
จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กำหนดจะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ร่วมกัน ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา
ประกอบไปด้วย กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันวางกรอบการดำเนินงาน แผนการศึกษา รูปแบบความเป็นไปได้ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รวมถึงการร่างกฎหมายขึ้นมาควบคุมดูแลให้ครบทุกด้านนั้น
นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการ กกพ. กล่าวว่า ล่าสุดการเซ็นเอ็มโอยูจะเลื่อนออกไปเป็นช่วงเดือนธันวาคม 2567 แทน ซึ่งทาง กกพ. ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านกิจการพลังงาน ยังคงเตรียมความพร้อมในด้านนโยบายร่วมกับสำนักงานปรมาณูฯ
ในด้านแผนการจัดการ นโยบายต่าง ๆ ให้สอดรับกับแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติ (PDP) ฉบับปรับปรุงใหม่ ปี 2024 ซึ่งกำหนดจัดทำเสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ รวมถึงประเด็นสำคัญที่จะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับภาคประชาชนให้ได้มากที่สุด
สำหรับประเทศไทยในแผน PDP 2024 ได้กำหนดเรื่องของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ในช่วงปลายแผน คือ ปี 2580 โดยกำหนดให้มีในสัดส่วนที่ 1% ของพลังงานสะอาด (51%) แล้ว ในอนาคตไทยจะต้องมีไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดเกิดขึ้นแน่นอน
ซึ่งไทยเหมาะที่จะเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ Small Modular Reactor (SMR) ที่มีกำลังการผลิตไม่เกิน 300 เมกะวัตต์ เนื่องจากมีต้นทุนการก่อสร้างที่ต่ำ ใช้พื้นที่เล็ก และเครื่องปฏิกรณ์ที่นำมาใช้ในกระบวนการจะมาในรูปแบบสำเร็จรูป ซึ่งจะมีความปลอดภัยมากกว่านำมาก่อสร้างเอง
ในขณะที่เชื้อเพลิงหลัก คือ แร่ยูเรเนียม ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีแร่ดังกล่าว สามารถนำเข้าได้จากหลายประเทศ เช่น มองโกเลีย ยูเครน ออสเตรเลีย สำหรับข้อกังวลมีเพียงเรื่องเดียว คือ ความรู้และความเข้าใจของประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่มักใช้เรื่องราวความเสียหายจากในอดีตมาเป็นตัวตัดสินว่าควรเกิดหรือไม่เกิด
แหล่งข่าวในธุรกิจพลังงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) เป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับไทย แต่มีความน่าสนใจ เพราะสามารถทำให้พลังงานของประเทศราคาถูกลงได้ อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูความชัดเจนของกรอบระเบียบและเทคโนโลยีที่ไทยจะนำมาใช้ด้วย แต่ส่วนใหญ่ก็จะมีการศึกษาต้นแบบจากประเทศจีน แคนาดา และยุโรป
แหล่งข่าวกล่าวว่า หากประเทศไทยจะเริ่มนับหนึ่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะต้องศึกษาและคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม ทั้งสภาพแวดล้อม สังคม ชุมชน เช่น พื้นที่ห่างไกลหรือเกาะ แม้จะมีราคาต้นทุน (Cost) ที่พุ่งสูงขึ้น แต่ก็มีความปลอดภัยสูง หรือในเขตพื้นที่ทางทหาร น่าจะมีความมั่นคงสูงและควบคุมได้ง่าย
นอกจากนี้ นิคมอุตสาหกรรมยังเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจ เนื่องจากมีการใช้พลังงานมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ อาจจะสร้างนิคมนิวเคลียร์คู่ขนานกับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีระบบความปลอดภัย อยู่ในวงจำกัด ไม่กระทบกับคนหมู่มาก
ขณะเดียวกันพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่โล่งกว้างพอสมควร สามารถสร้างขอบเขตความปลอดภัยห่างไกลจากชุมชนได้พอสมควร ซึ่งในช่วงปี 2554-2573 มีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรง โดยได้เลือกพื้นที่เหมาะสม 5 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี นครสวรรค์ ตราด สุราษฎร์ธานี ชุมพร ซึ่งอุบลราชธานีถูกเลือกเป็นอันดับหนึ่ง
โดยพิจารณาจากด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม และการประเมินต้นทุนก่อสร้างของโรงไฟฟ้า เนื่องจากมีเขื่อนสิรินธรที่ผลิตกระแสไฟฟ้าและเป็นโรงไฟฟ้าหล่อเย็น แต่เกิดเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะระเบิด ทำให้ไทยต้องชะลอแผนดังกล่าวออกไป
ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นของ SMR ในไทยอาจจะเริ่มจากขนาดเล็ก 50-200 เมกะวัตต์ก่อน เพื่อให้ประชาชนเห็นผลลัพธ์หรือ Feedback ต่าง ๆ ว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะทำให้ได้พลังงานสะอาด มีต้นทุนต่ำ นำมาซึ่งการใช้งานเพื่อให้ประเทศไทยมุ่งสู้เป้าหมายลดโลกร้อนและ Net Zero อย่างจริงจัง
ผู้สื่อข่าวรายงานการแสดงความคิดเห็นในสังคมออนไลน์ผ่านเพจ Prachachat-ประชาชาติ จำนวนมาก ทั้งกดไลก์ คอมเมนต์ และแชร์ รวมกันไม่ต่ำกว่า 3,000 ครั้ง เข้าถึงโพสต์มากกว่า 80,000 แอ็กเคานต์ โดยมีความคิดเห็นที่หลากหลายทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง
ส่วนที่เห็นด้วยระบุว่า สนับสนุนให้รัฐบาลเดินหน้าทันทีเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานที่กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนอย่างมาก ขณะที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยตั้งคำถามในเชิงปฏิบัติ โดยเฉพาะเรื่องพื้นที่ก่อสร้าง ขนาดโรงงานไฟฟ้า ระบบการจัดการ ความปลอดภัย และการเอื้อผลประโยชน์ให้กับพวกพ้องหรือการคอร์รัปชั่น