้ถูกถอดออกจากบัญชีนี้ ปลาป่นถือเป็นสินค้าขั้นปลายน้ำของอุตสาหกรรมนี้ เมื่อต้นน้ำคือ การทำประมงพาณิชย์ ถูกกล่าวหาว่า มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานภาคบังคับ ทาง DOL จึงหันมาเล่นงานสินค้าปลายน้ำอย่างเราด้วย
ในประเด็นนี้เรากำลังหารือร่วมกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เพื่อจะได้ชี้แจงกับ DOL ว่า เราไม่มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และแรงงานขัดหนี้ เพื่อขอให้ DOL พิจารณาทบทวนรายชื่อสินค้าในบัญชี TVPRA ในการพิจารณาประเมินการทำงานของประเทศไทยครั้งต่อไป” นายอำนวยกล่าว
อย่างไรก็ตาม จะมีการหยิบยก มาตรฐานแรงงานไทย หรือ มรท.8001-2563 ตามข้อกำหนดความรับผิดชอบทางสังคมด้านแรงงานของธุรกิจ ของ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เข้ามาแก้ข้อกล่าวหาของ กระทรวงแรงงานสหรัฐ (DOL) ด้วย โดยใน มรท.8001-2563 ระบุเรื่องของการใช้แรงงานเด็กในข้อ 4.10 ไว้ว่า สถานประกอบกิจการต้องขจัดและไม่สนับสนุนการใช้แรงงานเด็กที่ผิดกฎหมาย
ส่วนกรณีที่มีการใช้แรงงานเด็กต้องคำนึงถึงเรื่องอายุขั้นต่ำสำหรับการจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กเข้าทำงาน เวลาการทำงาน ชั่วโมงการทำงานและเวลาพัก งานและสถานที่ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือศีลธรรมของลูกจ้าง และการจัดให้มีหลักฐาน เอกสารที่แสดงเกี่ยวกับการจ้าง
การบังคับใช้แรงงานในข้อ 4.3 สถานประกอบกิจการต้องดำเนินการไม่กระทำหรือสนับสนุนให้มีการบังคับใช้แรงงานในทุกรูปแบบ และไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้แรงงานผิดกฎหมาย “ปัจจุบันโรงงานผลิตปลาป่นต้องปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานไทยอยู่แล้ว และยังมีการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่แรงงานเป็นระยะ ๆ ด้วย ดังนั้น การใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ตามที่ถูกกล่าวหา จึงไม่น่าจะมีอย่างแน่นอน” นายอำนวยกล่าว
ขอเข้าพบ รมว.แรงงาน
ด้าน นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ กล่าวว่า สมาคมร่วมกับสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทยและผู้ประกอบการ จะทำหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อ “ขอเข้าพบ” เพื่อจะได้ติดตามสอบถามข้อเท็จจริงที่อุตสาหกรรมปลาป่น-อาหารสัตว์ ถูก กระทรวงแรงงานสหรัฐ DOL ขึ้นบัญชีรายชื่อสินค้าที่เชื่อได้ว่าผลิตโดยการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ หรือบัญชี TVPRA List ว่า เกิดจากสาเหตุใดและมีที่มาที่ไปอย่างไร จะได้หาแนวทางแก้ไขปัญหานี้ จะต้องหารือกับกระทรวงแรงงานก่อน
“เบื้องต้น กลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์ ไม่น่าจะเป็นสินค้าที่อยู่ในบัญชี TVPRA เพราะโรงงานอาหารสัตว์ในปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ และเครื่องจักรในการผลิต จำนวนแรงงานที่ใช้ในโรงงานมีน้อยลง แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ แทบไม่มี เราจึงเห็นว่า สินค้าอาหารสัตว์ ไม่น่าที่จะเข้าข่ายในกรณีนี้ แต่ถ้ามองในเรื่องของความเป็นไปได้ในเรื่องของแรงงานของกลุ่มโรงงานอาหารสัตว์ น่าจะเกิดจากวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตเป็นอาหารสัตว์ เช่น ปลาป่น
แต่สุดท้ายก็จะต้องมีการพูดคุยกันในประเด็นนี้ก่อน ปัจจุบันมีโรงงานอาหารสัตว์ในประเทศกว่า 100 โรงงาน วัตถุดิบที่ใช้นอกจากปลาป่นแล้วก็เป็นพืชไร่ประเภท ข้าวโพด กากถั่วเหลือง แต่ก็มีโอกาสที่จะเกี่ยวข้องกับ ปลาป่น ซึ่งอยู่ในเครือข่ายสินค้าประมง เราจะต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป” นายพรศิลป์กล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในปี 2560 กระทรวงแรงงานสหรัฐเคยประเมินการดำเนินการของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ให้อยู่ในระดับที่มีความก้าวหน้าอย่างมาก หรือ Significant Advancement และพยายามที่จะรักษาระดับนี้ไว้ แต่ก็ยังถูกขึ้นบัญชีรายชื่อสินค้า TVPRA List ไว้ 5 รายการ ได้แก่ อ้อย, เครื่องนุ่งห่ม, กุ้ง, ปลา และสื่อลามก
จนกระทั่งมาถึงปีนี้ (2567) สินค้ากุ้งของประเทศไทยพึ่งถูกถอดออกจากบัญชี TVPRA List เป็นรายการแรก แต่ DOL กลับเพิ่มรายชื่อสินค้าใหม่เข้ามาในบัญชี TVPRA List อีก 3 รายการ ได้แก่ ปลาป่น, น้ำมันปลา และอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นสินค้าขั้นปลายน้ำที่มีความเกี่ยวข้องกับสินค้าต้นน้ำอย่าง “ปลา” ที่ยังคงติดอยู่ในบัญชี TVPRA List อยู่
โดยความกังวลของภาคอุตสาหกรรมไทยก็คือ โอกาสที่จะส่งสินค้าเข้าสู่ตลาดสหรัฐ กับมีความเป็นไปได้ว่า ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ อาจถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในการทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางอัตราภาษีศุลกากร หรือ GSP ประจำปีของสหรัฐได้