RSPO นับถอยหลัง EUDR ถกปฏิรูปน้ำมันปาล์มยั่งยืน

RSPO จัดประชุมโต๊ะกลม “น้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน” ลุยขยายขอบเขตนวัตกรรม ผลักดันเชิงปฏิรูป-เชิงระบบ นับถอยหลัง 1 ม.ค. 68 มาตรการ EUDR ส่งเสริมการผลิตยั่งยืน – หนุนเป้าลดคาร์บอน 20% ปี 73

นายกฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ บริษัทโกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า RSPO จัดการประชุมโต๊ะกลมว่าด้วยน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน(Roundtable on Sustainable Palm Oil) ซึ่งต่อยอดจากผลงานที่สร้างการเปลี่ยนแปลงสำคัญมากว่าสองทศวรรษ ได้เรียกร้องความพยายามร่วมกันเพื่อขยายขอบเขตนวัตกรรมและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิรูปและเชิงระบบในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มยั่งยืน

โดย GGC ได้ทำงานร่วมกับ GIZ และ RSPO เพื่อสนับสนุนเกษตรกรปาล์มน้ำมันของเราในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เป้าหมายของเราคือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 20%ภายในปี 2573

และบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593พร้อมกับส่งเสริมการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)

ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2568 การร่วมมือกันนี้จะไม่เพียงลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตรกรรม แต่ยังเสริมสร้างความยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม และส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทยในตลาดโลก

Advertisment

นอกจากนี้ โครงการนี้จะพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมเกี่ยวกับการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับเกษตรกร และสร้างแปลงสาธิตเพื่อแสดงให้เห็นถึงแนวปฏิบัติทำการเกษตรคาร์บอนต่ำที่เหมาะสม ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา

การนำมาตรฐาน RSPO ไปดำเนินการช่วยหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสม (~2 ล้านเมตริกตัน CO2e) ซึ่งเทียบเท่ากับการขับขี่ยานพาหนะโดยสาร 468,864 คันตลอดทั้งปี

Advertisment

ในการลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ดร. ถาวร ทันใจ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้เกียรติเป็นสักขีพยาน และกล่าวในฐานะตัวแทนศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้ยกย่องบทบาทของ RSPO ในการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยผู้มีบทบาทสำคัญในภาคอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทย

ในช่วงห้าปีที่ผ่านมานับตั้งแต่การประชุมโต๊ะกลมครั้งล่าสุดที่จัดขึ้นในไทย ก็ได้มีการเสริมความแข็งแกร่งในฐานะผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่อันดับสามของโลก โดยในปัจจุบัน เกษตรกรรายย่อยกว่า 400,000 ครัวเรือนในประเทศไทยคิดเป็นพื้นที่ผลิตน้ำมันปาล์มถึง 85% ของพื้นที่ผลิตทั้งหมด ทั้งนี้ ประเทศไทยมีสัดส่วนของเกษตรกรรายย่อยอิสระที่เป็นผู้หญิงที่ได้รับการรับรองจาก RSPO สูงที่สุดในโลกถึง 42% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่ 28%

การเติบโตของการรับรอง RSPO ยังคงขับเคลื่อนการจัดหาและการบริโภคต่อเนื่อง ณ ปี 2566 พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่ได้รับการรับรองจาก RSPO มีพื้นที่ 5.2 ล้านเฮกตาร์ใน 23 ประเทศ ส่วนโรงงานระดับกลางน้ำและปลายน้ำที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานการรับรองห่วงโซ่อุปทาน (SCC) ของ RSPO มีจำนวน 6,907 แห่งทั่วโลก

การจัดหาน้ำมันปาล์มที่ผ่านการรับรอง CSPO มาถึงจุดสูงสุดใหม่ที่ 16.1 ล้านเมตริกตัน แสดงถึงการผลิตที่เติบโตขึ้น 4.3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่การบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรอง CSPO เพิ่มขึ้นเป็น 9.8 ล้านเมตริกตัน ที่แสดงถึงการใช้ผลิตภัณฑ์หลังการผลิต (downstream usage) ที่เพิ่มขึ้น 7.2% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา การเติบโตของการบริโภคได้รับการสนับสนุนจากกรอบความรับผิดชอบร่วมกัน (SR) ของ RSPO ซึ่งออกแบบมาเพื่อสนับสนุนสมาชิกด้านการรายงานการปฏิบัติตาม ตามที่กำหนดให้มีนโยบายและแผนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการให้คำมั่นว่าจะบรรลุเป้าหมายการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองในแต่ละปี

โดยผู้แปรรูปและผู้ค้า ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และผู้ค้าปลีกมากกว่าครึ่งบรรลุเป้าหมายการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรอง CSPO ในปี 2566 และเพื่อสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยอิสระ สมาชิก RSPO ในกลุ่มปลายน้ำได้ซื้อเครดิต ISH จำนวน 261,792 เครดิต มูลค่า 7.0 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 (เพิ่มขึ้นจากปี 2565จำนวน 1.53 ล้านเหรียญสหรัฐ) และมอบประโยชน์โดยตรงแก่กลุ่ม ISH ที่ได้รับการรับรอง 85 กลุ่ม

ผู้ประกอบการปลายน้ำจากประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มรายใหญ่อันดับสองของโลกมีบทบาทสำคัญในการประชุม RT2024 ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นโยบายที่เกิดขึ้นใหม่ในจีนได้กำหนดให้ผู้จัดหามุ่งสู่การจัดหาน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืน ส่งผลให้เกิดความต้องการผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนมากขึ้นในตลาดจีน

โดยในเดือนพฤศจิกายน Inner Mongolia Yili Industrial Group (Yili Group) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทผลิตภัณฑ์จากนมรายใหญ่ที่สุด 5อันดับแรกของโลก และ Yihai Kerry ซึ่งเป็นผู้ค้าปาล์มน้ำมันชั้นนำของจีน ได้เปิดตัวการจัดส่งน้ำมันปาล์มที่ได้รับรอง CSPO ของ RSPO ครั้งแรกในประเทศ ซึ่งในล็อตแรกประกอบด้วยน้ำมันปาล์มที่ได้รับรอง CSPO จำนวน 750 ตันที่ผ่านการรับรองภายใต้โมเดลห่วงโซ่อุปทาน Identity Preserved (IP) ซึ่งรักษาแหล่งที่มาที่ผ่านรับรองซึ่งสามารถระบุได้เพียงแหล่งเดียว ซึ่งถูกแยกออกจากน้ำมันปาล์มทั่วไปตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน

เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นในการจัดหาน้ำมันปาล์มที่ได้รับการรับรอง CSPO สู่ประเทศจีนเพิ่มเติม ในการประชุม RT2024 ทาง Yili Group ได้ลงนามในข้อตกลงการจัดหาอย่างยั่งยืนเพิ่มเติม กับ Yihai Kerry และผู้ค้าระหว่างประเทศรายใหญ่อีกสองราย คือ Bunge และ Cargill เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นในการสร้างห่วงโซ่มูลค่าสีเขียวระดับโลกให้แก่น้ำมันปาล์ม